การเลือกซื้อและใช้ตู้เย็นอย่างไรให้ประหยัดพลังงาน

การเลือกซื้อตู้เย็น

1.เลือกซื้อตู้เย็นที่มีขนาดสอดคล้องกับความต้องการของครอบครัว  กรณีที่เคยใช้ตู้เย็นมาก่อน ขนาดตู้เดิมจะเป็นพื้นฐานที่จะตอบคำถามได้ว่าตู้เย็นหลังใหม่ควรมีขนาดเท่าใด กี่ลูกบาศก์ฟุต  ทั้งนี้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเก็บของในตู้เย็นจะช่วยลดความจำเป็นที่จะต้องใช้ตู้เย็นขนาดใหญ่ลงได้  ปริมาณการใช้ไฟฟ้าเป็นสัดส่วนโดยตรงกับขนาดของตู้เย็น

  1. ตู้เย็นที่มีการละลายน้ำแข็งอัตโนมัติ จะใช้พลังงานมากกว่าตู้เย็นที่ละลายน้ำ แข็งด้วยการกดปุ่ม
  2. ตู้เย็นที่มีเครื่องทำน้ำดื่มและน้ำแข็ง ที่สามารถรองรับน้ำดื่มและน้ำแข็งโดยไม่ต้องเปิดประตูตู้เย็นจะเพิ่มความสะดวกสบายแก่การใช้ประโยชน์  โดยลดความจำเป็นที่จะต้องเปิดประตูตู้เย็นบ่อยครั้งและช่วยทำให้อุณหภูมิของพื้นที่ทำความเย็นคงที่สม่ำเสมอ  แต่ขณะเดียวกันตู้เย็นชนิดนี้จะใช้พลังงานไฟฟ้ามากกว่าตู้เย็นที่ไม่มีเครื่องทำน้ำเย็นและน้ำแข็ง
  3. ตู้เย็นเบอร์ 5 มีประสิทธิภาพพลังงานมากกว่าตู้เย็นเบอร์ 4,3 และเบอร์อื่น ที่น้อยกว่า เลือกซื้อตู้เย็นที่ไม่ใช้สารประกอบ CFC  ในการทำความเย็น เพื่อลดผลกระทบต่อชั้นโอโซนในบรรยากาศ
  4. เลือกซื้อตู้เย็นที่มีฉนวนโดยรอบหนา หรือมีฉนวนป้องกันการสูญเสียความเย็นที่มีประสิทธิภาพ
  5. เลือกซื้อตู้เย็นสีอ่อน จะทำให้การสะท้อนแสงภายในห้องที่ติดตั้งตู้เย็นดีขึ้น  ช่วยลดความจำเป็นที่จะต้องใช้หลอดแสงสว่างมาก

ตู้เย็นประหยัดพลังงาน

การใช้ตู้เย็นอย่างเหมาะสมเพื่อช่วยให้ประหยัดพลังงาน มีรายละเอียดดังนี้

  1. เลือกติดตั้งตู้เย็นในที่ที่เหมาะสม ไม่ถูกแสงแดด ไม่อยู่ใกล้เตาประกอบหรือหุงต้มอาหารทุกชนิด อยู่ห่างจากผนังโดยรอบพอสมควร เพื่อความสะดวกในการทำความสะอาดและระบายความร้อนของตู้เย็น
  2. ตู้เย็นที่บรรจุของเต็มจะใช้พลังงานน้อยกว่าตู้เย็นที่ว่างเปล่าหรือไม่เต็ม ของที่แช่อยู่ในช่องแช่แข็งที่เต็มจะช่วยทำให้อุณหภูมิของตู้เย็นกลับสู่ภาวะปกติได้เร็วภายหลังจากการเปิดประตูตู้เย็นแต่ละครั้ง
  3. จัดการกับตู้เย็นเก่า ภายหลังจากการติดตั้งตู้เย็นประสิทธิภาพพลังงานหลังใหม่แล้วอย่างเหมาะสม การเก็บรักษาและใช้ตู้เย็นเก่าที่ไม่มีประสิทธิภาพเป็นตู้เย็นสำรอง จะทำให้การใช้ตู้เย็นใหม่ที่มีประสิทธิภาพไม่ได้ช่วยลดการใช้พลังงานใด  ๆ  เพียงแต่ช่วยเพิ่มเนื้อที่ในการเก็บมากขึ้นเท่านั้น
  4. การดูดฝุ่นทำความสะอาดด้านหลังตู้เย็นสม่ำเสมอ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของตู้เย็นได้มาก
  5. ตรวจสอบและทำความสะอาดยางขอบประตูตู้เย็นสม่ำเสมอ และบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ดีปิดได้สนิท ทดสอบโดยใช้ธนบัตรหรือกระดาษวางในตำแหน่งต่าง ๆ ระหว่างยางของประตูกับตู้เย็นแล้วปิดประตูตู้เย็น ค่อย ๆ ดึงธนบัตรหรือกระดาษออก ถ้าดึงออกได้โดยง่ายความเย็นภายในตู้เย็นจะมีการรั่วไหลออกจากตู้เย็น การปรับตั้งประตูหรือยางขอบประตู อาจช่วยให้การรั่วไหลของความเย็นลดลงได้ (รูปที่ 4)
  6. คลุมอาหารหรือของที่แช่ในตู้เย็นที่มีความชื้นก่อนแช่ในตู้เย็น อาหารเปียกชื้นจะทำให้คอมเพรสเซอร์ทำงานหนักขึ้น
  7. หมั่นละลายน้ำแข็งสม่ำเสมอ เมื่อมีการสะสมของน้ำแข็งมากเกินกว่าเครื่องหมายแสดงในตู้เย็น (ปุ่มแดง หรือสัญลักษณ์อื่น)
  8. ปล่อยให้อาหารร้อนเย็นตัวลงภายนอกตู้เย็น ก่อนนำเข้าเก็บไว้ในตู้เย็น
  9. ตรวจสอบและติดตั้งการทำความเย็นของตู้เย็นให้อยู่ที่ระดับเหมาะสม คือในพื้นที่แช่เย็นทั่วไปที่อุณหภูมิ 3-5 องศาเซลเซียส และที่ช่องแช่แข็งที่อุณภูมิ – 10 ถึง – 15 องศาเซลเซียส การตรวจวัดอาจต้องใช้เทอร์โมมิเตอร์เนื่องจากตู้เย็นโดยทั่วไปจะไม่บอกอุณหภูมิภายในตู้เย็น
  10. เก็บสิ่งของหรืออาหารที่ต้องการใช้บ่อยในพื้นที่ใกล้มือภายในตู้เย็น เพื่อความ สะดวกในการหยิบใช้ และการแสดงชื่อหรือเครื่องหมายบนอาหารที่เก็บในตู้เย็นอย่างชัดเจน และหาง่ายจะช่วยลดเวลาในการเปิดหาของในตู้เย็น