สมาคมฯเข้าร่วมงานแถลงข่าว การจัดกิจกรรม “ปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน” (60+ Earth Hour 2019)
เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2562 เวลา 09.30 – 11.30 ได้มีการจัดงานแถลงข่าว การจัดกิจกรรม “ปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน” (60+ Earth Hour 2019) โดยมี นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานแถลงข่าว ซึ่งงานนี้จัดโดยกรุงเทพมหานครร่วมกับ WWF ประเทศไทย , มูลนิธิสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ประเทศไทย) : FEED , การไฟฟ้านครหลวง , หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนที่ให้การสนับสนุนโครงการ รวมถึงสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งงานนี้จัดขึ้น ณ อาคารไอราวัตพัฒนา กรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง)
โครงการนี้มีการจัดขึ้นตั้งแต่ปี 2551 และมีการจัดขึ้นพร้อมกับ 188 ประเทศ 7,000 เมืองทั่วโลกปิดไฟที่ไม่จำเป็น เป็นเวลา 1 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 20.30 – 21.30 น. ในปี 2561 พื้นที่กรุงเทพฯ สามารถลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าได้ 2,002 เมกกะวัตต์ เท่ากับลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 1,026 ตัน และคิดเป็นมูลค่า 7.86 ล้านบาท และจากกการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2551 – 2561 สามารถลดกระแสไฟฟ้าได้ 18,373 เมกะวัตต์ ลดคาร์บอนไดซ์ออกไซด์ได้ 10,259 ตัน คิดเป็นมูลค่า 64.78 ล้านบาท
สำหรับปี 2562 กรุงเทพมหานครร่วมกับองค์กร WWF ประเทศไทยและมูลนิธิ FEED ประเทศไทย กำหนดจัดกิจกรรม “ปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน” ภายใต้แนวคิด “ปิดเพื่อโลกเปลี่ยนเพื่ออนาคต” ในวันเสาร์ที่ 30 มีนาคม 2562 ด้วยการรณรงค์ผู้ประกอบการ ร้านค้า และประชาชนลดการใช้พลังงานและการปิดไฟที่ไม่จำเป็น เช่น ไฟประดับ ไฟอาคาร ป้ายโฆษณา การถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ใช้งาน ลดการใช้เครื่องปรับอากาศ ในอาคารบ้านเรือน เป็นเวลา 1 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 20.30 – 21.30 น. โดยเชิญชวนร่วมรณรงค์ติดแฮชแท็ก คำว่า #earthHour หรือ #connect2earth หรือ #ปิดเพื่อโลกเปลี่ยนเพื่ออนาคต หรือ #ลดเพราะรักษ์ เพื่อร่วมเปลี่ยนโลกในวันนี้
หนึ่งประเด็นที่น่าสนใจในงานคือ คำถามที่ว่าแค่ปิดไฟเพียง 1 ชม.จะช่วยลดโลกร้อนได้มากน้อยเพียงไหน ? ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวเป็นเพียงเชิงสัญลักษณ์ เป็นการจุดประกายสู่กระบวนการที่มองลึกไปว่าอีก 364 วันที่เหลือ (ไม่นับวันที่จัดกิจกรรมปิดไฟ) เราควรจะตระหนักว่าจะช่วยกันลดโลกร้อนได้แบบทุกๆวันได้อย่างไร แบบนี้จะเป็นวิธีการลดโลกร้อนที่ยั่งยืนมากกว่า ซึ่งต้องมองประเด็นให้ครอลคลุมไปถึง การลดการใช้พลังงาน ลดการสูญเสียรั่วไหล ตลอดจนลดความค้ดแย้งในการใช้พลังงาน ทั้งในเชิงเทคโนโลยีและเชิงพฤติกรรม ทั้งนี้หากสนใจอยากศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมสามารถเข้าไปดูได้ที่
https://adeq.or.th/category/knowhow/knowledge/energy/