แล้ง…ติดไซเรน เตรียมรับปรับตัวอย่างไรเมื่อภัยแล้งมา

ในปีนี้คนไทยประสบกับปัญหาภัยแล้งที่มีแนวโน้มรุนแรงกว่าทุกปีที่ผ่านมา สังเกตได้จากปริมาณน้ำฝนที่น้อยผิดปกติ ซึ่งหากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาพบว่าในปีนี้มีปริมาณน้ำที่สะสมผิวดินน้อยกว่าปีที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัด ปัญหาดังกล่าวได้เริ่มส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในหลายพื้นที่โดยเฉพาะภาคเกษตร ภาคครัวเรือน ตลอดจนภาคอุตสาหกรรมที่จำเป็นจะต้องมีการวางแผนเพื่อรับมือและแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน

จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ถือเป็นสัญญาณอันตรายที่จะต้องติดไซเรนเพื่อกระตุ้นเตือนคนไทยว่า อย่าประมาทในการใช้น้ำ เพราะมีแนวโน้มว่าพวกเราจะได้รับผลกระทบจากปัญหานี้ไปอีกนานหรืออาจเป็นไปได้ว่าเราจะต้องรอจนกว่าฤดูฝนหน้าจะมาเยือนในช่วงกลางปี

วันนี้เราจึงมีวิธีการรับมือกับปัญหาภัยแล้งง่ายๆ โดยเริ่มจากสองมือเล็กๆ ของเราเอง ด้วยหลัก 3 อ. ซึ่งเกิดจากแนวคิดที่ว่า “เมื่อพบปัญหาที่ยิ่งใหญ่ ให้เริ่มแก้ไขจากจุดเล็กๆ” เสมอ

หลัก 3 อ. กุญแจแก้ไขปัญหาภัยแล้ง

อ อุปกรณ์ ปรับเปลี่ยนอุปกรณ์หรือสุขภัณฑ์ประหยัดน้ำ

ชักโครก

  • ติดตั้งชักโครกที่มีการใช้น้ำไม่เกิน 6 ลิตรต่อการกด 1 ครั้ง
  • ติดตั้งชักโครกที่มีระบบ Dual flush ซึ่งจะใช้น้ำปริมาณเหมาะสมและสอดคล้องวัตถุประสงค์การใช้

ก๊อกน้ำ

  • ก๊อกน้ำบริเวณอ่างล้างหน้า ควรเป็นชนิดที่มีอุปกรณ์เติมอากาศ (Aerator) จะช่วยลดการใช้น้ำมากกว่าก๊อกน้ำปกติทั่วไปได้มากถึง 40%
  • ติดตั้งก๊อกน้ำที่มีช่วงการหมุนเปิด – ปิด ไม่เกิน 90 องศา ทดแทนการใช้ก๊อกน้ำที่มีวาล์วชนิดหมุน 360 องศา ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาขณะปิดน้ำ ซึ่งมีผลต่อปริมาณน้ำที่ใช้
  • หากเป็นก๊อกน้ำชนิดกดอัตโนมัติ เซนเซอร์หรือฟลัชวาล์ว ควรตั้งเวลาให้น้ำไหลออกมาไม่เกิน 7 วินาที ซึ่งเป็นระยะเวลาที่มีการชำระล้างสะอาดและใช้น้ำในปริมาณน้อยที่สุด

ฝักบัวอาบน้ำ

  • ติดตั้งฝักบัวที่ได้มาตรฐาน ซึ่งควรมีพื้นที่หน้าตัดแคบและจำนวนรูไม่มากจนเกินไป

อ อุปนิสัย ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำให้ประหยัด

  • ไม่เปิดน้ำทิ้งไว้ระหว่างการแปรงฟันหรือถูสบู่ เพราะจะทำให้สูญเสียน้ำโดยเปล่าประโยชน์
  • ไม่ควรใช้เวลาอาบน้ำมากจนเกินไป (ไม่เกิน 10 – 15 นาที)
  • ควรปรับวิธีการล้างจาน โดยการใช้ผ้าหรือกระดาษเช็ดคราบสกปรกให้หมดก่อนนำไปล้าง ซึ่งวิธีนี้จะช่วยประหยัดน้ำได้มากขึ้น
  • น้ำที่ผ่านการใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ เช่นน้ำที่ผ่านการซักผ้าหรือล้างจาน ให้มารดน้ำต้นไม้หรือล้างพื้นนอกบ้าน เป็นต้น
  • พกกระบอกน้ำส่วนตัว ในกรณีที่เรามีกระบอกน้ำติดตัวไปทุกที่ เราสามารถลดการสูญเสียน้ำที่เหลือจากการดื่มโดยใช้แก้วทั่วไป นอกจากนี้ยังเป็นการลดปริมาณขยะประเภทพลาสติกได้อีกด้วย

อ อุดรูรั่ว  หมั่นตรวจสอบอุปกรณ์เพื่อลดจุดรั่วไหล

  • ตรวจสอบมิเตอร์น้ำ สังเกตการใช้น้ำ จากตัวเลขที่ผิดปกติบนมิเตอร์หรือบิลค่าน้ำรายเดือน หากพบว่ามีการใช้น้ำมากผิดปกติควรมีการตรวจสอบจุดรั่วไหลต่อไป
  • ตรวจสอบท่อน้ำ หมั่นสังเกตท่อน้ำบริเวณบ้านชำรุดหรือรั่วไหลหรือไม่ หากพบว่าผนังบ้านบริเวณแนวท่อมีความชื้น สนามหญ้ามีจุดที่หญ้าหนาแน่นผิดปกติ ให้สันนิษฐานว่ามีการรั่วซึมของท่อน้ำ ควรตรวจสอบเพื่อซ่อมแซมต่อไป
  • ตรวจสอบอุปกรณ์น้ำ หากพบว่าบริเวณหัวก๊อกหรือข้อต่อมีน้ำหยดตลอดเวลา ให้ดำเนินการซ่อมทันที
  • ตรวจสอบการรั่วไหลของชักโครก ให้นำสีผสมอาหารเติมลงในถังพักน้ำ หากพบว่ามีน้ำจากสีที่เติมไหลลงในชักโครกตลอดเวลา แสดงว่ามีการชำรุดของอุปกรณ์ ให้รีบซ่อมแซมทันที

เพราะน้ำเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าต่อทุกสรรพชีวิตบนโลก หากโลกขาดน้ำเราก็คงต้องขาดลมหายใจ ดังนั้นหลัก 3 อ จึงถือเป็นกุญแจสำคัญที่มนุษย์มือเล็กๆ อย่างพวกเราควรยึดและปฏิบัติเพื่อฝ่าวิกฤติภัยแล้งนี้ไปด้วยกันให้ได้

ด้วยความปรารถนาดีจากสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและศูนย์รวมตะวัน