บ้านประหยัดพลังงาน

     การจะสร้างหรือซื้อบ้านสำเร็จรูปสักหลังหนึ่งให้ได้ดังใจในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้โดยง่าย เพราะนอกจากเจ้าของบ้านหรือผู้ซื้อจะต้องคำนึงถึงงบประมาณในกระเป๋าตัวเองและคอยระวังไม่ให้บานปลาย และตั้งอกตั้งใจเลือกทำเลที่ตั้งบ้านให้รอบคอบที่สุดแล้วยังต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นตามมาภายหลังจากที่ได้ เข้าอยู่อาศัยในบ้านหลังนี้แล้วซึ่งค่าใช้จ่ายนี้มักเป็นค่าใช้จ่ายที่เจ้าของจำเป็นต้องจ่ายเพื่อทำให้บ้านตัวเองเป็นที่พักพิงทั้งใจและกายอย่างแท้จริง ดังจะเห็นได้จากเครื่องอำนวยความสะดวกหลายชนิดหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดต่างๆ เช่น เครื่องปรับอากาศ พัดลม หลอดไฟฟ้าแสงสว่าง โทรทัศน์ ตู้เย็น ฯลฯ ที่เจ้าของบ้านมักซื้อหาเข้าบ้าน เพื่อทำให้สิ่งแวดล้อมภายในบ้านมีความน่าสบายตามที่ตนเองคาดหวังไว้ และแน่นอนว่า เมื่อมีการใช้เครื่องอำนวยความสะดวกเหล่านี้ สิ่งที่จะหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย คือ เจ้าของบ้านจะต้องแบกภาระค่าไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นตามจำนวนขนาดและความถี่ในการใช้เครื่องอำนวยความสุขสบายเหล่านี้ ในขณะที่ประเทศก็จะต้องรับภาระในการจัดหาไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นจากการจัดหาไฟฟ้าและพลังงาน

     เพื่อให้การอยู่อาศัยในบ้าน เป็นการอยู่อาศัยที่สุขสบายทั้งกายและใจ อีกทั้งเป็นการอยู่อาศัย ที่ไม่สร้างภาระให้ประเทศชาติในแง่ของการจัดหาพลังงานและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หลังจากที่เจ้าของบ้านหรือผู้ซื้อบ้านสามารถหาทำเลที่ตั้งของบ้านตัวเองให้สามารถรอดพ้นจากปัญหาสิ่งกวนใจดังกล่าวข้างต้นแล้ว ควรจะต้องคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้ด้วย

  1. องค์ประกอบสำคัญของการใช้พลังงานในอาคาร
  2. สภาพแวดล้อมกับความสุขสบายภายในบ้านและอาคาร
  3. การจัดวางตัวอาคาร
  4. การจัดพื้นที่ใช้สอย
  5. รูปทรงของอาคาร
  6. องค์ประกอบของอาคารและวัสดุที่ควรเลือกใช้
  7. แสงสว่างจากธรรมชาติ
  8. การใช้ประโยชน์จากต้นไม้

บ้านไทย ภูมิปัญญาของคนไทย

ตัวอย่างบ้านทรงไทย โครงสร้างบ้านทรงไทย

เรือนไทยเป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่เกิดจากภูมิปัญญาของคนไทยตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ โดยมีแนวคิดในการแบ่งพื้นที่ใช้สอยตามลักษณะความเป็นอยู่และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นแนวคิดที่เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับวิถีชีวิตและสภาพแวดล้อมในปัจจุบันได้ไม่ยาก ลักษณะทั่วไปของเรือนไทยมีดังนี้

จุดเด่นของบ้านไทย

เป็นบ้านไม้

     เนื่องจากในอดีตเมืองไทยยังอุดมด้วยป่าไม้และไม้เป็นวัสดุที่ไม่เป็นตัวนำความร้อนรวมทั้งไม่เก็บสะ สมความร้อน ทำให้สามารถลดความร้อนในตอนกลางวันและไม่เพิ่มความร้อนในเวลากลางคืน

ยกใต้ถุนสูง

     เนื่องจากในช่วงฤดูฝนมักมีน้ำท่วมเกิดเป็นประจำทุกปี เพื่อป้องกันน้ำท่วมบ้าน จึงได้ออกแบบบ้าน ให้มีใต้ถุนสูงประมาณ 2–2.50 เมตร โครงสร้างไม้ส่วนล่างของบ้านจะได้ไม่ผุง่าย และลมยังสามารถพัดผ่าน ใต้อาคารได้โดยสะดวก จึงช่วยถ่ายเทความร้อนและความชื้นภายในบ้านได้เป็นอย่างดี และอีกสาเหตุหนึ่งที่ต้องยกอาคารสูงจากพื้นดินก็เพื่อให้ปลอดภัยจากสัตว์ร้ายในเวลากลางคืน นอกจากนี้บริเวณใต้ถุนอาคารยังสามารถใช้งานได้ในฤดูร้อนและฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงฤดูว่างจากการเพาะปลูก มักใช้ทำงานหัตถกรรมหรืออุตสาหกรรมในครัวเรือน เช่น ทอผ้า ปั้นหม้อ จักสาน

หลังคาทรงสูง

     รูปทรงของหลังคาที่นิยมคือทรงจั่วและทรงมนิลา ส่วนโครงสร้างเป็นไม้เนื้อแข็ง มุงด้วยวัสดุประเภทจาก แฝก หรือกระเบื้องดินเผา หลังคาทรงสูงมีความชันค่อนข้างมาก จึงไม่ค่อยรั่วซึม และยังช่วย บรรเทาความร้อนที่สะสมอยู่ภายในหลังคา เพราะความสูงของหลังคา ช่วยให้ลมพัดพาความร้อนใต้หลังคาออกจากตัวเรือนได้ดีกว่าหลังคาที่มีลักษณะแบนราบ ก่อนที่จะถ่ายเทลงสู่ส่วนล่างซึ่งเป็นพื้นที่ใช้สอย

ชายคายื่นยาว

     จากสภาพดินฟ้าอากาศของประเทศไทย โดยเฉพาะภาคกลางที่มีแดดจัด ฝนชุก จึงจำเป็นต้องต่อชายคาให้ยื่นยาวเพื่อกันแดดและฝนสาดเข้ามาภายในบ้าน และมีค้ำยันเป็นส่วนหนึ่งของชายคาด้วยเสมอ เพื่อช่วยรับน้ำหนักจากชายคาที่ยื่นยาวไปยังเสาบ้าน

อาคารด้านยาวอยู่ในตำแหน่งรับลมจากทิศเหนือและใต้

     ด้วยสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยที่ลมประจำ จะพัดมาจากทางด้านทิศใต้ จึงนิยมวางลักษณะตัวอาคารโดยให้ด้านแคบของอาคารหันไปทางด้านทิศตะวันตก และ ทิศตะวันออกเพื่อให้มีพื้นที่รับแสงจากดวงอาทิตย์น้อยที่สุด และให้ด้านยาวของอาคารหันไปทางทิศเหนือ และทิศใต้เพื่อรับลม บ้านจึงเกิดความเย็นสบายตลอดทั้งปี

เสาและผนังล้มสอบ

     เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในเขตมรสุมซึ่งมีลมพายุฝนอยู่เป็นประจำเสาและผนังของเรือนไทยจึงมี ลักษณะล้มสอบเข้าภายใน เพื่อเพิ่มความมั่นคงแข็งแรงให้กับตัวอาคาร

การจัดเรือนพักอาศัย

     นิยมแยกเรือนพักอาศัยออกเป็นหลังตามการใช้งานเพื่อความเป็นสัดเป็นส่วน เช่น เรือนนอน เรือนครัวโดยมีชานหรือทางเดินเชื่อมพื้นที่ใช้งานในแต่ละส่วนเข้าหากันซึ่งเห็นได้ชัดจากรูปแบบของเรือนไทยภาคกลาง ประกอบกับสภาพภูมิอากาศร้อนชื้น เรือนแต่ละหลังจึงต้องมีหน้าต่างและช่องลมโดยรอบ เพื่อการระบายอากาศและลดความอับชื้นในห้องต่างๆ นอกจากนี้การแยกอาคารเป็นหลังยังสามารถต่อเติมได้ง่ายเพราะครอบครัวไทยสมัยก่อนนิยมอยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่

ชานเอนกประสงค์

     ชานเป็นพื้นที่ส่วนกลางของบ้านทำหน้าที่เชื่อมเรือนแต่ละหลังเข้าด้วยกันโดยพื้นที่ชานจะมีขนาดไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั้งหมด จุดประสงค์ก็เพื่อการระบายอากาศระหว่างอาคาร เนื่องจากเป็นส่วนที่ ไม่มีหลังคา จึงต้องปูไม้พื้นให้มีระยะห่างพอให้น้ำไหลลงข้างล่างได้ บริเวณชานเป็นที่ตั้งของไม้กระถางหรือ อ่างบัวซึ่งเป็นวิธีการยกสวนขึ้นมาใกล้ตัวผู้อยู่อาศัยเพราะบ้านไม่มีการยกพื้นสูงห่างจากต้นไม้ที่ปลูกบนดินโดยรอบ ส่วนบริเวณขอบชานมีรั้วไม้โปร่งโดยรอบเพื่อป้องกันการบุกรุก

หน้าต่างมีความยาวมากกว่าปกติ

      เนื่องจากมีหลังคาทรงสูงและชายคายื่นยาว หน้าต่างเรือนไทยจึงมีขนาดความยาวมากว่าปกติทั้งนี้ เพื่อให้สามารถมีช่องเปิดเลยมุมบังของชายคา และสามารถใช้ประโยชน์ด้านแสงสว่างจากแสงแดดได้เต็มที่

มีอาณาเขตบริเวณกว้างขวางและมีการปลูกต้นไม้ใหญ่น้อยไว้ร่มครึ้มโดยรอบ

      เนื่องจากไม่มีข้อจำกัดทางด้านที่ดิน ในอดีต การปลูกเรือนไทยจึงมักปลูกในพื้นที่ที่มีอาณาเขตกว้างขวาง โดยนิยมปลูกไม้ไทยหรือไม้หอมไว้โดยรอบ

houseorient

แนวคิดในการออกแบบสภาพแวดล้อมและองค์ประกอบบ้าน

  • วางอาคารตามตะวันและขวางลม
  • ผังของบ้านจะมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า วางแนวยาวตามทิศตะวันออกและตะวันตก
  • จัดห้องที่เป็นส่วนปะทะความร้อนให้แก่ภายในบ้าน เช่น ห้องน้ำ ไว้ทิศตะวันออก-ตก
  • ออกแบบให้ชานบ้านหรือพื้นที่เอนกประสงค์ซึ่งเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมร่วมกันของครอบครัวให้เป็นพื้นที่กึ่งเปิด โล่งที่มีลมพัดผ่านได้ดี
  • เลือกความชันของหลังคาเป็นมุม 45 องศาเพื่อลดการแผ่รังสีความร้อนลงสู่ฝ้าเพดาน
  • ชายคายื่นยาวเพื่อให้ร่มเงาแก่ช่องเปิดทิศเหนือใต้
  • ออกแบบช่องระบายอากาศหน้าจั่วหลังคาเพื่อระบายอากาศร้อนใต้หลังคาและภายในบ้าน โดยเฉพาะใช้ประโยชน์จากความสูงบริเวณโถงบันไดถึงใต้หลังคาที่มีความแตกต่างของอุณหภูมิทำให้เกิดการระบายอากาศ เนื่องจาก Stack Effect ในกรณีที่ไม่มีลมพัดผ่าน
  • จำกัดช่องเปิดทางทิศตะวันออก ตะวันตก ซึ่งเป็นด้านที่รับรังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์สูง
  • ออกแบบให้มีการบังเงาให้แก่ผนังทึบ โดยเฉพาะด้านทิศตะวันตก
  • การนำความเย็นจากดินมาใช้โดยการถมดินใต้พื้นชั้นล่าง
  • การยกใต้ถุนสูงช่วยเพิ่มความเร็วลมเข้าสู่ตัวบ้าน
  • เพิ่มช่องแสงเหนือหน้าต่างชั้นล่าง เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากแสงธรรมชาติมากที่สุด เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการใช้งานในช่วงเวลากลางวัน
  • ช่องเปิดที่เป็นหน้าต่างสูงจากพื้น 40 เมตร เพื่อให้ลมพัดผ่านตัวคนมากที่สุด ระดับ 0.40 เมตรเป็นระดับความสูงของเก้าอี้นั่งและเตียงนอน ช่องเปิดทางทิศเหนือ ลูกฟักของบานเปิดจะเป็นกระจกได้ทั้งบาน ตั้งแต่ระดับสูงจากพื้น 0.40 เมตร ส่วนช่องเปิดทางด้านทิศใต้ แบ่งบานเปิดแยกย่อยใน 1 บานเพื่อให้บานล่างที่ระดับ 0.40-0.80 เมตร ซึ่งเป็นลูกฟักไม้แยกปิดเปิดได้ เป็นทางเลือกในกรณีที่แสงแดดทางทิศใต้ส่องเข้ามาเป็นมุมต่ำ
  • ยกระดับฝ้าเพดานห้องเพื่อกักความร้อนและระบายออกทางช่องเปิด
  • เลือกใช้วัสดุภายในที่มีมวลน้อยและมีผิวสีอ่อน เลือกใช้วัสดุภายนอกที่มีผิวสีอ่อนหรือผิวมันและมีค่าความจุความร้อนต่ำ รวมทั้งการบุฉนวนที่ใต้หลังคา