การใช้พลังงาน  การบริโภค  การเดินทาง  การผลิตทั้งภาคอุตสาหกรรม และเกษตรกรรม รวมทั้งการปนเปื้อนต่อแหล่งน้ำ ทรัพยากรดิน และอากาศ  ได้ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงปริมาณการไหลเวียนของสารประกอบคาร์บอนมอนนอกไซด์ในระบบนิเวศ โดยเฉพาะการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่ชั้นบรรยากาศ และการลดขีดความสามารถในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ กลับสู่การสะสมในระบบนิเวศ นอกจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว กิจกรรมต่างๆข้างต้น ยังปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์  มีเทน  ออกไซด์ของไนโตรเจน  และกำมะถัน รวมทั้งฝุ่นละออง ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ เป็นเหตุให้มีการสะสมของก๊าซเหล่านี้เป็นปริมาณมาก ติดต่อกัน จนเกิดภาวะเรือนกระจกที่มีการกักเก็บความร้อนที่ผิวโลก เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ เกิดการเปลี่ยนแปลงภาวะอากาศ และอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงขึ้น  โดยเฉพาะนับ แต่ภายหลังที่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ผ่านมา  การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ในช่วงสองทศวรรษล่าสุด ที่มีปริมาณก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นจาก  278 ส่วนในล้านส่วน ในช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม เป็น  380 ส่วนในล้านส่วน ในปี  2004 เป็นผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงขึ้น  0.7 องศาเซลเซียส ในช่วงเวลาเดียวกัน

      การเปลี่ยนแปลงภาวะอากาศ ได้เกิดขึ้นให้สัมผัสได้ด้วยหลากหลายลักษณะ  ชาวคานาดาได้พบว่าน้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือลดลง  เมืองและชุมชนหนาแน่นในแถบลาตินอเมริกา และเอเชียใต้ต้องประสบพายุฝน และภาวะน้ำท่วมรุนแรง ชาวยุโรปพบว่าธารน้ำแข็งที่คงอยู่หลายพื้นที่เริ่มละลายและหดตัว  มีไฟป่าเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และเกิดคลื่นอากาศร้อน

     จากการศึกษาวงปี ปะการัง และฟองอากาศในชั้นน้ำแข็งของนักวิทยาศาสตร์พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่ยืนยันการเปลี่ยนแปลงภารวะอากาศในหลายทศวรรษที่ผ่านมา  และยังพบว่าโลกได้ประสบภาวะอากาศร้อนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในช่วงเวลาเป็นล้านปี ปีที่อากาศร้อนเป็นประวัติการณ์สามปีเกิดขึ้นนับแต่ปี 1989 เป็นต้นมา และภาวะอากาศร้อนที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วก็เกิดขึ้นในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมานี้เอง  ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ด้านภาวะอากาศได้รายงานต่อสหประชาชาติว่า  มนุษย์ได้ประสบกับภาวะอากาศร้อนที่เกิดจากกิจกรรมการผลิต และการบริโภคของตนเอง

   ถ้าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ยังคงเกิดขึ้นต่อไป ด้วยอัตราที่เพิ่มมากขึ้น ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้  จะส่งผลให้อุณหภูมิของอากาศทั่วโลกสูงขึ้น  2  ถึง  5  องศาเซลเซียส  แสดงถึงภาวะอากาศร้อนขึ้น จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน  แต่ระดับของผลกระทบต่อระบบนิเวศต่างๆ อาจจะแตกต่างกัน นับแต่การละลายของน้ำแข็ง  อุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้น  การกลายเป็นไอที่เพิ่มมากขึ้น  การเปลี่ยนแปลงต่อภาวะทางการเกษตร และการแพร่ระบาดของโรคหลายชนิด

     นักวิทยาศาสตร์ยังวิตกกังวลด้วยว่าเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น  จะส่งผลต่อการละลายของน้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือ และขั้วโลกใต้ และจะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ในระเวลาอันใกล้นี้

     ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง  7  พันล้านตัน ถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศ ขณะที่  ป่าไม้  และทะเลสามารถดูดซับก๊าซกลับคืนมาได้เพียงครั้งหนึ่งเท่านั้น ที่เหลือก็จะสะสมในชั้นบรรยากาศ และทำให้ปริมาณก๊าซนี้ในชั้นบรรยากาศเพิ่มสูงขึ้น ปริมาณการสะสมได้เพิ่มขึ้นสองเท่า ของปริมาณที่เคยเกิดขึ้นนับแต่ปี 2001 เป็นต้นมา แสดงถึงขีดความสามารถในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของธรรมชาติได้ถึงขีดจำกัดแล้ว

     การประชุมระดับโลกที่ประเทศบราซิลได้ตกลงร่วมกันที่จะลดอัตราจากการเปลี่ยนแปลงภาวะอากาศ ด้วยการจัดทำอนุสัญญาเกียวโต ในปี 1997 ที่จะมีผลบังคับตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ 2005 เป็นต้นไป ที่จะให้ประเทศอุตสาหกรรมลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลงมาได้เพียงเล็กน้อย  ขณะที่สถานการณ์ในปัจจุบัน ยังเป็นเงื่อนไขที่จะต้องมีการลดการใช้พลังงานและปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในทุกประเทศ ทั้งที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา ให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะวิกฤตจากการเปลี่ยนแปลงภาวะอากาศทั่วโลก

     ถ้ารถยนต์ถูกใช้งานตลอดทั้งปี จะมีระยะการเดินทางเฉลี่ยที่ 25,000 กิโลเมตร และถ้ารถยนต์คันนี้ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงหนึ่งลิตรได้ระยะทางเฉลี่ย 8.3 กิโลเมตรตลอดทั้งปี จะต้องใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 3,000 ลิตร แต่ละลิตรของน้ำมันเชื้อเพลิงที่ถูกใช้ไป จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  2.5 กิโลกรัม การใช้รถยนต์คันนี้จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตลอดปี 7,500 กิโลกรัม  การดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ของต้นไม้ตลอดทั้งปีเท่ากับ  9 กิโลกรัมต่อต้น  จะต้องปลูกต้นไม้ขึ้นมาใหม่เพื่อดูดซับก๊าซที่เกิดเพิ่มขึ้นจากการใช้รถยนต์ตลอดปี  833  ต้น  และถ้าต้นไม้ที่ปลูกแต่ละต้นมีอายุยืนยาวถึง 40 ปี  จำนวนต้นไม้ที่ปลูกเพื่อลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเดินทางและใช้รถยนต์คันนี้ จะเหลือเพียง  21 ต้น แล้วยังมีการปล่อยก๊าซจากการใช้ไฟฟ้า  น้ำ และวัสดุอื่นๆ อีกมาก ที่จะต้องหาทางช่วยกันลด และป้องกันผลกระทบต่อภาวะอากาศรอบตัวเรา

     แล้วเราควรจะเริ่มที่การปลูกต้นไม้ หรือการลดการเดินทางให้น้อยลง ถ้าลดไม่ได้  ก็ลดปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง  เพื่อการเดินทางให้น้อยลง  เลือกใช้รถยนต์ที่มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น หรือทำทุกอย่างที่ว่านี้พร้อมๆกัน  ซึ่งจะต้องทำทุกคน ทุกประเทศ  และทุกวันด้วย


บทความโดย

ผศ.ดร.ธนวันต์  สินธุนาวา
นายกสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม