ชื่อไทย ประดู่บ้าน (Angsana)
ชื่อท้องถิ่น ดู่บ้าน (ภาคเหนือ) ประดู่กิ่งอ่อน ประดู่ลาย (ภาคกลาง) ประดู่เหลือง ประดู่อังสนา
ชื่อวิทยาศาสตร์ Pterocarpus indicus Willd.
วงศ์ FABACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้น ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 10 – 20 เมตร ผลัดใบ เรือนยอดกลม หรือแผ่กว้าง กิ่งทอดย้อยลงต่ำ เปลือกนอกสีน้ำตาล แตกเป็นร่องตามยาวและหลุดล่อนเป็นแผ่นบาง
ลักษณะใบ ใบประกอบขนนกชั้นเดียว ปลายใบคี่ เรียงสลับ ใบย่อยรูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง 4 – 5 เซนติเมตร ยาว 6 – 10 เซนติเมตร เรียงสลับ โคนใบมนกว้าง ขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย ปลายใบแหลมเป็นติ่งทู่ แผ่นใบบางแต่ค่อนข้างเหนียวและย่นเป็นลอน สีเขียวสดเป็นมัน
ลักษณะดอก ช่อกระจะ ออกที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกย่อยสีเหลือง คล้ายรูปดอกถั่ว เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 1 – 1.5 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ขอบหยักซี่ฟันตื้นๆ 5 จัก มีขนสั้นๆ กลีบดอก 5 กลีบ บางยับย่น เมื่อใกล้โรยเป็นสีเหลืองอมน้ำตาล เกสรเพศผู้ 10 อัน ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ
ลักษณะผล ผลแห้งมีปีกเดียว ทรงกลม แบน ปีกหยักเป็นคลื่นล้อมรอบ เส้นผ่านศูนย์กลางรวมปีก 3.5 – 6 เซนติเมตร มีกระเปราะรูปรีนูนเด่นอยู่ตรงกลาง สีเขียวสด เมื่อแก่สีน้าตาล เมล็ดสีน้ำตาลเข้ม รูปรี มี 1 – 2 เมล็ดต่อฝัก
ระยะการออกดอกติดผล
ออกดอกเดือนมีนาคม – เดือนพฤษภาคมติดผลเดือนเมษายน – เดือนกรกฎาคม
เขตการกระจายพันธุ์
มีถิ่นกำเนิดมาจากแถบเอเชียเขตร้อนและประเทศมาเลเซีย ปัจจุบันพบนำมาปลูกเลี้ยงทั่วไป
การใช้ประโยชน์
เนื้อไม้: ใช้แปรรูปเป็นเครื่องประดับตกแต่งบ้าน เครื่องดนตรี ก่อสร้างทุกชนิด มีสรรพคุณแก้พิษไข้ กล่อมโลหิต บำรุงโลหิต คุมธาตุ
แก่นไม้: มีสีแดง ใช้ย้อมผ้า
ใบและดอก: ทำให้ฝีสุกเร็ว แก้ผดผื่นคัน น้ำคั้นจากใบใช้สระผม
รากและยาง: แก้ปากเปื่อย ปากแตก แก้ท้องเสีย แก้โรคบิด
แหล่งข้อมูล: สำนักงานหอพรรณไม้ – กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช
[qrcode url=”https://adeq.or.th/qr/0014″ margin=”10″ size=”150″ after=”ต้นประดู่บ้าน”]