ชื่อไทย                  กระทิง (Alexandrian laurel, Beach Calophyllum, Borneo mahogany)

ชื่อท้องถิ่น             กระทึง กากระทึง กากะทึง (ภาคกลาง) ทิง (กระบี่) เนาวกาน (น่าน) สารภีทะเล (ประจวบคีรีขันธ์)  สารภีแนน                    (ภาคเหนือ)

ชื่อวิทยาศาสตร์     Calophyllum inophyllum L.

วงศ์                          CALOPHYLLACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลักษณะทั่วไป ไม้ต้น ขนาดเล็ก ความสูงไม่เกิน 15 เมตร ไม่ผลัดใบ เรือนยอดเป็นพุ่ม ทึบ เปลือกนอกสีน้ำตาลอมเทา ค่อนข้างเรียบ หรือแตกเป็นร่อง เปลือกในสีชมพู เนื้อไม้สีน้ำตาลอมแดง มีชันสีเหลืองอมเขียว

ลักษณะใบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม ใบรูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปไข่กลับ กว้าง 4.5 – 8 เซนติเมตร ยาว 8 – 15 เซนติเมตร โคนใบสอบเรียว ขอบใบเรียบ ปลายใบมน หรือเว้าตื้น แผ่นใบหนา ผิวเกลี้ยงทั้งสองด้าน ด้านบนสีเขียวเป็นมัน ด้านล่างสีอ่อนกว่า มีเส้นใบจำนวนมากเรียงชิดกัน

ลักษณะดอก ช่อกระจุกแยกแขนงสั้นๆ  ออกที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกย่อยสีขาว กลีบเลี้ยงคล้ายกลีบดอก รูปกลม ยาว 8 มิลลิเมตร จำนวน 4 กลีบ กลีบดอกรูปไข่กลับ ยาว 1 – 1.2 เซนติเมตร จำนวน 4 กลีบ เกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านชูอับเรณูยาว 4 – 5 มิลลิเมตร อับเรณูสีเหลือง ก้านเกสรเพศเมียยาว 6 – 7  มิลลิเมตร ดอกมีกลิ่นหอม

ลักษณะผล ผลสดเมล็ดเดียวแข็ง รูปกลมรี หรือค่อนข้างกลม ปลายมีติ่งแหลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.5 เซนติเมตร เมื่อสุกมีสีเหลือง เมล็ดขนาดใหญ่ มีน้ำมัน

ระยะการออกดอกติดผล

ออกดอกติดผลตลอดทั้งปี

เขตการกระจายพันธุ์

พบในแถบแอฟริกา อินเดีย ศรีลังกา พม่า ไห่หนาน ไต้หวัน ญี่ปุ่น กัมพูชา เวียดนาม ภูมิภาคมาเลเซีย ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยพบทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นตามชายหาด ชายป่าใกล้ชายฝั่งทะเล ความสูงระดับต่างๆ

การใช้ประโยชน์           

นิยมปลูกเป็นไม้ประดับให้ร่มเงา

เนื้อไม้: ใช้ก่อสร้าง

ดอก: ปรุงเป็นยาหอมบำรุงหัวใจ

เมล็ด:  มัน เรียกว่า Tamanu oil ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตสบู่ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม และเป็นสมุนไพรทาแก้ปวดข้อ

แหล่งข้อมูล: สำนักงานหอพรรณไม้ – กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

[qrcode url=”https://adeq.or.th/qr/0005″ margin=”10″ size=”150″ after=”ต้นกระทิง”]