ชื่อไทย                  งิ้วป่า (-)

ชื่อท้องถิ่น             ง้าว ง้าวป่า นุ่นป่า (ภาคกลาง) งิ้วดอกขาว งิ้วป่าดอกขาว งิ้วผา (ภาคเหนือ) ไกร่(เชียงใหม่)

ชื่อวิทยาศาสตร์     Bombax anceps Pierre

วงศ์                      MALVACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลักษณะทั่วไป ไม้ต้น เนื้ออ่อน ขนาดกลางถึงใหญ่ สูงได้ถึง 30 เมตร ผลัดใบ เรือนยอดโปร่ง กิ่งก้านมีหนามแหลม ลำต้นเปลาตรง เปลือกนอกน้ำตาลเทา เรียบ มีน้ำแข็ง เปลือกในสีขาว มีริ้วสีชมพูตามยาว กระพี้สีขาว มีขนสั้นนุ่มตามกิ่ง กลีบเลี้ยง และกลีบดอก

ลักษณะใบ ใบประกอบรูปฝ่ามือ มีใบย่อย 5 – 7 ใบ เรียงเวียนสลับ ใบย่อยรูปรี รูปไข่กลับ หรือรูปขอบขนาน ขนาดไม่เท่ากัน กว้าง 4 – 7 เซนติเมตร ยาว 8 – 28 เซนติเมตร โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ ปลายใบเรียวแหลม หรือมีติ่งแหลม แผ่นใบด้านบนมีสีเขียวเป็นมัน ด้านล่างเกลี้ยงหรือมีขนสั้นนุ่ม

ลักษณะดอก ดอกเดี่ยว หรือช่อกระจุกสั้นๆ ออกกระจายทั่วเรือนยอดที่กำลังผลัดใบ ดอกสีขาวครีมอมเขียว หรือชมพูอ่อน กลีบเลี้ยงรูประฆังแคบ ยาว 3 – 5 เซนติเมตร ปลายจักตื้นๆ 3 – 5 แฉก ขนาดไม่เท่ากัน กลีบดอก รูปไข่กลับ หรือแกมรูปขอบขนาน ยาว 4 – 7 เซนติเมตร เกสรเพศผู้ยาว 6 – 7 เซนติเมตร มี 5 มัด เชื่อมติดกัน เกสรเพศเมียสีม่วงอ่อน ยืดยาวเหนือวงเกสรเพศผู้

ลักษณะผล ผลแห้งแก่แล้วแตกตามรอยประสาน รูปขอบขนาน โค้งเล็กน้อย ยาว 10 – 18  เซนติเมตร มีสันตื้นๆ 5 สัน 

ระยะการออกดอกติดผล

ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ – เดือนมีนาคม ติดผลระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – เดือนเมษายน

เขตการกระจายพันธุ์

พบในประเทศจีนตอนใต้ พม่า กัมพูชา ในประเทศไทยพบแทบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าเต็งรัง โดยเฉพาะบนเขาหินปูน ความสูงถึงประมาณ 1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล

การใช้ประโยชน์           

เนื้อไม้: ทำเรือขุด ทำหีบ ลังสำหรับใส่ของ ทำไม้จิ้มฟัน ก้านและกลักไม้ขีด หรือทำเยื่อกระดาษ

ดอกและผลอ่อน:  นำมาลวกจิ้มน้ำพริก รับประทานได้

แหล่งข้อมูล: สำนักงานหอพรรณไม้ – กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช


[qrcode url=”https://adeq.or.th/qr/0009″ margin=”10″ size=”150″ after=”ต้นงิ้วป่า”]