ถ้าเอ่ยถึงเรื่อง “ขี้” หลายคนอาจจะร้องยี้ แต่จริงๆแล้วหากเราเข้าป่าแล้วเจอ “ขี้” บอกเลยว่าเราโชคดีที่สุด เพราะอะไรนั้นหรือ เรามาเรียนรู้เรื่องขี้ๆไปด้วยกัน
การขับถ่ายของมนุษย์นั้นเพื่อความเป็นสุขอนามัยจะกระทำการกันในที่มิดชิดอย่างเช่น ห้องน้ำ แต่การขับถ่ายของสัตว์ป่านั้นกระทำการอย่างโจ่งแจ้งได้เพราะทุกที่ในป่าคือแหล่งที่ขับถ่ายได้อย่างสบายใจอย่างเป็นธรรมชาติ ได้มีโอกาสเข้าไปเดินป่ากับเด็กๆที่เข้ามาเรียนรู้ศึกษาธรรมชาติบริเวณผืนป่าสลักพระซึ่งอยู่ตรงข้ามกับศูนย์รวมตะวันเพียงข้ามถนนไปก็ถึงแล้ว ขณะเดินป่าพี่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้ชี้ชวนให้ดูสิ่งต่างๆที่น่าสนใจ แต่มีสิ่งหนึ่งที่สะดุดจิตจนต้องหยุดให้คิด คือ ขี้ของสัตว์ป่าที่พบเห็นตามเส้นทางที่เราเดินป่า สิ่งที่ทำให้เราตื่นเต้นมากเกินกว่าคำว่า “ยี้” นั้นคือ ความน่าทึ่งของสิ่งที่อยู่ในนั้น มันคล้ายกับว่าขี้สัตว์ป่า คือ จุดเชื่อมโยงของจักรวาลแห่งป่าและธรรมชาติจนเราต้องร้องว้าวววว
สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากขี้ของสัตว์ป่า
- ขี้…บ่งบอกถึงอาหารที่สัตว์ป่ากิน
พี่เจ้าหน้าที่ป่าไม้บอกเราว่าให้ลองสังเกตขี้ของสัตว์ป่า มันจะไม่เหมือนกัน หากสังเกตว่าเป็นลักษณะมีสิ่งที่เป็นขนสัตว์เป็นกระจุกอยู่นั้นแสดงให้เห็นว่าเป็นสัตว์ประเภท สัตว์กินเนื้อซึ่งนับเป็นผู้ล่า โดยหากระบุหน้าที่ในระบบนิเวศ คือ จัดได้ว่าเป็นผู้บริโภคที่กินสัตว์กินพืชเป็นอาหาร ส่วนขี้สัตว์ที่มีลักษณะเต็มไปด้วยเศษซากพืชบดละเอียด สะท้อนให้เห็นว่าเป็นผู้บริโภคที่กินพืชเป็นอาหาร โดยการที่เราพบเห็นขี้ของสัตว์ผู้ล่ายกตัวอย่าง เสือโคร่ง นั้นสะท้อนให้เห็นว่ายังมีสัตว์กินพืชที่เป็นอาหารของเสือโคร่ง เช่น เก้ง กวาง ที่ยังคงมีให้เสือโคร่งได้กินเพื่อยังชีพอยู่ และเชื่อมโยงไปถึงจุดที่ว่าป่าไม้ยังมีความอุดมสมบูรณ์มีอาหารมากเพียงพอให้กวางได้กินเพื่อยังชีพเช่นกัน
- ขี้…บ่งบอกถึงเพศและวัยของสัตว์ป่า
ไม่น่าเชื่อว่าขี้ของสัตว์ป่าจะสะท้อนให้เห็นถึงเพศและวัยของสัตว์ป่า ยกตัวอย่างเช่น ขี้ช้าง
หากเราพบว่าลักษณะของขี้ที่เห็นใหม่ๆเป็นก้อนๆชัดเจนบ่งบอกได้ว่าน่าจะเป็นเพศผู้ แต่หากขี้มีลักษณะกระจายไม่เป้นก้อนบ่งบอกว่าน่าจะเป็นเพศเมีย
ที่เป็นเช่นนี้เพราะลักษณะของอวัยวะเพศที่แต่กต่างกันเพศผู้เวลาขี้และฉี่จะอยู่คนละทิศทางกันแต่สำหรับเพศเมียทิศทางจะไปในแนวเดียวกันมันจึงกระจัดกระจายอย่างที่เห็น ในส่วนของลักษณะขี้ที่เราพบเห็นหากพบว่าเศษซากที่เห็นมีความละเอียดมากแสดงว่าระบบย่อยยังดีอยู่จะสันนิษฐานได้ว่า ช้างยังอายุน้อยกว่ายังหนุ่มๆอยู่ แต่หากว่าเศษซากที่เหลือจากการย่อยมีลักษณะหยาบสะท้อนถึงระบบย่อยที่ไม่ค่อยดีแสดงว่าช้างตัวนั้นอายุมากแล้ว
- ขี้…บ่งบอกถึงความอยู่รอดของเรา
สิ่งหนึ่งที่น่าทึ่ง คือ เราสังเกตเห็นต้นกล้าเล็กๆที่เจริญเติบโตจากกองขี้ช้าง เมื่อลองเอาไม้ไปเขี่ยๆดูพบว่ายังมีเมล็ดพันธุ์ในขี้ช้างที่กำลังแทงรากพร้อมเจริญเติบโต นั้นแสดงให้เห็นว่า มากกว่าเศษซากพืชจากการกินแล้วยังมีส่วนที่ไม่ถูกย่อย คือ เมล็ดพันธุ์พืช โดยช้างเป็นสัตว์ที่ไม่ได้กินอาหารประจำที่ใดที่หนึ่งจะย้ายที่ไปเรื่อยๆฉะนั้นเมื่อช้างกินตรงหนึ่งแล้วไปขี้ไว้อีกตรงหนึ่งย่อมส่งผลต่อการแพร่กระจายพันธุ์ของพันธุ์พืชชนิดต่างๆที่อยู่ในป่า ช่วยขยายพื้นที่ป่าให้เพิ่มมากขึ้น นั้นก็หมายความว่าเราจะมีพื้นที่ผลิตออกซิเจนให้เราหายใจได้มากขึ้น และที่สำคัญคือมีพื้นที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดซ์ออกไซด์ช่วยลดโลกร้อนให้เราได้เป็นอย่างดี ลดผลกระทบต่างๆที่เป็นภัยต่อมนุษย์ เรียกได้ว่าพวกเรารอดได้เพราะขี้ช้างนั้นเอง
เรื่องขี้ๆที่ไม่ใช่ขี้ๆ มีอะไรมากมายที่น่าเรียนรู้ เมื่อเรามองลึกลงไปในขี้ของสัตว์ป่า เราจะพบว่ามีความหมายที่เป็นนัยยะแฝงแสดงให้เห็นถึงคุณค่าที่เชื่อมโยงให้เห็นความสำคัญของป่าไม้ สัตว์ป่า และมนุษย์ และหันกลับมาตั้งคำถามว่าในฐานะมนุษย์อย่างเราจะสร้างเสริมคุณค่าเพื่อรักษาความเชื่อมโยงของระบบนิเวศให้คงอยู่ได้ตราบนานเท่านานได้อย่างไร