ชื่อไทย                  มะขามป้อม (Indian gooseberry, Malacca tree)

ชื่อท้องถิ่น             กำทวด (ราชบุรี)

ชื่อวิทยาศาสตร์     Phyllanthus emblica L.

วงศ์       PHYLLANTHACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์         

ลักษณะทั่วไป ไม้พุ่มขนาดใหญ่ หรือไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 8 – 12 เมตร เรือนยอดรูปร่มแผ่กว้าง ปลายลู่ลง เปลือกสีน้ำตาลปนเทาผิวค่อนข้างเรียบ หรือแตกเป็นร่องตามความยาวของลำต้น เปลือกในสีชมพู

ลักษณะใบ ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ใบรูปขอบขนาน กว้าง 0.25 – 0.5 เซนติเมตร ยาว 0.8 – 1.2 ซม. โคนใบมนแคบเข้าหาก้านใบ ขอบใบเรียบ ปลายใบมนป้าน ใบเรียงชิดติดกันดูเผินๆ เหมือนใบประกอบ

ลักษณะดอก ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามง่ามใบ ดอกย่อยสีเขียวอ่อน หรือขาวนวล ขนาดเล็ก ดอกแยกเพศร่วมต้น  กลีบเลี้ยง 6 กลีบ ไม่มีกลีบดอก ดอกเพศผู้ มีเกสรเพศผู้ 3 อัน ดอกเพศเมีย มีฐานรองดอกเป็นรูปถ้วย ขอบถ้วยหยัก เกสรเพศเมีย 1 อัน

ลักษณะผล ผลมีเนื้อเมล็ดเดียวแข็ง ลักษณะกลม มีเนื้อหนา เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.2 – 2 เซนติเมตร ผลอ่อนสีเขียวอ่อน ผลแก่สีเขียวอมเหลือง เนื้อรับประทานได้ มีรสฝาด เปรี้ยว ขม และอมหวาน เปลือกหุ้มเมล็ดแข็ง มีสันตามยาว 6 สัน ภายในมี 6 เมล็ด

ระยะการออกดอกติดผล

ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ – เดือนมีนาคม ติดผลเดือนเมษายน – เดือนพฤษภาคม

เขตการกระจายพันธุ์

พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณแล้ง ป่าเต็งรัง และป่าแดงทั่วไป ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 150 – 300 เมตร มีมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคกลางของประเทศไทย ในต่างประเทศพบได้ทั่วไปใน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การใช้ประโยชน์ 

เนื้อไม้: ใช้ทำเสาอาคารบ้านเรือนขนาดเล็ก  ไม้กระดาน ด้ามเครื่องมือการเกษตร ทำฟืน เผาถ่าน

เปลือกและใบ: ให้สีน้ำตาลแกมเหลือง ใช้ย้อมผ้า

ดอก: มีกลิ่นหอมคล้ายผิวมะนาว ใช้เข้าเครื่องยาเป็นยากเย็นและยาระบาย

ผล: ผลสุกนำมารับประทานสด ทำให้ชุ่มคอแก้กระหายน้ำ แก้ไอ และใช้เป็นยาขับพยาธิ

แหล่งข้อมูล: สำนักงานหอพรรณไม้ – กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

[qrcode url=”https://adeq.or.th/qr/0020″ margin=”10″ size=”150″ after=”ต้นมะขามป้อม”]