ชื่อไทย                  มะกอก (Hog plum)

ชื่อท้องถิ่น             กูก (เชียงราย)  กอกเขา (นครศรีธรรมราช)

ชื่อวิทยาศาสตร์     Spondias pinnata (L.f.) Kurz

วงศ์      ANACADIACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลักษณะทั่วไป ไม้ต้น ขนาดใหญ่ สูง 15 – 20 เมตร ผลัดใบ เรือนยอดกลมกว้าง ค่อนข้างโปร่ง เปลือกต้นสีเทาอมน้ำตาล ค่อนข้างเรียบ หรือแตกเป็นร่องตื้นตามแนวยาว เปลือกในสีชมพูสลับขาว

ลักษณะใบ ใบประกอบขนนกชั้นเดียว ปลายใบคี่ เรียงเวียนสลับที่ปลายกิ่ง ใบย่อยรูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง 3 – 4 เซนติเมตร ยาว 7 – 12 เซนติเมตร เรียงตรงข้าม หรือเรียงเยื้องกันเล็กน้อย โคนใบเบี้ยว ขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย ปลายใบเป็นติ่งแหลม แผ่นใบบางแต่ค่อนข้างเหนียว สีเขียวเข้ม เรียบ เกลี้ยง ใบอ่อนสีน้ำตาลแดง ใบแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทอง

ลักษณะดอก ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ซอกใบ หรือเหนือรอยแผลใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นถ้วย ปลายแยกเป็น 5 แฉก กลีบดอกสีขาวอมเหลือง 5 กลีบ รูปไข่แคบ ปลายโค้งแหลม เกสรเพศผู้สีเหลืองเป็นกระจุก 8 – 10 อัน

ลักษณะผล ผลมีเนื้อเมล็ดเดียว ทรงกลม หรือรูปไข่ กว้าง 2 – 2.5 เซนติเมตร ยาว 3 3 4.5 เซนติเมตร ผลอ่อนสีเขียว เมื่อสุกสีน้ำตาลอมเหลือง ชั้นหุ้มเมล็ดรูปไข่ แข็ง ผิวเป็นเสี้ยน ขรุขระ ภายในมีแกนรูปดาว เมล็ดสีน้ำตาล รูปรี

ระยะการออกดอกติดผล

ออกดอกเดือนกุมพาพันธ์ – เดือนมีนาคม ติดผลเดือนเมษายน – เดือนมิถุนายน

เขตการกระจายพันธุ์

มีถิ่นกำเนิดมาจากทางตอนใต้ของจีนและเอเชียตะวันออก พบทั่วไปตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณและป่าดิบแล้งทั่วไปที่มีความสูง 50 – 500 จากระดับน้ำทะเล

การใช้ประโยชน์           

เปลือกและใบ: ใช้เป็นยาบำรุงตา ช่วยให้ชุ่มคอ แก้กระหายน้ำ เลือดออกตามไรฟัน

ยอดอ่อนและใบอ่อน: ใช้รับประทานเป็นผักสด กินกับส้มตำ ลาบ ยำ อาหรที่มีรสจัด

ใบ: เคี้ยวกินแก้ท้องเสีย

ผล: ผลสดมีรสเปรี้ยวใช้ตำน้ำพริก ส้มตำ และปรุงอาหารอื่นๆ ที่ต้องกากรสเปรี้ยว

แหล่งข้อมูล: สำนักงานหอพรรณไม้ – กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

[qrcode url=”https://adeq.or.th/qr/0019″ margin=”10″ size=”150″ after=”ต้นมะกอก”]