77 วิธีใช้น้ำอย่างไรให้รู้คุณค่า

หัวข้อ


การใช้น้ำในครัว

  1. ใช้จุกยางสำหรับปิดก้นอ่างล้างจานให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อลดการใช้น้ำจากก๊อกน้ำในการชำระล้างโดยการปล่อยน้ำไหลตลอดเวลา
  2. ใช้ภาชนะรองรับน้ำในการล้างจาน เช่น อ่างล้างจาน หรือกะละมังขนาดพอเหมาะ หรือถ้ามีอ่างล้างจานชนิด 2 หลุมคู่ ใส่น้ำครึ่งหลุมทั้งสองใช้หลุมหนึ่งล้างด้วยน้ำยาล้างจาน ส่วนอีกหลุมใช้ล้างน้ำเปล่า จะช่วยประหยัดน้ำได้มากกว่าการล้างด้วยน้ำที่ไหลตลอดเวลา
  3. ใช้น้ำล้างจานในการรดต้นไม้ในสวนหย่อมนอกอาคารหรือสนามหญ้า เพื่อลดการใช้น้ำประปารดต้นไม้ หรือสนามหญ้า
  4. หลีกเลี่ยงการล้างผัก ด้วยน้ำไหลจากก๊อก ควรใช้ภาชนะรองรับ เป็นอ่างน้ำล้างจาน หรือกะละมัง เพื่อลดการสูญเสียน้ำ และใช้น้ำล้างผักรดต้นไม้ แทนการทิ้งลงในทางระบายน้ำ ที่จะเป็นภาระในระบบบำบัดน้ำเสีย
  5. เตรียมภาชนะรองรับและภาชนะที่ต้องใช้ในการปรุงอาหารให้เพียงพอ และพร้อมสำหรับการใช้งาน ก่อนเริ่มปรุงอาหาร เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้น้ำสิ้นเปลืองในการชำระล้างภาชนะในลักษณะเร่งด่วน ขณะที่มีการปรุงอาหารและการชำระล้างทีละชิ้นสองชิ้น จะใช้น้ำและพลังงานมากกว่าการล้างครั้งละมาก ๆ
  6. เลือกใช้ภาชนะและอุปกรณ์หุงต้มที่มีขนาดเหมาะสม และสอดคล้องกับการใช้งาน เพื่อลดการสูญเสียน้ำ หรือการใช้น้ำสิ้นเปลืองในการชำระล้าง
  7. เตรียมอาหารแต่พอประมาณและสอดคล้องกับความต้องการ เพื่อลดปริมาณอาหารเหลือบริโภคที่จะเป็นภาระในการใช้ภาชนะรองรับและเก็บรักษา และหลีกเลี่ยงความจำเป็นที่จะต้องมีการปรุงอาหารหลายครั้ง
  8. ควรทานอาหารพร้อมกัน หรือในเวลาเดียวกัน เพื่อหลีกเลี่ยงความจำเป็นที่จะต้องชำระล้างภาชนะหลายครั้ง เป็นเหตุให้มีการใช้น้ำสิ้นเปลือง และเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ภาชนะเพิ่มในการอุ่นและจัดหาอาหารเพื่อการบริโภคแต่ละครั้ง ที่จะต้องใช้น้ำชำระล้างมาก
  9. กวาดเศษอาหารออกจากภาชนะทุกชิ้นก่อนการล้าง เพื่อลดการปนเปื้อนของน้ำจากครัว และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการชำระล้างภาชนะ โดยใช้น้ำน้อยลง
  10. กรณีที่ล้างจานด้วยเครื่องให้เปิดเครื่องล้างจานเมื่อมีปริมาณภาชนะที่จะต้องล้างมากพอ ตามกำหนดในแต่ละเครื่อง เลือกซื้อเครื่องล้างจานที่ใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยทั่วไปสำหรับครอบครัวขนาด 4 คน ล้างจานด้วยมือจะใช้น้ำวันละ 18 ลิตร ขณะที่เครื่องจะใช้น้ำมากถึง 23-32 ลิตรต่อการล้างแต่ละครั้ง โดยที่เครื่องบางชนิดจะใช้น้ำ 41-50 ลิตรต่อการล้างแต่ละครั้ง

การใช้น้ำในการซักล้างเสื้อผ้า

  1. หลีกเลี่ยงการซักผ้าครั้งละน้อยๆ ควรรอให้มีผ้าปริมาณมากพอจึงซักจะช่วยลดปริมาณการใช้น้ำ
  2. กรณีที่ซักด้วยเครื่องควรซักผ้าปริมาณที่สอดคล้องกับขีดความสามารถของเครื่อง และเลือกใช้เครื่องซักผ้าที่มีแกนหมุนในแนวนอนแทนชนิดที่มีแกนหมุนในแนวตั้ง โดยทั่วไปเครื่องซักผ้าที่มีแกนหมุนในแนวนอนจะใช้น้ำ 95-113 ลิตรต่อการซักหนึ่งครั้ง ขณะที่เครื่องที่มีแกนหมุนในแนวตั้งใช้น้ำ 132-208 ลิตรต่อการซักแต่ละครั้ง
  3. การซักผ้าปริมาณเท่ากันด้วยมือจะใช้น้ำเป็นครึ่งหนึ่งของการซักด้วยเครื่อง โดยทั่วไปการซักผ้าด้วยเครื่องจะใช้น้ำเฉลี่ย 100 ลิตร ต้องการซักหนึ่งครั้ง
  4. น้ำจากการซักผ้าหากปล่อยลงทางระบายน้ำจะเป็นภาระในการบำบัด และต้องใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้น ขณะที่น้ำส่วนนี้สามารถใช้รดต้นไม้และสนามหญ้า ช่วยลดปริมาณน้ำประปาที่จะใช้ในการรดต้นไม้ และสนามหญ้าได้ นอกจากนี้น้ำจากการซักผ้ายังใช้ชำระล้างพื้นผิวภายนอกอาคารได้อีกด้วย
  5. การทำให้เส้นใยของผ้าอ่อนตัว ง่ายต่อการซักและการทำงานของผงซักฟอกหรือน้ำยาซักฟอกจะช่วยลดปริมาณการใช้ผงซักฟอก ลดการตกค้างของผงซักฟอกในน้ำ และลดความจำเป็นต้องใช้น้ำในการซักรอบสุดท้ายลงได้

การใช้น้ำในการชำระล้างร่างกาย

  1. การใช้อ่างอาบน้ำเป็นกิจกรรมที่ใช้น้ำมากเป็นอันดับสองของการใช้น้ำภายในครัวเรือน และเป็นกิจกรรมที่มีการใช้พลังงานมากเป็นอันดับสองภายในครัวเรือนเช่นเดียวกัน เนื่องจากการทำน้ำร้อนต้องใช้พลังงานไฟฟ้ามาก
  2. การอาบน้ำในอ่างอาบน้ำไม่ได้ทำให้น้ำมีการปนเปื้อนมาก จึงสามารถนำน้ำที่เหลือจากการอาบในอ่างอาบน้ำไปใช้รดต้นไม้ สนามหญ้า และทำความสะอาดพื้นผิวถนนหรือทางเท้าได้
  3. การอาบน้ำจากฝักบัวจะใช้น้ำน้อยกว่าการอาบในอ่างอาบน้ำได้ถึงร้อยละ 27 จึงควรชำระล้างร่างกายด้วยการอาบน้ำจากฝักบัว แทนการอาบน้ำในอ่างอาบน้ำ เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำและพลังงานจากการใช้น้ำลง
  4. การประหยัดน้ำในการอาบน้ำด้วยฝักบัวอาจทำได้โดย การอาบน้ำในช่วงเวลาที่สั้นลงแทนการอาบนาน แต่ละนาทีของการอาบน้ำด้วยฝักบัวจะใช้น้ำ 9 ลิตร ดังนั้นถ้าใช้เวลาน้อยลงก็จะทำให้ใช้น้ำน้อยลงด้วย กรณีที่มีการใช้น้ำร้อนช่วงเวลาของการอาบน้ำจากฝักบัวที่สั้นลง จะใช้พลังงานในการทำน้ำร้อนน้อยลงด้วย
  5. ลดการสูญเสียน้ำจากการอาบด้วยฝักบัว โดยลดปริมาณการไหลของน้ำจากฝักบัวให้พอเหมาะกับการอาบและลดเวลาของการอาบน้ำไม่ให้เกิน 5 นาที สำหรับการอาบน้ำด้วยฝักบัวแต่ละครั้งซึ่งจะใช้มากถึง 45 ลิตร
  6. การลดปริมาณการใช้น้ำในการอาบน้ำด้วยฝักบัวทำได้โดยการปิดน้ำขณะที่มีการฟอกสบู่ ถูตัว และสระผม และเปิดน้ำให้ไหลเพื่อชำระล้างเมื่อเสร็จสิ้น การฟอกสบู่ ถูตัว และสระผม (รูปที่ 21)
  7. การติดตั้งฝักบัวประสิทธิภาพน้ำจะช่วยลดปริมาณการใช้น้ำในการอาบน้ำได้มากและลดการใช้พลังงานลงได้ด้วย
  8. การติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการไหลของน้ำที่บริเวณท่อน้ำก่อนถึงฝักบัวจะช่วยควบคุมการไหลของน้ำมิให้มากกว่า 5 ลิตรต่อนาที จะช่วยลดการใช้น้ำในการอาบน้ำด้วยฝักบัวได้มาก ขณะที่ปริมาณน้ำ 5 ลิตรต่อนาที มากเพียงพอที่จะทำให้มีการอาบน้ำได้อย่างสะดวก สบาย อุปกรณ์ดังกล่าวจะช่วยลดการใช้น้ำได้ 10-20 ลิตร ต่อการอาบน้ำแต่ละครั้ง
  9. ตรวจสอบฝักบัวที่ติดตั้งในห้องอาบน้ำว่าเป็นฝักบัวประหยัดน้ำหรือไม่ โดยใช้ภาชนะขนาด 1 ลิตร รองใต้ฝักบัว และเปิดน้ำทันที จับเวลาดูว่าจะใช้เวลากี่วินาทีจึงจะทำให้น้ำเต็มภาชนะดังกล่าวได้ ซึ่งฝักบัวที่เหมาะสมจะไม่ใช้เวลามากกว่า 8 วินาทีในการจ่ายน้ำให้เต็มภาชนะขนาด 1 ลิตรที่ใช้วัด แต่ถ้าน้ำไหลเต็มภาชนะดังกล่าวโดยใช้เวลาน้อยกว่า 8 วินาที แสดงว่าฝักบัวนี้สมควรได้รับการเปลี่ยนเพื่อให้เกิดการประหยัดน้ำมากขึ้น
  10. ก่อนที่จะอาบน้ำอุ่นจากฝักบัว โดยทั่วไปผู้ใช้น้ำจะเปิดน้ำทิ้งไป 10 – 20 วินาทีเพื่อรอให้น้ำอุ่นได้ที่เสีย ก่อนจึงเริ่มอาบ เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำส่วนนี้ควรใช้ภาชนะรองรับแทนการปล่อยให้ไหลลงทางระบายน้ำเพื่อนำน้ำที่ไม่มีการปนเปื้อนนี้ไปใช้ประโยชน์
  11. หลีกเลี่ยงการเปิดน้ำทิ้งไว้ ขณะโกนหนวด แปรงฟัน หรือล้างหน้า เพื่อลดการสูญเสียน้ำ

การใช้น้ำจากการใช้สุขภัณฑ์

  1. สุขภัณฑ์เป็นอุปกรณ์ใช้น้ำที่มีการใช้น้ำมากที่สุดภายในอาคาร จึงสมควรลดและหลีกการใช้น้ำของสุขภัณฑ์ ด้วยการไม่ใช้สุขภัณฑ์เป็นที่รองรับมูลฝอย เช่น กระดาษทิชชูจากการเช็ดหน้าหรือทำความสะอาดภายในห้องน้ำ เปลือกผลไม้และอื่นๆ เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำ
  2. ทุกครั้งที่มีการกดชักโครกจะมีการใช้น้ำประมาณ 11-15 ลิตร สำหรับครอบครัวขนาด 4 คนจะกดชักโครกวันละ 12-16 ครั้ง จะใช้น้ำรวม 132-176 ลิตรต่อวัน การลดปริมาณการใช้น้ำจากการกดชักโครกแต่ละครั้งทำได้โดยใช้ขวดแก้วขนาด 1 ลิตรใส่น้ำให้เต็มตั้งแทนที่น้ำในถังพักน้ำของสุขภัณฑ์จะช่วยลดการใช้น้ำจากการกดชักโครกแต่ละครั้งได้ 1 ลิตร ถ้าวางสองขวดจะลดได้ครั้งละ 2 ลิตร ควรใช้ขวดแก้วเนื่องจากขวดจะจมและตั้งได้ ถ้าใช้ขวดพลาสติกจะต้องถ่วงด้วยหินเพื่อให้ขวดจม มิฉะนั้น ขวดจะลอยและเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของกลไกการปล่อยน้ำจากถังพักน้ำของสุขภัณฑ์
  3. มีการใช้ก้อนอิฐวางแทนที่น้ำในถังพักน้ำของสุขภัณฑ์ เพื่อลดการใช้น้ำในแต่ละครั้งของการกดชักโครก ซึ่งอาจทำได้ผลเช่นเดียวกับการวางขวดน้ำแต่ก้อนอิฐที่วางอาจสึกกร่อนและทำให้ชิ้นส่วนของอิฐเป็นอุปสรรคต่อกลไกการทำงานของอุปกรณ์ในถังพักน้ำของสุขภัณฑ์ได้ ถ้าสะดวกและต้องการใช้อิฐแทนขวดจริงๆ ควรหุ้มก้อนอิฐด้วยพลาสติกเสียก่อน แล้วจึงวางลงในถังพักน้ำตามต้องการ
  4. เลือกซื้อ ติดตั้งและใช้สุขภัณฑ์ประหยัดน้ำเมื่อมีการดัดแปลงต่อเติมอาคารหรือสร้างอาคารใหม่ แทนการเลือกใช้สุขภัณฑ์ทั่วไปที่ใช้น้ำ 15-20 ลิตร ต่อการกดชักโครกแต่ละครั้ง รุ่นประหยัดน้ำมีวางจำหน่ายทั่วไปใช้น้ำ 4-6 ลิตร สามารถลดการใช้น้ำได้ 4-5 ลิตร
  5. แยกติดตั้งโถสุขภัณฑ์ปัสสาวะออกต่างหากเพื่อลดการใช้น้ำ ปริมาณน้ำที่ต้องใช้ในการทำความสะอาดโถสุขภัณฑ์ปัสสาวะจะน้อยกว่าการใช้น้ำในโถสุขภัณฑ์ถึง 3 เท่า การติดตั้งโถปัสสาวะแยกต่างหากสำหรับสุภาพบุรุษจะช่วยลดการใช้น้ำได้มาก
  6. ตรวจสอบการรั่วไหลของน้ำในสุขภัณฑ์สม่ำเสมอ ประเก็นยาง หรือลูกลอยที่แช่อยู่ในน้ำที่คลอรีนตลอด 24 ชั่วโมง 365 วันจะเสื่อมได้ และเมื่อเสื่อมด้วยการแตก กรอบ จะไม่สามารถปิดหรือหยุดการไหลของน้ำได้อย่างดี จึงเกิดการรั่วไหลของน้ำ ซึ่งอาจตรวจได้โดยการใช้สีผสมอาหารใส่ลงในน้ำในถึงพักน้ำของสุขภัณฑ์และภายใน 10 นาที ถ้าพบว่ามีสีดังกล่าวไหลรินในโถสุขภัณฑ์แสดงว่ามีการรั่ว ให้ตรวจสอบจุดที่รั่วและเปลี่ยนอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง หรือจะใช้กระดาษทิชชูวางตามแนวผนังด้านในของโถสุขภัณฑ์ ถ้าพบว่ากระดาษทิชชูดังกล่าวเปียกแสดงว่ามีการรั่วของชุดสุขภัณฑ์ดังกล่าวให้หาตำแหน่งที่รั่วและซ่อมทันที

การใช้น้ำนอกอาคาร

  1. ต้นไม้ทุกชนิดต้องการน้ำในการผลิตอาหารและเจริญเติบโต การปลูกต้นไม้จำเป็นต้องใช้น้ำปริมาณมาก แนวทางการลดปริมาณการใช้น้ำในการปลูกต้นไม้ 2 ประการ คือ การลดพื้นที่ปลูกหญ้า และเลือกปลูกพืชทนแล้ง หรือพืชที่ใช้น้ำน้อย
  2. ดินแข็งและอัดแน่นจะทำให้น้ำไหลล้นผ่านได้ง่ายและเร็ว ถ้ามีการพรวนดินได้ลึกและดีพอจะช่วยให้น้ำซึมลงใต้ดินได้มากและเป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของพืช
  3. การเพิ่มสารอินทรีย์ให้แก่ดิน และมีการคลุกผสมเข้ากันดีจะช่วยทำให้ดินอุ้มน้ำ มีการซึมของน้ำได้มาก ทำให้มีการพาแร่ธาตุลงสู่ดินชั้นล่าง ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ต่อการปลูกพืชติดหรือใกล้กันได้ เป็นผลให้มีการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
  4. พรวนและแต่งวงรอบโคนต้นไม้โดยรอบ จะช่วยให้มีการกักเก็บและเพิ่มการซึมของน้ำได้ดี เป็นประโยชน์ต่อการเติบโตของพืช และลดการสูญเสียน้ำในขั้นตอนการให้น้ำแก่พืช
  5. ปรับดินให้ได้ระดับภายหลังการพรวนดินและปลูกต้นไม้แต่ละครั้ง เพื่อลดความเร็วของการไหลของน้ำที่ผิวดิน และทำให้น้ำไหลซึมลงสู่ดินชั้นล่างได้มากขึ้น
  6. ปกคลุมดินด้วยวัสดุคลุมดินโดยรอบโคนต้นไม้เสมอ วัสดุคลุมดินทั้งชนิดที่เป็นสารอนินทรีย์ ได้แก่ หิน กรวดชนิดต่าง ๆ และสารอินทรีย์ ได้แก่ ใบไม้ กิ่งไม้ ฟาง เปลือกไม้ ขี้เลื่อย และแกลบ วัสดุคลุมดินเหล่านี้จะช่วยลดการระเหยของน้ำ และลดการไหลล้นผ่านของน้ำบริเวณผิวดินได้มาก ช่วยให้การใช้น้ำของพืชมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น
  7. การใช้วัสดุคลุมดินจะช่วยปรับอุณหภูมิของดินให้เหมาะสมตลอดทั้งปี ทำให้รากพืชทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ
  8. วัสดุคลุมดินยังช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของวัชพืช ที่คอยแย่งอาหารและน้ำจากดินที่พืชอาศัย จึงมีส่วนช่วยให้การใช้น้ำของพืชมีประสิทธิภาพและมีการสูญเสียน้อยลง
  9. วัสดุคลุมดินที่เป็นสารอินทรีย์ จะค่อยๆ สลาย และปลดปล่อยธาตุอาหารให้แก่ดิน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของพืช และช่วยลดการสูญเสียน้ำ ที่รดลงดินให้แก่พืช
  10. หลีกเลี่ยงการให้น้ำแก่พืชในเวลากลางวัน ในช่วงฤดูร้อน ซึ่งจะมีการระเหยของน้ำมากและน้ำที่รดลงดินขณะที่ดินมีความร้อนสูงจากการตากแดดจะทำให้น้ำร้อนขึ้นและเป็นอันตรายต่อพืชได้
  11. ให้น้ำแก่พืชในตอนเช้าและหลีกเลี่ยงการรดน้ำขณะที่มีลมแรง เพื่อลดการสูญเสียจากการระเหย ช่วงเวลาที่เหมาะสมคือตั้งแต่รุ่งเช้าจนถึง 9.00 นาฬิกาในตอนเช้า
  12. การให้น้ำแก่พืชไม่ควรให้บ่อย แต่ควรให้น้ำอย่างทั่วถึง และลึกลงไปในดินเพื่อกระตุ้นให้มีการเติบโตของราก จะทำให้พืชสามารถทนแล้งได้ดีในฤดูร้อน การให้น้ำสัปดาห์ละครั้งเป็นเวลาติดต่อกันถึงครึ่งชั่วโมงจะดีกว่าการให้น้ำทุกวันๆละ สิบนาที
  13. รองรับและเก็บน้ำฝนในภาชนะกักเก็บเพื่อใช้ในการเพาะปลูกพืช ปริมาณน้ำฝน 5 มิลลิลิตรบนเนื้อที่ หลังคา 100 ตารางเมตร จะได้ปริมาณน้ำฝนมากถึง 500 ลิตร
  14. ติดตั้งและใช้การชลประทานน้ำหยดแทนการใช้สปริงเกอร์ จะช่วยลดปริมาณน้ำได้มากถึงร้อยละ 60 เป็นการให้น้ำที่มีประสิทธิภาพมาก สำหรับการปลูกพืชผักหรือพืชที่ต้องการน้ำปริมาณไม่มากแต่ต่อเนื่อง
  15. การให้น้ำพืชด้วยสปริงเกอร์ที่จ่ายน้ำเป็นหยดขนาดใหญ่ และในระดับต่ำจะมีการสูญเสียน้ำน้อยกว่าการจ่ายน้ำเป็นละอองขนาดเล็กและเป็นฝอย ซึ่งจะมีการพัดพาของลมและการระเหยมาก
  16. ระบบการให้น้ำอัตโนมัติควรมีการปรับแต่งให้สอดคล้องกับฤดูกาล ช่วงเวลาของวัน และปริมาณน้ำฝนเพื่อลดการสูญเสียน้ำที่ไม่จำเป็น
  17. ควรหลีกเลี่ยงการให้น้ำแก่พืชทันที ภายหลังฤดูหนาว ซึ่งดินยังคงมีความชื้นที่เป็นประโยชน์ต่อการเติบโตของพืช ควรให้เวลาปรับปรุงดิน เพื่อพืชจะได้นำธาตุอาหารจากดินไปใช้ได้อย่างเต็มที่
  18. ตรวจสอบให้มีการให้น้ำแก่พืชในแต่ละสัปดาห์ไม่เกินความสูงของน้ำ 3 เซนติเมตร ซึ่งจะเป็นปริมาณเพียงพอที่พืชต้องการในแต่ละช่วงการเจริญเติบโต การจับเวลาการทำงานของสปริงเกอร์ให้ได้ปริมาณน้ำ 3 เซนติเมตรจะช่วยให้การให้น้ำแก่พืชมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
  19. ตรวจสอบให้สปริงเกอร์มีรัศมีจ่ายน้ำให้แก่พืชและพื้นที่เพาะปลูก ไม่ใช่พื้นผิวถนน ทางเท้า หรืออาคาร ซึ่งจะเป็นการสูญเสียน้ำ
  20. การรดน้ำต้นไม้บริเวณพื้นที่เพาะปลูกขนาดเล็กด้วยกระป๋องฝักบัว หรือสายยางติดหัวฝักบัวจะมีการสูญเสียน้ำน้อยกว่าการใช้สปริงเกอร์ และทำให้พืชได้น้ำเพื่อประโยชน์ในการเติบโตได้อย่างเพียงพอ
  21. ไม่ควรตัดหญ้าสั้นจนเกินไปในฤดูแล้ง ควรให้หญ้ามีความสูงอย่างน้อย 4 เซนติเมตรจากพื้นดิน เนื่องจากการตัดหญ้าสั้นมากจะลดความลึกของรากพืชที่จะหาอาหารและความชื้น อีกทั้งหญ้าที่ปกคลุมดินน้อยลงจะทำให้มีการระเหยของน้ำได้มากขึ้น ทำให้ดินแห้งเร็ว
  22. เพิ่มการไหลเวียนของอากาศในดินด้วยการพรวนดิน หรือพลิกดินสม่ำเสมอจะช่วยให้น้ำซึมผ่านเข้าไปในดินได้มาก
  23. ชลอการปลูกหญ้า และพืชไม้ประดับ จนถึงฤดูฝน หรือปลายฤดูฝน เพื่อลดความจำเป็นที่จะต้องให้น้ำแก่พืชที่ปลูกใหม่
  24. ปรับแต่งพื้นผิวหน้าดินด้วยวัสดุที่มีความแข็งและทนต่อการกัดเซาะของน้ำ แทนการปูหญ้า เพื่อลดการใช้น้ำและการดูแลรักษา เช่น บนพื้นที่มีความชัน ในที่ร่มของอาคาร หรือสิ่งปลูกสร้างใดๆ
  25. จัดกลุ่มพืชตามระดับความต้องการน้ำ เพื่อลดการสูญเสียน้ำจากการให้น้ำแก่พืชที่ไม่ต้องการน้ำมากและถูกนำมาไว้รวมกับพืชที่ต้องการน้ำมาก
  26. เลือกปลูกพืชท้องถิ่นที่ทนแล้ง ทนโรคพืช และมีการปรับตัวน้อยที่สุด ซึ่งจะดูแลรักษาได้ง่ายกว่าการปลูกพืชต่างถิ่น เมื่อพิจารณาการใช้น้ำ พืชท้องถิ่นจะสามารถเติบโตได้แม้จากปริมาณน้ำฝนเพียงอย่างเดียว
  27. ควบคุมและกำจัดวัชพืช ที่คอยแย่งอาหารและน้ำจากพืชที่ปลูก
  28. ติดตั้งมาตรวัดปริมาณน้ำฝนเพื่อตรวจสอบปริมาณการรับน้ำของดินและพืช ถ้าพบว่าได้น้ำเพียงพอ การรดน้ำจะมีความจำเป็นน้อยลง ช่วยป้องกันการได้น้ำแก่พืชมากเกินไป และช่วยลดการสูญเสียน้ำในการปลูกพืช
  29. การเปลี่ยนน้ำตู้ปลาแต่ละครั้งสามารถใช้น้ำจากตู้ปลาในการรดต้นไม้จะช่วยให้พืชมีการเจริญเติบโตดี ขึ้น เช่นเดียวกับการใช้น้ำจากแจกันดอกไม้ให้เป็นประโยชน์ต่อการปลูกพืช แทนการเทน้ำลงทางระบายน้ำ ซึ่งจะเป็นภาระในการบำบัด
  30. หลีกเลี่ยงการใช้น้ำจากสายยางฉีดทำความสะอาดพื้นผิวโดยตรง ควรกวาดทำความสะอาดเศษผงต่าง ๆ บริเวณพื้นผิวแทนจะช่วยลดปริมาณการใช้น้ำได้อย่างมาก
  31. ล้างรถด้วยน้ำในภาชนะแทนการล้างด้วยสายยางปลายเปิด ซึ่งจะใช้น้ำมาก

การใช้น้ำในสถานที่ทำงาน

  1. ส่งเสริมบทบาทการมีส่วนร่วมของพนักงานในการประหยัดน้ำด้วยกิจกรรมหลากหลาย ตั้งแต่การตรวจสอบการรั่วไหล การสำรวจพฤติกรรมการใช้น้ำที่ไม่เหมาะสม และการทำงานที่ผิดปกติของอุปกรณ์ใช้น้ำต่าง ๆ
  2. เชิญชวนพนักงานเข้าร่วมกิจกรรมการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และจิตสำนึกในการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และเชิญชวนให้พนักงานส่งความคิดสร้างสรรค์ในการประหยัดน้ำ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานขององค์กร
  3. จัดให้มีการตรวจสอบปริมาณการใช้น้ำภายในสถานที่ต่าง ๆ ขององค์กร เพื่อทราบปริมาณการใช้น้ำ การสูญเสีย และการสิ้นเปลืองน้ำ รวมทั้งการรั่วไหลในจุดต่าง ๆ ของการใช้น้ำทั้งหมด
  4. จัดทำสื่อเผยแพร่ภายในและภายนอกองค์กร เพื่อสร้างความเข้าใจและตระหนักในความจำเป็นที่จะต้องมีการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า และเชิญชวนผู้ใช้บริการหรือลูกค้าร่วมรณรงค์การประหยัดน้ำในโอกาสต่าง ๆ ด้วย
  5. ให้การสนับสนุนและความร่วมมือในกิจกรรมรณรงค์ของรัฐและองค์กรเอกชนทั้งในส่วนกลางและในท้องถิ่น ในการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ในทุกโอกาสอย่างต่อเนื่อง
  6. กรณีที่มีการก่อสร้าง ดัดแปลงหรือต่อเติมอาคาร ควรลดการสูญเสียน้ำด้วยการออกแบบอาคารให้สามารถใช้ประโยชน์จากการรองรับและกักเก็บน้ำฝนได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งการสำรองน้ำเพื่อให้ระบบการจ่ายน้ำภายในอาคารสามารถจ่ายน้ำไปยังส่วนต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  7. ติดตั้งมาตรวัดน้ำแยกส่วนจากมาตรวัดน้ำรวม เพื่อติดตามปริมาณการใช้น้ำ ตรวจสอบการรั่วไหล และการปรับปรุงให้มีการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ

การติดตั้งระบบจ่ายน้ำ

  1. ออกแบบอาคารให้สามารถรองรับการสำรองน้ำบนโครงสร้างของอาคาร เพื่อให้สามารถจ่ายน้ำไปยังส่วนต่าง ๆ ของอาคารตามแรงโน้มถ่วงได้
  2. ไม่เพิ่มแรงดันและปริมาณการไหลของน้ำในสายส่งน้ำภายในและภายนอกอาคารทั้งหมด โดยการติดตั้งปั๊มน้ำเพื่อเร่งการจ่ายน้ำไปยังส่วนต่าง ๆ ของอาคาร
  3. ไม่ติดตั้งปั๊มน้ำบนเส้นท่อที่จะทำให้แรงดันของน้ำในระบบจ่ายน้ำของการประปาเปลี่ยนแปลง
  4. ติดตั้งภาชนะรองรับน้ำจากท่อส่งน้ำของการประปาให้ได้ปริมาณเพียงพอต่อการใช้ภายในและภายนอกอาคาร อย่างน้อย 2 วัน เพื่อพักน้ำก่อนส่งน้ำไปเก็บไว้ในภาชนะรองรับและเก็บกักน้ำ  เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำจากการไหลท่วมภาชนะเก็บกักน้ำบนที่สูงของอาคาร
  5. ติดตั้งลูกลอยหรืออุปกรณ์ควบคุมการไหลของน้ำจากท่อน้ำที่ไหลเข้าภาชนะรองรับ และเก็บกักน้ำ เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำจากการไหลท่วมภาชนะรองรับและเก็บกักน้ำ
  6. ปิดวาวน้ำเข้าบ้านและวาวน้ำจากภาชนะเก็บกักน้ำในที่สูงของอาคารทุกครั้ง เมื่อมีการซ่อมแซม ติดตั้ง  หรือก่อสร้างใด ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสายส่งน้ำภายในและภายนอกอาคาร
  7. แสดงหมายเลขโทรศัพท์  สถานที่  และบุคคลที่จะต้องติดต่อ  เมื่อมีเหตุขัดข้องเกี่ยวกับการจ่ายน้ำของการประปา  รวมทั้งการซ่อมบำรุง  กรณีที่มีการรั่วซึม  แตก  หรือชำรุดของระบบส่งน้ำของการประปา  และจัดเตรียมอุปกรณ์ซ่อม  เช่น  กาว  ท่อน้ำ  ข้อต่อ  เทป  หัวก๊อก

หลักสูตรที่ศูนย์รวมตะวัน