กระดังงาไทย
ชื่อไทย กระดังงาไทย (Ylang-ylang tree)
ชื่อท้องถิ่น กระดังงา (ตรัง-ยะลา) กระดังงาใบใหญ่ กระดังงาใหญ่ (ภาคกลาง) สะบันงา สะบันงาต้น (ภาคเหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cananga odorata (Lam.) Hook.f. & Thomson
ชื่อวงศ์ ANNONACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลักษณะทั่วไป สูง 15-30 เมตร เปลือกสีเหลือบขาว มีรอยแผลของก้านใบตามลำต้น แตกกิ่งจำนวนมากตั้งฉากกับลำต้น ปลายห้อยลู่ลงกิ่งอ่อนมีขน กิ่งแก่ค่อนข้างเรียบ
ลักษณะใบ ใบเดี่ยวรูปขอบขนานกว้าง โคนใบมน ปลายใบแหลมหรือเป็นติ่ง กว้าง 4-9 เซนติเมตร ยาว 10-20 เซนติเมตร เส้นกลางใบเห็นชัดเจน หลังใบมีขนที่ส้นใบ ก้านใบยาว 1.0-1.5 เซนติเมตร
ลักษณะดอก ช่อดอกออกเหนือรอยแผลของก้านใบ มี 3-6 ดอก กลีบเลี้ยงรูปไข่ ยาว 5-7 มิลลิเมตร ดอกมีกลิ่นหอม กลีบดอกสีเขียวแกมเหลืองมี 6 กลีบ เรียงเป็น 2 ชั้น รูปขอบขนานเรียวและบิดเล็กน้อย ยาว 5.0-7.5 เซนติเมตร
ลักษณะผล ผลกลุ่ม รูปกลมรี กว้าง 1.0-1.5 เซนติเมตร ยาว 1.5-2.3 เซนติเมตร มี 5-12 ผล ก้านช่อผลยาว 2.0-2.5 เซนติเมตร ก้านผลยาว 1.2–1.8 เซนติเมตร ผิวเรียบ ผลอ่อนสีเขียว เมื่อแก่สีเข้มเกือบดำ
ลักษณะเมล็ด 2-12 เมล็ด เรียงกันเป็นสองแถว
ระยะการออกดอกติดผล
เมษายน-กรกฎาคม
เขตการกระจายพันธุ์
พบในอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินโดนีเซีย ไปจนถึงตอนเหนือของรัฐควีนส์แลนด์
การใช้ประโยชน์
ลำต้น เนื้อไม้ใช้ทำก้านไม้ขีด ต้นและกิ่งก้าน รับประทานเป็นยาขับปัสสาวะ เปลือกต้น มีรสเฝื่อน แก้ท้องเสีย ขับปัสสาวะผิดปกติ
ดอก มีกลิ่นหอม ใช้ทำน้ำหอม และเครื่องหอม ใช้ปรุงยาหอมประกอบกับเครื่องยาอื่น ๆ แก้ลม อ่อนเพลีย ลมเป็นพิษ แก้ไข้เนื่องจากโลหิตเป็นพิษ บำรุงโลหิต บำรุงธาตุ บำรุงหัวใจ รักษาโรคหืด
ใบ ใช้รักษาโรคหืด
แหล่งข้อมูล: อุทยานหลวงราชพฤกษ์