ชื่อไทย         สัตบรรณ (Blackboard tree, Devil tree, Indian devil tree, Milkwood pine, White cheesewood)

ชื่อท้องถิ่น    ชบา ตีนเป็ด พญาสัตบรรณ (ภาคกลาง) ยางขาว (ลำปาง) หัสบรรณ (กาญจนบุรี) ตีนเป็ดดำ (นราธิวาส) บะซา ปูลา ปูแล (ปัตตานี)

ชื่อวิทยาศาสตร์     Alstonia scholaris (L.) R. Br.

วงศ์    APOCYNACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลักษณะทั่วไป ไม้ต้น ขนาดใหญ่ สูงได้ถึง 40 เมตร ผลัดใบ เรือนยอดแผ่เป็นชั้นๆ ลำต้นเปลาตรง เปลือกนอกสีน้ำตาลหรือขาวอมเหลือง เป็นขุยสะเก็ดเล็กๆ เปลือกในสีเหลืองถึงน้ำตาล หรือสีน้ำตาลอมครีม ทุกส่วนของต้นมีน้ำยางสีขาว

ลักษณะใบ ใบเดี่ยว เรียงวงรอบข้อ ใบรูปรี รูปไข่กลับ หรือรูปใบพาย กว้าง 1.5 – 8 เซนติเมตร ยาว 4 – 32 เซนติเมตร โคนใบรูปลิ่ม หรือเป็นสอบเรียว ขอบใบเรียบ ปลายใบมนกลม เส้นใบตรงและขนานกัน

ลักษณะดอก ช่อซี่ร่มประกอบ ออกที่ปลายกิ่ง ดอกสีขาวหรือเขียวอมเหลือง กลีบเลี้ยงเชื่อมกันเป็นหลอดปลายแยกเป็น 5 แฉก ยาว 1 – 2 มิลลิเมตร กลีบดอกเชื่อมกันเป็นหลอดยาว 6 – 10 มิลลิเมตร ปลายหลอดแยกเป็น 5 แฉก ขนาดยาว 1.7 – 1.5 มิลลิเมตร เกสรเพศผู้ติดกับส่วนบนขอบหลอดกลีบดอกและยาวไม่พ้นกลีบดอก

ลักษณะผล ผลแห้งแก่แล้วแตกแนวเดียว ฝักยาวออกเป็นคู่ฝัก กว้าง 0.2 – 0.3 มิลลิเมตร ยาว 2 – 5.5 เซนติเมตร เมล็ดรูปทรงกระบอก ขอบขนาน ปลายโค้งมน ขนาด 4 – 7.5 มิลลิเมตร มีขนละเอียดคลุม

ระยะการออกดอกติดผล

ออกดอกในช่วงต้นของฤดูหนาว ติดผลหลังจากออกดอก

เขตการกระจายพันธุ์

พบตามป่าดงดิบ ป่าดิบแล้ง หรือป่าเบญจพรรณบริเวณริมน้ำ ที่ระดับความสูง 150 – 1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเล

การใช้ประโยชน์           

นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ

เนื้อไม้: ใช้ทำโครงสร้างส่วนต่าง ๆ ของบ้าน ทำเป็นไม้ฟืน

เปลือก: ต้มน้ำดื่มแก้ไอ แก้หวัด หรือต้มอาบรักษาผื่นคัน สมานลำไส้ แก้บิด ท้องเดินเรื้อรัง ขับพยาธิ หลอดลมอักเสบ กระพี้มีรสขมใช้เป็นยาขมเจริญอาหาร และรักษาอาการไข้ แต่ไม่มีฤทธิ์ในการบำบัดโรคมาลาเรีย

ใบ: แก้ไข้หวัด

ดอก: แก้โลหิตพิการ ไข้เหนือ ไข้ตัวร้อน

แหล่งข้อมูล: โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง

[qrcode url=”https://adeq.or.th/qr/0031″ margin=”10″ size=”150″ after=”ต้นสัตบรรณ”]