ชื่อไทย                   ยอป่า (-)

ชื่อท้องถิ่น              สลักป่า สลักหลวง (ภาคเหนือ) คุย (พิษณุโลก)

ชื่อวิทยาศาสตร์        Morinda coreia Buch.-Ham.

วงศ์        RUBIACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลักษณะทั่วไป ไม้ต้น ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง 4 – 25 เมตร ผลัดใบ เรือนยอดเป็นพุ่มกลมรี ลำต้นมักคดงอเปลือกนอกสีน้ำตาลปนเทา แตกเป็นสะเก็ด เปลือกในสีน้ำตาล กระพี้สีเหลือง

ลักษณะใบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ใบรูปไข่กลับ รูปไข่ หรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง 4 – 11 เซนติเมตร ยาว 15 – 25 เซนติเมตร โคนใบสอบเรียว ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลม หรือแหลมยาว แผ่นใบเกลี้ยง หรือมีขนสากประปราย ด้านล่างมีขนสั้นนุ่ม

ลักษณะดอก ช่อกระจุกแน่น ออกที่ซอกใบ ดอกย่อยสีขาว รูปดอกเข็ม กลีบเลี้ยงขนาดเล็กเชื่อมติดกันเป็นหลอด กลีบดอกเชื่อมติดกัน ยาว 1.2 – 1.8 เซนติเมตร เกลี้ยงหรือมีขนประปราย ปลายแยก 5 – 6 กลีบ รูปขอบขนาน ยาว 1 – 1.5 เซนติเมตร ก้านเกสรเพศเมียยาว 1.2 – 1.5 เซนติเมตร และ 1.5 – 1.8 เซนติเมตร

ลักษณะผล ผลรวม มีเนื้อเมล็ดเดียว ผลรูปรีหรือกลมๆ เส้นผ่านศูนย์กลางยาวได้ถึง 3 เซนติเมตร ผลย่อยจำนวนมากเชื่อมติดกัน ผิวนอกสีเขียวเป็นปุ่มปม มีขน เนื้อในสีขาว ฉ่ำน้ำ เมล็ดรูปทรงบิดเบี้ยว เนื้อแข็ง ไม่มีปีก หนึ่งผลย่อยมี 1 เมล็ด 

ระยะการออกดอกติดผล

ออกดอกเดือนเมษายน – เดือนกรกฎาคม ผลแก่ระหว่างเดือนพฤษภาคม – เดือนสิงหาคม

เขตการกระจายพันธุ์

พบในประเทศอินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ พม่า ภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบแทบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าเต็งรัง ความสูงถึงประมาณ 1,300 เมตร

การใช้ประโยชน์           

ราก: มีสรรพคุณเป็นยาแก้เบาหวาน

แก่น: มีรสขมร้อน นำมาต้มหรือดองกับเหล้าดื่มเป็นยาบำรุงโลหิต

เปลือกและเนื้อไม้: มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้

ใบ: มีสรรพคุณแก้จุกเสียด ใบสดใช้ตำพอกศีรษะเป็นยาฆ่าเหา

ผลอ่อน: มีสรรพคุณแก้คลื่นไส้อาเจียน ผลสุกมีสรรพคุณช่วยขับลมในลำไส้

แหล่งข้อมูล: สำนักงานหอพรรณไม้ – กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

[qrcode url=”https://adeq.or.th/qr/0023″ margin=”10″ size=”150″ after=”ต้นยอป่า”]