ชื่อไทย                         สะแกนา

ชื่อท้องถิ่น                แก (อุบลราชธานี) แพ่ง(เหนือ) ขอนเเข้ จองแค่(แพร่) สะแก ซังแก

ชื่อวิทยาศาสตร์          Combretum quadrangulare Kurz.

ชื่อวงศ์                         COMBRETACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลักษณะทั่วไป จัดเป็นไม้ยืนต้นที่มีความสูงของต้นประมาณ 5-10 เมตร (บ้างว่าสูงได้ประมาณ 15-20 เมตร) เปลือกต้นเรียบเป็นสีเทานวล ตามกิ่งอ่อนเป็นสันสี่มุม ส่วนต่างๆ ของลำต้นมีขนเป็นเกล็ดกลม ๆ ต้นสะแกนาที่มีอายุมากบริเวณโคนต้นจะพบหนามแหลมยาวและแข็ง หรือเป็นกิ่งที่แปรสภาพไปเป็นหนามสั้นตามโคนต้น

ลักษณะใบ ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้าม ลักษณะของใบเป็นรูปรี รูปไข่กลับ หรือรูปไข่กลับแกมขอบขนาน ปลายใบมนหรือเว้าเป็นแอ่งตื้น ๆ โคนใบสอบแคบไปยังก้านใบ ส่วนขอบใบเรียบหรือหยักเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-15 เซนติเมตร

ลักษณะดอก ดอกมีขนาดเล็กสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและที่ปลายยอด ช่อดอกเป็นแบบช่อเชิงลด ยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร ไม่มีก้านดอก ในช่อหนึ่งจะมีดอกขนาดเล็กจำนวนมาก กลีบเลี้ยงที่โคนที่เชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ส่วนปลายแยกเป็นกลีบ 4 กลีบ กลีบเลี้ยงเป็นสีขาวอมเหลือง ส่วนกลีบดอกมี 4 กลีบ สีขาวอมเหลือง ลักษณะเป็นรูปไข่กลับ ปลายมน หลุดร่วงได้ง่าย ดอกมีเกสรเพศผู้ 8 อัน เกสรเพศเมีย มีรังไข่เหนือวงกลีบ

ลักษณะผล ผลเป็นผลแห้ง ขนาดประมาณ 1-2 เซนติเมตร ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ มีครีบ 4 ครีบ สีน้ำตาลอมขาว ผลเมื่อแก่หรือสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองสีน้ำตาล ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาลแดง 2เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปกระสวย มีสัน 4 สัน ตามยาว

ระยะการออกดอกติดผล

ออกดอกช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม

ขตการกระจายพันธุ์  

อินเดียจนถึงคาบสมุทรอินโดจีน พบได้ตามป่าละเมาะทั่วไป ป่าเต็งรัง หรือริมธารน้ำชายป่า ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลต่ำกว่า 250 เมตร

การใช้ประโยชน์        

ผลดิบ : นำมาแช่กับน้ำไว้ให้วัวหรือควายกินเป็นยาขับพยาธิได้

ลำต้น : ชาวบ้านมักจะเอาต้นสะแกนาไปทำฟืนกันมาก เพราะแก่นของต้นสะแกนามีความแข็ง

แหล่งข้อมูล :   https://rspg.kku.ac.th/?p=5898

http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=115