พื้นที่ศูนย์รวมตะวัน ตั้งอยู่ตรงข้ามเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ (หน่วยพิทักษ์ป่าห้วยสะด่อง)  ซึ่งที่แหล่งนี้มีสัตว์ป่าหลากหลายกว่า 352 ชนิด ซึ่งประกอบด้วยสัตว์จำพวกนกที่มีมากที่สุดถึง 191 ชนิด นอกจากนี้ยังมีช้างป่า เก้ง กวางและนก อีกเป็นจำนวนมาก จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้มาเยือนศูนย์รวมตะวัน จะมีโอกาสพบเห็นสัตว์ป่าเดินข้ามฝั่งเพื่อมาหาอาหารหรือเดินผ่านไปมาอยู่บ่อยครั้ง

          ช้างป่าถือเป็น keystone species (สิ่งมีชีวิตที่มีอิทธิพลต่อสภาวะแวดล้อมที่อาศัยอยู่อย่างมาก ถึงแม้ว่าบางครั้งจำนวนประชากรของสิ่งมีชีวิตชนิดนั้นอาจจะต่ำก็ตาม หากสิ่งมีชีวิตคีย์สโตนหายไปจากระบบนิเวศหนึ่งๆ ระบบนิเวศนั้นจะเสียสมดุลและพังทลายลง ข้อมูลจาก มูลนิธิสืบนาคะเสถียร) ของป่าแห่งนี้และเป็นสัตว์ที่สามารถกินพืชพรรณได้หลากหลายชนิด โดยหลักๆแล้ว จะเป็นไม้พุ่ม ผลไม้ ยอดอ่อน รากไม้หรือแม้กระทั่งเปลือกไม้ อาทิ ไผ่ หมาก กล้วย มะม่วง ฯลฯ ซึ่งในแต่ละวันนั้นช้างต้องการอาหารมากถึง 200 กิโลกรัม และที่ศูนย์รวมตะวันของเราเองมีทั้งพืชและผลไม้อันเป็นที่โปรดปรานของช้างป่า จึงอาจเรียกได้ว่าเป็นโรงอาหารของช้างป่าเลยก็ว่าได้ แต่อย่างไรก็ตามเราจะไม่ได้เห็นพวกเขาข้ามมาหาอาหารนอกเขตฯในทุกๆฤดูกาล ส่วนใหญ่จะข้ามมาในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ของทุกปี เพราะเป็นช่วงฤดูกาลออกผลของมะม่วง โดยช่วงเวลาที่ข้ามมานั้นนั้นจะเป็นช่วงประมาณ 23.00 – 04.00 น. เพราะเป็นช่วงเวลาที่เงียบสงบปราศจากการรบกวนของคน และที่สำคัญเป็นช่วงเวลาที่ช้างสามารถมองเห็นได้ชัดเจน (ช้างป่ามีสายตาที่ไม่ดีนักในช่วงเวลากลางวัน)

          การที่จะป้องกันไม่ให้ช้างป่าแวะเวียนเข้ามาหาอาหารในพื้นที่ศูนย์ฯ จึงเป็นเรื่องที่ยากจะหลีกเลี่ยง เพราะเราอยู่ใกล้กับพื้นที่อนุรักษ์กั้นกลางกันเพียงแค่ถนน ดังนั้นเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ ต้องมีการปรับตัวอยู่ร่วมกับธรรมชาติ พร้อมทั้งเรียนรู้วิธีรับมือและแก้ปัญหาเมื่อเกิดสถานการณ์ต่างๆ สิ่งแรกที่จะต้องทำเมื่อช้างป่าเข้ามาในพื้นที่คือ เรียนรู้ธรรมชาติหรือพฤติกรรมของช้างป่า รวมถึงเรียนรู้วิธีการรับมือที่ถูกต้องจากเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าฯ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของตัวเจ้าหน้าที่และช้างป่าเอง โดยในช่วงฤดูกาลที่มีช้างป่าลงมาหาอาหารนอกเขตรักษาพันธุ์ฯ จะมีเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าฯ จัดเวรตรวจตราและดูแลพื้นที่ของชาวบ้าน ไม่ให้ช้างป่าสร้างความเสียหายแก่พืชไร่และสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งที่ผ่านมาพวกเราและชาวบ้าน สามารถปรับตัวอยู่ร่วมกับสัตว์ป่าได้เป็นอย่างดีและสิ่งสำคัญก็คือทุกคนในพื้นร่วมมือกันและให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ป่าไม้และสัตว์ป่าได้เป็นอย่างดี

          เราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ หากเราเข้าใจและเห็นความสำคัญของสิ่งนี้ มีหรือเราจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขไม่ได้

นำบทเพลงจากราวป่าเพราะๆจากพี่อ่ำ สายัณห์ น้ำทิพย์ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่านักดนตรีมาฝากทุกคนครับ
เพลง “ช้าง” ความหมายดีมากๆครับ

เรื่องและเรียบเรียงโดย 
น.ส.สายธารา  สมคิด เจ้าหน้าที่จัดกระบวนการเรียนรู้ สมาคมพัฒมนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม