แต่ก่อนเห็นฝนตกก็ดีใจที่จะมีน้ำใช้ในการผลิต  ข้าวปลาอาหารจะเพียงพอต่อการกินและการส่งออก  แต่เดี๋ยวนี้ยังไม่ทันเห็นฝนเลย  เพียงได้ยินคำเตือนช่วงหลังข่าว ก็เกิดความวิตกกังวลว่าน้ำท่วมอีกหรือเปล่า  จะกลับบ้านลำบากไหม  จะต้องเตรียมอะไรไปบ้างเพื่อจะได้ไม่ลำบากเมื่อฝนตกหนักตามคำเตือน  ความแปรปรวนของภูมิอากาศ  ฟ้าฝนได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งมากขึ้น ขณะที่พื้นที่รองรับน้ำฝนมีขีดความสามารถในการดูดซับและชลอการไหลของน้ำฝน  จากที่สูงให้ไหลช้าลงได้ลดลงตามลำดับ  แต่ก่อนป่าไม้ที่ปกคลุมบนภูเขาช่วยทำหน้าที่ดูดซับและชลอการไหลของน้ำภายหลังฝนได้เป็นอย่างดี  แต่พื้นที่ป่าที่ลดลง  ทำให้น้ำปริมาณมากที่ตกลงมาไหลบ่าลงสู่พื้นที่ราบอย่างรวดเร็ว  ทำความเสียหายต่อพื้นที่เพาะปลูก  ที่อยู่อาศัย ทรัพย์สิน  และชีวิต เป็นจำนวนมาก  และเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ

     อะไรเป็นปัจจัยทำให้พื้นที่รองรับน้ำฝนซึมซับน้ำได้ลดน้อยลง  คำตอบ ก็คือ การลดน้อยลงของพืชพรรณที่ปกคลุมดิน 

     การที่ต้นไม้ใหญ่ถูกตัดโค่นมาใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง  การฟื้นตัวของป่าธรรมชาติเป็นไปด้วยความยากลำบาก  เพราะเมล็ดพันธุ์จากป่ามีโอกาสงอกได้น้อยลงเนื่องจากการลดน้อยลงของสัตว์ป่าที่ถูก ล่า ฆ่า จับ และถูกแย่งอาหารอย่างต่อเนื่อง  ทำให้ไม่มีสัตว์ป่าทำหน้าที่กระจายเมล็ดพันธุ์ให้ป่าฟื้นตัวตามธรรมชาติ

     อาหารของสัตว์ป่าถูกยื้อแย่งออกมากินและขายโดยชาวบ้านและชาวเมืองเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ  จากความเคยชิน  ความชอบ และรู้เท่าไม่ถึงการณ์จนหลายคนหลงไปว่าเป็นอาหารของตนเอง  ไม่เกี่ยวกับสัตว์ป่า หรือระบบนิเวศแต่อย่างใด เป็นเหตุให้พันธุ์ไม้ในป่าเสื่อมโทรมเร็งลง   พืชพรรณที่ถูกเก็บรวบรวมเหล่านี้  เป็นอาหารจานโปรดของใครต่อใครหลายคนมาเป็นเวลานาน  ถึงแม้จะมีใครบอกกล่าวว่าไม่ดีไม่ถูกต้องเพราะเป็นอาหารสัตว์ป่า  เป็นพืชพรรณที่ช่วยยึดเหนี่ยวผิวดินไม่ให้ถูกกัดเซาะเมื่อคราวฝนตก และน้ำหลาก  เป็นพืชพรรณที่จะช่วยชลอการแพร่กระจายไฟป่า  เป็นพืชพรรณที่จะช่วยปรับแต่งดินให้มีความพร้อมที่จะรองรับการงอกและเจริญเติบโตของเมล็ดพันธุ์ในป่าเพื่อสืบทอดภาระในการรักษาความอุดมสมบูรณ์ของป่าให้ยาวนานที่สุด  จะด้วยเหตุผลและความสำคัญต่อ การฟื้นตัวของป่า  หรือการดำรงคงอยู่ของป่าและระบบนิเวศในป่า อย่างไรก็ตาม การรับรู้เหตุผลดังกล่าวจะช่วยยับยั้งคนบางคนมิให้ตามหาซื้อและบริโภคได้เท่านั้น  ขณะที่คนส่วนใหญ่ยังซื้อหาและบริโภคอย่างต่อเนื่องและเพิ่มมากขึ้น  รวมทั้งการส่งออกไปขายตลาดต่างประเทศ  ที่จะเป็นปัจจัยช่วยเร่งรัดให้เกิดการเสื่อมโทรมของระบบนิเวศจนยากที่หยุดยั้งไว้ได้

     ถ้าการรับรู้ความเสียหายและความเดือดร้อนจากอุทกภัยที่กำลังเกิดขึ้นในทุกภูมิภาค    ทั่วประเทศ จะทำให้เกิดความเป็นห่วง ความวิตกกังวล และความอยากจะช่วยเหลือผู้ประสบภัย    เหล่านั้นได้บ้างละก็  ท่านจะเป็นผู้หนึ่งที่มีศักยภาพที่จะทำให้ทั้งการแก้ไขและป้องกันปัญหาไป   พร้อม ๆ กัน   ด้วยการเป็นส่วนหนึ่งของการระดมความช่วยเหลือเฉพาะหน้า  แก่ผู้ประสบภัย และที่สำคัญเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยกันลดและป้องกันน้ำท่วมด้วยการไม่ส่งเสริมสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์จากป่า  นับแต่การบริโภคสัตว์ป่าทุกชนิดจะด้วยเหตุผลด้านความแปลกของรสชาติหรือด้านการบำรุงและบำบัดรักษาก็ตาม รวมไปถึงการไม่หาซื้อ และใช้ไม้เนื้อแข็งและไผ่จากป่าธรรมชาติ  และที่สำคัญคือ การลด หลีกเลี่ยง และเลิก การบริโภคพืชพรรณและผลผลิตของพืชพรรณจากป่า เช่น ผักหวาน เห็ดโคน  และหน่อไม้ โดยเฉพาะหน่อไม้ที่เป็นอาหารที่พวกเราหาซื้อมารับประทานกันแทบทุกวันตลอดทั้งปี เป็นหน่อไม้ที่ได้มาจากการเก็บรวบรวมจากป่า  เป็นหน่อไม้ไผ่ลวกไม่ใช่หน่อไม้ไผ่ตงที่มีการปลูกในหลายจังหวัด  ซึ่งหน่อไม้ไผ่ลวกที่ขายอยู่ทั่วไปส่วนใหญ่เป็นหน่อที่เก็บมาจากการงอกในป่าเกือบทั้งหมด  จนเป็นเหตุให้แม้แต่ป่าไผ่ก็เสื่อมโทรม  และใช้เวลายาวนานมากขึ้นในการฟื้นตัวตามธรรมชาติ  เนื่องจากการทดแทนเป็นไปด้วยความยากลำบาก

     ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็กน้อยและไม่น่าจะช่วยป้องกันและลดความเสียหายจากการเกิดน้ำท่วมได้เลย  แต่จุดเริ่มต้นง่าย  ๆ นี้แหละที่จะทำให้เราเริ่มคิดถึงหนทางอื่น ๆ ที่ควรจะต้องปรับเปลี่ยนเพื่อมิให้ตนเองเข้าไปเกี่ยวข้องกันต้นเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วมและความเสียหายจากน้ำท่วมได้อีก  การช่วยจัดหาสิ่งของและรวบรวมปัจจัยส่งไปช่วยผู้ประสบภัยเป็นทางหนึ่งที่จะบรรเทาความยากลำบาก  ให้แก่ผู้ประสบภัย แต่ถ้าจะช่วยป้องกันมิให้ผู้ประสบภัยต้องยากลำบากอีก ก็จะต้องหาหนทางมีส่วนช่วยในการป้องกัน และลดมิให้พื้นที่รับน้ำฝนเสื่อมโทรมลงมากกว่านี้อีก

     การลดและเลิกการบริโภคหน่อไม้ไผ่ลวก  ที่ได้จากป่าธรรมชาติจะช่วยได้อย่างมาก  ช่วยได้อย่างแท้จริง  จนกว่าจะเริ่มมีการปลูกไผ่ลวกในพื้นที่เกษตรกรรม และเก็บหน่อไม้ออกมาขายเป็นเรื่องเป็นราว  เราจึงจะหันมาซื้อหาและบริโภคหน่อไม้ไผ่ลวกจากผู้ผลิตเหล่านี้อย่างกว้างขวางนะครับ


บทความโดย
ผศ.ดร.ธนวันต์  สินธุนาวา
นายกสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม