40 วิธีสู่การผลิตที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
ภาคการผลิตเป็นองค์กรสำคัญที่มีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลก และในกระบวนการผลิตทุกขั้นตอนล้วนแต่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ฉะนั้นหากผู้ผลิตหันมาใส่ใจแนวทางการผลิตที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ย่อมจะเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และผลประกอบการของผู้ผลิตเอง เรามาเรียนรู้แนวคิดที่่เกี่ยวข้องกับการผลิตที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมดังนี้
- มีการใช้ปัจจัยการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด
- ใช้วัตถุดิบที่มาจากขบวนการผลิตที่ไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างรุนแรงเช่น ปะการัง ป่าไม้ ป่าโกงกาง สัตว์ป่า สัตว์น้ำ
- เลือกใช้วัตถุดิบที่สามารถทดแทนใหม่ได้
- เพิ่มความระมัดระวังในการเก็บรักษา นำมาใช้และจำกัดวัตถุดิบที่เป็นสารสังเคราะห์ทุกชนิด และวัตถุดิบที่ย่อยสลายได้ยาก
- มีการประหยัดพลังงานในทุกขั้นตอนการผลิต
- ลดการสูญเสียพลังงานและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ด้วยการใช้เทคโนโลยีประหยัดพลังงาน และเทคโนโลยีประสิทธิภาพพลังงานสูง
- เลือกใช้เครื่องจักรต้นกำลังที่ใช้วัสดุพลังงานที่จะไม่ทำให้เกิดมลพิษ-ก๊าซธรรมชาติ
- ใช้เทคโนโลยีที่มีการสิ้นเปลืองวัสดุพลังงานน้อย
- จัดให้มีการลำดับขั้นตอนการผลิตที่จะทำให้มีการสูญเสียเวลา ปัจจัยการผลิต และพลังงานน้อยที่สุด
- เลือกใช้วิธีการผลิตที่จะไม่ทำให้เกิดการสูญเสียปัจจัยการผลิตได้โดยง่าย
- มีการเก็บรักษาปัจจัยการผลิต และการจัดใช้ทรัพยากรการผลิตอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ
- เลือกขบวนการผลิตที่เอื้ออำนวยให้มีการนำทรัพยากรเหลือใช้หรือเศษเหลือในการผลิตกลับมาใช้ใหม่ ทั้งก่อนถึงมือผู้บริโภคและภายหลังการบริโภค
- มีการตรวจซ่อมและบำรุงดูแลเทคโนโลยีการผลิต ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง
- มีการป้องกันการสูญเสียความร้อนและความเย็นในขั้นตอนการผลิต ด้วยการบำรุงรักษาฉนวนป้องกันการสูญเสียความเย็นและความร้อนอย่างสม่ำเสมอ
- สร้างความเข้าใจและจิตสำนึกให้แก่ผู้ประกอบการ/ผู้ปฏิบัติงานให้เห็นความสำคัญของการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ
- ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อมในการผลิตของทุกฝ่าย ทั้งในด้านการแก้ปัญหาและการพัฒนาการผลิต
- จัดให้มีการใช้ประโยชน์วัสดุและบรรจุภัณฑ์ที่มากับปัจจัยการผลิตให้ได้มากที่สุด ด้วยการใช้ซ้ำและหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่
- ไม่ใช้ปัจจัยการผลิตที่จะมีผลตกค้าง เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคและระบบนิเวศ
- ลดและหลีกเลี่ยงการใช้ปัจจัยการผลิตที่ย่อยสลายได้ยาก หรือเป็นพิษเมื่อทิ้งหรือต้องจำกัดโดยวิธีเผา
- ส่งเสริมและจัดให้มีการหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ให้มากที่สุด และนำทรัพยากรที่ใช้แล้วหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่แทนการใช้ทรัพยากรจากแหล่งธรรมชาติ
- จัดให้มีการแยกตะกอนและสารแขวนลอยในน้ำที่ผ่านการใช้ประโยชน์แล้ว เพื่อลดปริมาณสารปนเปื้อนในน้ำจากการผลิต
- จัดให้มีการแยกไขมันออกจากน้ำที่ได้จากขบวนการผลิต เพื่อลดภาระและพลังงานในขั้นตอนการบำบัดน้ำเสีย
- ลดการสูญเสียน้ำในการผลิต และการใช้ประโยชน์ที่เกี่ยวข้อง
- หมุนเวียนน้ำที่ใช้ประโยชน์แล้วกลับมาใช้ใหม่อย่างเหมาะสม
- สร้างจิตสำนึกให้เห็นคุณค่าและประโยชน์ของน้ำให้ผู้ปฏิบัติงานทราบ และมีส่วนร่วมในการป้องกันการสูญเสีย และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์
- หลีกเลี่ยงการเผาวัสดุเศษเหลือจากการผลิตเพื่อป้องกันการเกิดมลพิษในอากาศ
- จัดให้มีการกรองและดักฝุ่นละอองจากอากาศที่เกิดจากการผลิต
- สนับสนุนให้ผู้ปฏิบัติงานสวมใส่เครื่องอุปกรณ์ป้องกันฝุ่นละอองเข้าจมูก
- จัดให้มีการหมุนเวียนและถ่ายเทอากาศในขบวนการผลิตอย่างเหมาะสม
- งดการปล่อยอากาศที่มีการปนเปื้อนมลพิษออกนอกบริเวณพื้นที่การผลิตจนเป็นเหตุเดือดร้อนรำคาญของผู้อื่น และเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม
- จัดให้มีเครื่องหมายและประกาศเตือนผู้ปฏิบัติงาน ให้เพิ่มความระมัดระวังในการปนเปื้แนของมลพิษของอากาศในพื้นที่ประกอบการ
- จัดให้มีการแยกของเหลือทิ้งและขยะก่อนขนถ่ายออกจากพื้นที่ เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์สูงสุดด้วยการใช้ซ้ำและหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่และเพื่อลดปริมาณขยะที่ต้องกำจัด
- เลือกใช้วัสดุที่เป็นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถใช้ซ้ำได้หลายครั้ง และหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้เมื่อเลิกหรือใช้ประโยชน์ไม่ได้ต่อไป
- ใช้วัสดุที่ได้จากการหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่แทนการใช้วัสดุที่ได้มาจากแหล่งธรรมชาติ
- ใช้วัสดุที่ไม่ชำรุดเสียหายง่าย และไม่เสียค่าใช้จ่ายในการขนส่งมาก
- ไม่ใช้บรรจุภัณฑ์มากเกินความจำเป็น
- ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ผู้บริโภค สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างต่อเนื่อง
- ระบุชนิดของวัสดุที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์ เพื่อส่งเสริมให้มีการหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่
- จัดทำบรรจุภัณฑ์ให้สวยงามในเทศกาลสำคัญ เพื่อลดการห่อเป็นของขวัญด้วยวัสดุเพิ่มเติม
- จัดทำคำเชิญชวนให้ผู้ใช้เกิดจิตสำนึก และมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อม
โครงการอุตสาหกรรมสีเขียว หรือ Green Industry
ประเทศไทยมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ตามที่ได้ให้สัตยาบันรับรองปฏิญญาโจฮันเนสเบิร์ก เมื่อปี 2545 และปฏิญญามะนิลาว่าด้วยอุตสาหกรรมสีเขียว เมื่อปี พ.ศ. 2552 กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ จึงได้กำหนดยุทธ์ศาสตร์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยดำเนินการในเชิงรุก มุ่งเน้นในการส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้เติบโตและพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อให้เป็นรูปธรรม จึงได้เริ่มโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว หรือ Green Industry ขึ้น เพื่อส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมให้มีการประกอบการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสังคมเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมมีภาพลักษณ์ที่ดี น่าเชื่อถือและประชาชนไว้วางใจ และเกิดการสร้างเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมสีเขียวของประเทศมีมูลค่าสูงขึ้นด้วย