ชื่อไทย                  แจง (-)

ชื่อท้องถิ่น             แกง (นครราชสีมา)

ชื่อวิทยาศาสตร์    Maerua siamensis (Kurz) Pax

วงศ์                         CAPPARACEAE

 

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลักษณะทั่วไป ไม้พุ่ม ขนาดใหญ่ หรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูงไม่เกิน 10 เมตร ไม่ผลัดใบ เรือนยอดแตกกิ่งแผ่ออกเป็นรูปร่ม หนาทึบ เปลือกนอกสีเขียวเข้มจนเกือบดำ เรียบหรือแตกเป็นสะเก็ดเล็กๆ  มีจุดสีขาวกระจายทั่วลำต้น เปลือกใน เนื้อไม้ มีเกล็ดหุ้มยอด

ลักษณะใบ ใบประกอบแบบนิ้วมือ มี 3 ใบย่อย เรียงสลับ ใบย่อยรูปไข่กลับ รูปขอบขนาน หรือรูปแถบ กว้าง 1 – 3 เซนติเมตร ยาว 2 – 12 เซนติเมตร โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ ปลายใบกลม เว้าตื้น หรือมีติ่ง

ลักษณะดอก ช่อเชิงหลั่น หรือช่อกระจะ ออกที่ซอกใบ หรือปลายกิ่ง ดอกย่อยสีขาวอมเขียว เมื่อบานเต็มที่เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น 4 กลีบ รูปไข่ กว้าง 2 – 3 มิลลิเมตร ยาว 1.5 – 5 เซนติเมตร ปลายแหลม ขอบมีขนคล้ายเส้นไหม ไม่มีกลีบดอก

ลักษณะผล ผลมีเนื้อหลายเมล็ด รูปรีกว้างเกือบกลม กว้าง 1.3 – 1.5 เซนติเมตร ยาว 2 – 2.5 เซนติเมตร ผิวขรุขระ ผลอ่อนสีเขียว เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เมล็ดรูปไต 2 – 3 เมล็ด

 

ระยะการออกดอกติดผล

ออกดอกเดือนธันวาคม – เดือนมีนาคม ผลแก่ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – เดือนเมษายน

 

เขตการกระจายพันธุ์

พบในภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบทุกภาคจนถึงภาคใต้ตอนบน ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง หรือตามป่าโปร่ง โดยเฉพาะเขาหินปูนเตี้ยๆ ความสูงถึงประมาณ 400 เมตร จากระดับน้ำทะเล

 

การใช้ประโยชน์           

นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ เนื่องจากทรงพุ่มค่อนข้างสวย

เนื้อไม้: นิยมนำมาเผาถ่าน ให้ถ่านคุณภาพดี บ้างนำมาทำดินปืนและทำถ่านอัดใช้กับบั้งไฟ

ใบและดอกอ่อน: สามารถนำมาดองแล้วรับประทานได้

 

แหล่งข้อมูล: สำนักงานหอพรรณไม้ – กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

 

[qrcode url=”https://adeq.or.th/qr/0003″ margin=”10″ size=”150″ after=”ต้นแจง”]