ชื่อไทย                  ยางนา (Yang)

ชื่อท้องถิ่น             ยางขาว ยาง ยางแม่น้ำ ยางหยวก (ทั่วไป) ยางกุง (เลย) ยางเนิน (จันทบุรี) ชันนา ยางตัง (ชุมพร) ยางควาย (หนองคาย)

ชื่อวิทยาศาสตร์     Dipterocarpus alatus Roxb. ex G. Don

วงศ์     DIPTEROCARPACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลักษณะทั่วไป ไม้ต้น ขนาดใหญ่ สูงประมาณ 30 – 40 เมตร ไม่ผลัดใบ เรือนยอดเป็นพุ่มกลมหนา ลำต้นเปลาตรง เปลือกนอกสีเทาอมขาว เรียบหนา หรือแตกสะเก็ดเป็นหลุมตื้นๆ เปลือกในสีน้ำตาลอมชมพู

ลักษณะใบ ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่แกมขอบขนาน ขนาดกว้าง 8 – 15 เซนติเมตร ยาว 20 – 35 เซนติเมตร โคนใบมนกว้าง ขอบใบหยักเป็นคลื่นเล็กน้อย ปลายใบสอบทู่ เนื้อใบหนา ใบอ่อนมีขนสีเทา ใบแก่เกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง กาบหุ้มยอดหรือใบอ่อนมีขนอ่อนสีน้ำตาล

ลักษณะดอก ช่อกระจะ สั้นๆ ออกที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกย่อยสีชมพู กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย กลีบดอกเชื่อมติดกัน ปลายกลีบแยกออกเป็น 5 แฉก บิดเวียนตามกันแบบกังหัน เกสรเพศผู้มี 29 อัน ลักษณะผล ผลแห้งกลีบเลี้ยงเจริญเป็นปีก ทรงกลมรี มีครีบตามยาว 5 ครีบ มีปีกยาว 2 ปีก ยาว 10 – 12 เซนติเมตร เส้นปีกตามยาวมี 3 เส้น เมล็ดลักษณะคล้ายแป้งสีขาวมีริ้วสีน้ำตาลกระจายอยู่ทั่วไป

ระยะการออกดอกติดผล

ออกดอกช่วงเดือนธันวาคม – เดือนมกราคม ผลจะแก่จัดในต้นเดือนพฤษภาคม

เขตการกระจายพันธุ์

พบขึ้นเป็นกลุ่มตามที่ราบริมลำธาร ในป่าดิบทั่วไป ที่มีดินอุดมสมบูรณ์ ดินลึกและมีความชุ่มชื้นเพียงพอ ความสูง 200 – 600 เมตร จากระดับน้ำทะเล

การใช้ประโยชน์

ส่วนใหญ่ใช้ในการก่อสร้างทั่วไป ทำไม้บาง ไม้อัด หมอนรองรถไฟ น้ำมันยางที่ได้จากการเจาะต้นใช้ทาไม้ ยาแนวหรือ ทาเครื่องจักสาน ทำไต้ ทำยา เป็นต้น

แหล่งข้อมูล: สำนักงานหอพรรณไม้ – กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

[qrcode url=”https://adeq.or.th/qr/0024″ margin=”10″ size=”150″ after=”ต้นยางนา”]