พลาสติกล้นโลก เราจะอยู่กันอย่างไร ?
-
จากอดีตสู่ปัจจุบันพลาสติกยังอยู่คู่คุณ
หากจะกล่าวถึงพลาสติกทุกคนคงคุ้นเคยกันดี เราเกิดในยุคที่เกิดมาก็เจอพลาสติกอยู่รอบตัว ความคุ้นชินกับการไปซื้อของตามร้านสะดวกซื้อมักจะจบลงด้วยถือถุงพลาสติกออกมากันคนละถุงสองถุง หรือแม้กระทั่งการซื้ออาหารกลับมาทานที่บ้าน คุณพ่อบ้านแม่บ้านก็สะดวกกับการถือถุงพลาสติกใส่อาหารกลับบ้าน จนเป็นยุคที่ถูกเรียกว่า ยุคแม่บ้านถุงพลาสติก
พลาสติกเป็นวัสดุสังเคราะห์ที่มนุษย์รู้จักมานานกว่า 130 ปี ซึ่งพลาสติกถือกำเนิดเกิดขึ้นในยุคศตรรวรรษที่ 18 โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันชื่อว่า จอห์น เวสลีย์ ไฮแอท (John Wesley Hyatt) จากอดีตที่ผ่านมาสู่ปัจจุบันเป็นที่น่าตกใจที่ขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนปัจจุบันแค่ในประเทศไทยขยะพลาสติกเกิดขึ้นปีละมากถึง 2 ล้านตัน เปรียบแล้วน้ำหนักจะเทียบเท่าช้างเกือบ 2 ล้านตัวเลยทีเดียว ซึ่งประมาณ 80% เป็นขยะพลาสติกที่ปนเปื้อน เช่น ถุงร้อน ถุงเย็นบรรจุอาหาร ถุงหูหิ้ว เป็นต้น และโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า แต่ละปีมีการใช้ถุงพลาสติกมากถึง 5 แสนล้านใบซึ่งครึ่งหนึ่งเป็นพลาสติกชนิดใช้แล้วทิ้ง
อ่านข้อความข้างบนหน้าตกใจแล้ว สิ่งที่น่าตกใจมากกว่า คือ การย่อยสลายพลาสติกต้องใช้เวลามากถึง 450 ปีโดยประมาณ หากเทียบแล้วถ้าวันนี้เราสร้างขยะพลาสติก 1 ชิ้นก็เท่ากับว่าอีก 6 ชั่วอายุคน (อายุเฉลี่ยคนไทยปี 2558 ประมาณ 74.60 ปี) พลาสติกจึงจะย่อยสลายได้หมด พลาสติกตามหลอกหลอนเราไปทุกที่ แม้แต่จุดที่ลึกที่สุดในโลกใต้มหาสมุทร ซึ่งจมอยู่ที่ระดับความลึก 10,898 เมตร ภายในร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนา (Mariana Trench ) ยังพบขยะพลาสติกอยู่ตรงจุดนั้น(https://www.bbc.com/thai/international-44107900) พลาสติกยังอยู่รอบตัวเรา และยังอยู่กับเราตราบนานเท่านาน
-
พลาสติกร้ายส่งผลกระทบวงกว้าง
บางครั้งก็มองอะไรเล็กๆเพียงไม่พ้นตัวเองอาจสร้างความเสียหายต่อโลกใบนี้มากมาย ยกตัวอย่างเช่น วันนี้เราซื้อของ 1 ชิ้น ใส่ถุงพลาสติกกลับบ้าน 1 ชิ้นสุดท้ายไม่ได้ใช้อะไรแล้วก็จบลงตรงถังขยะ เราคิดแต่เพียงว่าเราคนเดียวไม่เป็นไร แต่ลองคิดให้จบนะครับว่าถ้าคิดแบบนี้กันทั้งหมด 70 ล้านกว่าคนทั้งประเทศไทยเราจะมีขยะถุงพลาสติกเกิดขึ้นมากถึง 70 ล้านชิ้นหรือมากกว่านั้นเพราะ 1 คนอาจใช้หลายถุง ซึ่งผลกระทบจากขยะพลาสติกได้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนในปัจจุบัน
- ภาพเต่าที่โดนพลาสติกลัดจนเอวขอด,ผ่าซากเต่าที่ท้องเต็มไปด้วยถุงพลาสติก หรือหลอดพลาสติกที่อุดรูจมูกเต่าทะเลจนแทบจะหายใจไม่ออก เป็นภาพสะท้อนผลกระทบจากขยะพลาสติกที่ชัดเจนมาก
- สาเหตุของน้ำท่วมขังเวลาที่ฝนตกหนักในกรุงเทพเป็นอุปสรรคต่อการสัญจร เมื่อตามกลับไปยังต้นเหตุ มักพบว่าขยะพลาสติกอุดตันท่อระบายน้ำ
- พลาสติกทำให้แนวปะการังมีโอกาสติดโรคมากขึ้น 20 เท่า และมีความเสี่ยงที่จะเร่งให้ปะการังลดน้อยลง มีผลต่อการอนุบาลสัตว์น้ำขนาดเล็ก
- ไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนอยู่ในทะเลจะสะสมในสัตว์ทะเลต่างๆ เช่น เคย,หอย,กุ้ง หากมนุษย์บริโภคเข้าสู่ร่างกายย่อมจะเกิดอันตรายตามมา ซึ่งไมโครพลาสติกจะมีขนาดเล็กเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 5 มิลลิเมตรซึ่งมักเกิดจาก การแตกหักย่อยสลายจากพลาสติกชิ้นใหญ่ที่เรียกว่า secondary microplastics และที่ยังเป็นปัญหายากต่อการจำกัด คือ ไมโครพลาสติกจาก เม็ดพลาสติกในน้ำยาซักผ้า เม็ดบีดส์ เม็ดสครับ ในเครื่องสำอางและยาสีฟัน
“ไมโครพลาสติกอยู่ทุกหนทุกแห่ง ทั้งในทะเลและในระบบห่วงโซ่อาหาร และนั่นเป็นสิ่งที่เราต้องหยุดยั้งมันให้ได้” ฟร็องซัว ซิมาร์ด (François Simard) รองผู้อำนวยการโครงการทางทะเลของ IUCN กล่าว
เบื้องต้นเป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนของผลกระทบจากขยะพลาสติก ยังมีผลกระทบมากมายตราบเท่าที่จำนวนขยะพลาสติกยังมีปริมาณมากขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง ถึงเวลาแล้วที่เราจะหันมาใส่ใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง ก่อนที่พลาสติกจะล้นโลก เราจะอยู่กันอย่างไร
- 1A3R กับทางออกของการจัดการพลาสติก
ทางออกของปัญหาพลาสติกล้นโลกนั้นอาจต้องหันมาปรับทัศนคติ สร้างความเข้าใจและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เครื่องมือการจัดการขยะที่ยังใช้ได้ดีเสมอตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทางนั้นคือ 1A3R นี้เอง
- Aviod งดเลิกได้เป็นการดี จะสังเกตว่า ในปัจจุบันมีหลายประเทศมีนโยบายเลิกใช้พลาสติก เช่น บางพื้นที่ในอินเดีย,สหรัฐอเมริกา หรือทั้งประเทศที่ประกาศห้ามใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งอย่างในฝรั่งเศสหรือโมร๊อกโก สำหรับในประเทศไทยมีผู้ประกอบการผลิตน้ำดื่มบรรจุชวดได้มีการทำข้อตกลงร่วมกันเพื่อไม่ใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำ (Cap seal) เพื่อลดขยะพลาสติกตั้งเป้าปี 62 จะไม่มีเจ้าไหนใช้ cap seal อีกเลย สำหรับในภาครัฐบางหน่วยงาน เช่น กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมเริ่มออกมาตรการห้ามนำพลาสติกเข้าสู่สำนักงาน
- Reduce งดเลิกไม่ได้ก็ต้องเริ่มลด ให้น้อยลงเรื่อยๆจนสามารถงดใช้ได้ในที่สุด คำถาม คือ แล้วจะใช้อะไรแทนถุงพลาสติก คำตอบ คือ ใช้ถุงผ้าแทน ซื้อของน้อยชิ้นถือก็ได้ หรือ หากจะต้องซื้อผลิตภัณฑ์ซื้อแบบรวมไม่แยก รวมถึงแบบชนิดเติม (refill) ก็จะมีส่วนช่วยลดขยะพลาสติกได้เยอะเลยทีเดียว
- Reues ใช้ซ้ำให้เป็นนิสัย เช่น การเลือกใช้แก้วน้ำแบบใช้ซ้ำได้ ทั้งแบบเก็บความเย็นและแบบเก็บความร้อนได้ แบบเก็บความร้อนจะยังมีส่วนช่วยในการไม่ต้องเสียบกาต้มน้ำร้อนไว้ทั้งวัน ช่วยประหยัดพลังงาน หรือกรณีที่จำเป็นจะต้องใช้ถุงพลาสติกจริงๆ หากใช้เสร็จอย่าเพิ่งทิ้งเก็บไว้ใช้ประโยชน์อีกหลายๆรอบก็เป็นการดี
- Recycle สุดท้ายไม่ไหวจริงๆจำเป็นต้องซื้อ ต้องใช้ อย่าลืมที่จะแยกขยะ จากนั้นรวบรวมแล้วนำส่งโรงงานเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในแง่ที่ไม่ต้องไปหาวัตถุดิบใหม่ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่แหล่งกำเนิด
หากไม่อยากเห็นภาพพลาสติกล้นโลกจนเราไม่มีที่อยู่จริงๆ ถึงเวลาแล้วที่เราจะหันมาให้ความสำคัญของการลด ละ และเลิกใช้ถุงพลาสติกอย่างจริงจัง เริ่มเล็กๆจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเรา เป็นตัวอย่างที่ดีให้คนอื่นเห็น แล้วการเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ในวงกว้างจะตามมา
ข้อมูลอ้างอิง
- http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=28&chap=8&page=t28-8-infodetailhtml
- https://www.matichon.co.th/publicize/news_979714
- https://www.bbc.com/thai/international-42828499
- https://greennews.agency/?p=15641
- http://www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/6/blog/57544/
- https://thestandard.co/dday-thailand-phase-out-cap-seal/