ตัวอย่างกิจกรรมการเรียนรู้ที่ศูนย์รวมตะวัน
การจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ศูนย์รวมตะวันเน้นกระบวนการดังนี้
จากสอนให้แค่รู้ เป็นการเรียนรู้สู่ความเข้าใจ
จากการตอบทุกคำถาม เป็นการถามด้วยคำถาม
พร้อมมอบเครื่องมือเพื่อแสวงหาความรู้จากประสบการณ์ตรง
กระตุ้นให้สงสัยจนต้องร้อง เอ๊ะ สู่การหาคำตอบให้ร้อง อ๋อ ไปพร้อมๆกัน
กิจกรรมที่เราใช้มีความหลากหลายและร้อยเรียง ใช้ให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นค่ายวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม,ค่ายปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์พลังงาน หรือค่ายเฉพาะอื่นๆตามแต่ที่ทางผู้ที่ประสานงานมาต้องการ เราขอยกตัวอย่างกิจกรรมที่ศูนย์รวมตะวันให้เห็นภาพว่ามีความสนุกสนานและเต็มเปี่ยมไปด้วยสาระเพียงใด
- กิจกรรมโลกไร้ตะวัน
จะเป็นอย่างไรถ้าโลกนี้ไร้ซึ่งแสงตะวันและพลังงาน จะใช้ชีวิตกันอยู่ได้อย่างไร ?
ขอบอกเลยว่ากิจกรรมนี้ถือเป็นไฮไลท์ที่มาถึงศูนย์รวมตะวันแล้วไม่เข้าร่วมไม่ได้ คุณจะได้พบกับห้องที่เต็มไปด้วยความมืดมิดที่เป็นเขาวงกตรวมระยะทางแล้วกว่า 30 เมตร หน้าที่ของผู้เข้าร่วม คือ ต้องพาตัวเองให้รอดพร้อมปฏิบัติภารกิจที่ทางพี่ๆจากศูนย์รวมตะวันได้มอบหมายให้ ซึ่งอาจจะต้องรับผิดชอบเพื่อนๆที่เข้าไปด้วยกันด้วย ที่สุดแล้วจะหาทางออกและปฏิบัติภารกิจได้สำเร็จหรือไม่ โปรดเข้ามาสัมผัสประสบการณ์จริงที่ศูนย์รวมตะวัน - เดินป่าหาความหมายแห่งความสัมพันธ์ในระบบนิเวศ
รู้ไหมว่าทำไมป่าที่แตกต่างกัน ? องค์ประกอบของป่ามีอะไรบ้าง ? และป่ามีความสำคัญต่อความอยู่รอดของเราอย่างไร ?
น้ำพร้อม เสบียงพร้อม ใจพร้อมเปิดรับทุกอย่างรอบตัว พวกเราลุยยยยยย !!!
จะดีแค่ไหนหากเราได้มีโอกาสเดินเข้าไปสัมผัสบรรยายกาศของป่าอนุรักษ์ที่ประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งแรกของเมืองไทย และจะดีแค่ไหนที่ระยะทางเพียงไม่ถึง 2 กิโลเมตร เราได้มีโอกาสสัมผัสความหลากหลายของป่าไม้ได้มากถึง 4 ป่า และจะดีสุดๆหากโชคดีที่ได้สัมผัสกับร่องรอยการหากินและการใช้ชีวิตของช้างป่า ทั้งหมดนี้เราจะพบได้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ณ บริเวณเขตหน่วยพิทักษ์ป่าห้วยสะด่อง โดยเพียงแค่ข้ามถนนจากฝั่งศูนย์รวมตะวันไปก็ถึงแล้ว แล้วเราจะได้พบว่าความสัมพันธ์ในระบบนิเวศในป่านั้นงดงามเพียงใด และเราสร้างผลกระทบอะไรให้กับป่าบ้าง ในขณะที่เรามีไไฟ้าใช้ที่บ้านแบบสบายๆ
- กิจกรรมศึกษาแหล่งกำเนิดไฟฟ้าที่เขื่อนศรีนครินทร์
ไฟฟ้ามาจากไหน ? ไฟฟ้าเดินทางอย่างไร ? เกิดอะไรขึ้นที่แหล่งกำเนิดไฟฟ้าและระหว่างทางของการจัดส่งกระแสไฟฟ้า ?
สัมผัสประสบการณ์ตรงแบบ 360 องศาย้อนกลับจากเครื่องใช้ไฟฟ้าสู่แหล่งกำเนิดไฟฟ้าพลังงานน้ำ เขื่อนศรีนครินทร์ที่อยู่ห่างศูนย์รวมตะวันเพียง 12 กิโลเมตรเท่านั้น ร่วมเรียนรู้ถึงหลักการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่กั้นแม่น้ำและนำพลังงานน้ำมหาศาลถูกนำมาใช้ผลิตไฟฟ้าได้อย่างไร ? รวมถีงการเรียนรู้ถึงประโยชน์อื่นๆของเขื่อนพร้อมชมภาพความสวยงามในมุมกว้างทะเลสาปน้ำจืดขนาดใหญ่ และเรียนรู้ถึงอีกด้านหนึ่งของเหรียญในแง่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคมและวัฒนธรรม จากนั้นร่วมแลกเปลี่ยนและสรุปร่วมกัน
- กิจกรรมการเรียนรู้ในสถานีต่างๆ
การอนุรักษ์พลังงานไฟฟ้ามีแนวทางอย่างไร้บางนะ ?
การอนุรักษ์น้ำละมีแนวทางอย่างไร ?
แล้วการจัดการขยะละ มีแนวทางอย่างไรบ้าง ?
ถึงเวลาตามล่าหาเครื่องมือเพื่อจะนำไปใช้เป็นแนวทางอนุรักษ์พลังงาน พิทักษ์โลกกันแล้ว ร่วมเรียนรู้กับกิจกรรมสนุกสนาน เกมส์ ค้นหาคำตอบกับสื่อสาธิตแบบครบครันในสถานีเรียนรู้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น รู้เลือกเครืองใช้ไฟฟ้า,แสงสว่างเพื่อโลกสวย,น้ำใช้รู้ใช้น้ำ,1A3R กับการจัดการขยะ เป็นต้น ไปกันแบบเป็นทีม ช่วยกันคิด ช่วยกันแก้ปัญหาท้าทายกับคำถามที่รอให้หาคำตอบในแต่ละสถานี
- กิจกรรมต้นไม้แห่งความดีและ Seed Bomb
ทำไมเมล็ดพันธุ์ต้องเดินทาง ?
เมล็ดพันธุ์เดินทางด้วยวิธีไหนได้บ้าง ?
เราจะช่วยให้เมล็ดพันธุ์ได้อย่างไร ?
กิจกรรมนี้จะเป็นเหมือนกับกิจกรรมขมวดปมในวันสุดท้าย โดยผู้เข้าร่วมเรียนรู้จะต้องช่วยกันออกแบบต้นไม้ของหน่วยงานตนเอง แต่ละกลุ่มจะต้องช่วยกันสร้างราก ลำต้น กิ่ง ก้าน และเขียนความตั้งใจที่จะกลับไปทำอะไรดีๆเพื่อสิ่งแวดล้อมบนใบแล้วนำมาแปะเติมเต็มให้เป็นต้นไม้แห่งความดีเปรียบเป็นพันธสัญญา จากนั้นจะไปร่วมกันปั้นเมล็ด seed bomb (เมล็ดพันธุ์หุ้มด้วยดินเหนียวผสมกับซากพืชที่ผ่านการหมักจนได้ที่) และเมื่อเมล็ดพันธุ์แห้งสนิทพร้อมจะนำไปกระจายพันธุ์แล้ว ผู้เข้าร่วมเรียนรู้จะได้รับเครื่องมือที่จะนำพาเมล็ดพันธุ์ได้โบยบินไปตกยังที่ที่เหมาะสม ถือได้ว่าเป็นการปลูกป่าแนวใหม่ที่น่าตื่นเต้นและสนุกสนาน
- กิจกรรมอนุรักษ์พลังงานทำได้ไม่ยาก
การอนุรักษ์พลังงานทำได้ไม่อยากจริงหรือ ? แล้วแนวทางไหนบ้างที่จะช่วยอนุรักษ์พลังงานได้ ?
จะดีแค่ไหนถ้าเราได้มีโอกาสสวมบทบาทเป็นคณะบริหารด้านพลังงานระดับประเทศโดยมีงบประมาณให้ 6 พันล้านบาท และกลุ่มจะต้องช่วยกันตัดสินใจเปลี่ยนหลอดไฟที่ไม่ประหยัดพลังงานที่มีอยู่นับล้านหลอดให้หมดเพื่อลดการใช้พลังงาน ซึ่งต้องผ่านการแย่งชิงกับกลุ่มอื่นๆผ่านการวัดดวงและการประมูล จากนั้นผู้เข้าร่วมเรียนรู้จะได้สิทธิพิเศษลดกำลังการผลิตปิดโรงไฟฟ้าโรงไหนก็ได้ในประเทศไทย(รวมถึงการนำเข้าจากต่างประเทศ) กิจกรรมสถานการณ์จำลองนี้มักจะจัดขึ้นในวันสุดท้ายเพื่อขมวดปมและสรุปภาพรวมให้เห็นเรื่องความสำคัญในการอนุรักษ์พลังงาน
- กิจกรรมปฏิบัติการอาหารจานเด็ดกับ LCA
อาหารที่เราทานหรือผลิตภัณฑ์ที่เราใช้อยู่ทุกวัน เราเคยรู้ที่ไปที่มาและกว่าจะได้มาสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหน ?
ออกตาล่าหาวัตถุดิบและอุปกรณ์ในการทำอาหารสู่กระบวนการลงมือทำทานเอง และจบลงตรงที่การจัดการเศษของเหลือ เพื่อให้เห็นภาพทั้งกระบวนการว่ากว่าจะได้อาหารมา 1 จาน เปรียบแล้วก็เหมือนกับการผลิตสินค้ามาสัก 1 ชิ้น มีกระบวนการยุ่งยากเพียงใด? เราต้องสูญเสียทรัพยากรไปมากน้อยเพียงไหน ? และที่สำคัญคือ เราสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากแค่ไหน ? บนความวุ่นวายยังมีสาระแทรกอยู่มากมายในกิจกรรมนี้ เราจะได้พบกับบรรยากาศของกลิ่นควันไฟลอยตลบอนอวล เสียงสับหมู ความชลมุนกับการวิ่งไปหาผักในสวน 350 ppm (สวนผักปลอดสารพิษที่ศูนย์รวมตะวันจัดเตรียมไว้)
และยังมีกิจกรรมอื่นๆอีกมากมายที่เน้นผู้เข้าร่วมเรียนเป็นศูนย์กลาง และเราสามารถออกแบบให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และความต้องการของแต่ละกลุ่มเป้าหมายได้ หากมีข้อสงสัยหรือต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ ฝ่ายประสานงานสมาคมฯ โทร : 02-408-1600 / มือถือ: 096 – 6421093 / แฟ็กซ์ : 02-4081601 และ 02-4081602/ email: [email protected]