เมื่อวันศุกร์ ที่ 3 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมาได้มีการจัดการประชุมชี้แจงการดำเนินงานโครงการ Energy Mind Award ss.2 ประจำปี 2567 และการชี้แจงแบบประเมินการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน  ณ ห้องประชุม Auditorium ชั้น 6 อาคารวัฒนวิภาส การไฟฟ้านครหลวง สำนักงานใหญ่ คลองเตย ทั้งนี้มีโรงเรียนที่ส่งผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งครูผู้รับผิดชอบโครงการและผู้บริหาร สนใจเข้าร่วมรับฟังกว่า 100 โรงเรียน โดยมี นายพิพัฒน์ ชลอำไพ รองผู้ว่าการการฟ้านครหลวงกล่าวต้อนรับและเป็นประธานในพิธีเปิดงาน และจากนั้นมี การสรุปการดำเนินงาน Energy Mind Award ss.2 ในปีที่ผ่านมา โดย คุณวัชรพันธุ์ ไชยสุต และต่อด้วย การชี้แจงแผนการดำเนินงานโครงการฯในปี 2567 โดยคุณรังสรรค์ เศรษฐวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสังคมและสิ่งแวดล้อม การฟฟ้านครหลวง และต่อด้วยการบรรยาย หัวข้อ โครงการ Energy Mind Award กับการส่งเสริมให้โรงเรียนบ่มเพาะ Green Skills ให้เกิดขึ้นกับนักเรียน โดย ดร.ศันสนีย์  กีรติวิริยาภรณ์ อุปนายกสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม จากนั้นในช่วงบ่ายได้มีการบรรยายชี้แจง การประเมินการดำเนินการด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน ในเรื่องที่เกี่ยวกับแนวคิดของการจัดทำเกณฑ์การประเมิน รายละเอียดของเกณฑ์การประเมิน รวมถึงแนวทางการเตรียมพร้อมสำหรับการประเมิน โดย ดร.ศันสนีย์  กีรติวิริยาภรณ์ และคุณนโคทร ศรีจันทร์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ สมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมาจะต้องส่งแบบฟอร์มการประเมินและหลักฐานมายังโครงการภายในวันที่ 7 มิถุนายน 2567 นี้ และจะมีการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมในช่วงเดือน กรกฎาคม 2567 และมีการประกาศผลและมอบรางวัล ภายในเดือนสิงหาคม 2567 นี้ ส่วนโรงเรียนที่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการฯในปี 2567 นี้ จะมีการดำเนินการตามขั้นตอนในส่วนการพัฒนาศักยภาพครูและนักเรียนแกนนำ การจัดกิจกรรมพลังงานสัญจร และการจัดการอบรมเชิงปฎิบัติการ “ผู้นำเชิงระบบเพื่อขับเคลื่อนโรงเรียน Energy Mind Award” ต่อไป

การไฟฟ้านครหลวงและสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมขอเป็นกำลังใจให้กับโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯทุกๆโรงเรียนและคอยเสริมพลังในการขับเคลื่อนให้โรงเรียนสามารถสร้างและส่งมอบเยาวชนใส่ใจสิ่งแวดล้อม (Green Youths)ให้กับสังคมไทย ผ่านการส่งเสริมให้โรงเรียนสามารถทำหน้าที่เสมือนห้องปฏิบัติการ “ทักษะชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” (Green skills) เพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสเรียนรู้แบบเชิงรุก (Active Learning) หรือ เรียนรู้จากประสบการณ์จริง (Experiential Learning) เกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านการดำเนินงานทั้งระบบของโรงเรียนต่อไป