ก้ามปู/จามจุรี
ชื่อไทย จามจุรี (East Indian Walnut/ Rain tree)
ชื่อท้องถิ่น ก้ามกราม ก้ามกุ้ง ก้ามปู (ภาคกลาง) ลัง สารสา สำสา (ภาคเหนือ) ตุ๊ดตู่ (ตาก) เส่คุ่ เส่ดู่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Samanea saman (Jacq.) Merr.
ชื่อวงศ์ FABACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลักษณะทั่วไป ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูง 10-20 เมตร ผลัดใบเรือนยอดแผ่เป็นพุ่มกว้างคล้ายร่ม โคนต้นเป็นพูพอนต่ำ เปลือกสีน้ำตาลปนเทา แตกตามยาวขรุขระไม่เป็นระเบียบ
ลักษณะใบ ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงสลับ มีขนนุ่ม ใบย่อย 2-10 ใบ รูปรี รูปไข่ หรือสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนเบี้ยว เรียงตรงข้าม กว้าง 1-2 เซนติเมตร ยาว 2-4 เซนติเมตร ปลายใบมนกลม โคนใบกลมหรือตัดเบี้ยว ขอบใบเรียบ
ลักษณะดอก ช่อดอกแบบช่อเชิงหลั่น ออกที่ซอกใบ ดอกขนาดเล็กสีชมพู กลีบเลี้ยงเชื่อมเป็นรูปถ้วยปลายแยกเป็น 5 แฉก สีเขียว ยาว 3-5 มิลลิเมตร กลีบดอก 5 กลีบ สีเขียวอ่อนหรือสีขาว เกสรเพศผู้ 10 อัน ยาว 3-3.5 เซนติเมตร ก้านชูอับเรณูสีชมพู โคนก้านสีขาว แยกอิสระ
ลักษณะผล ผลเป็นฝักแบบถั่ว รูปขอบขนานโค้งเล็กน้อย กว้าง 1.2-1.5 เซนติเมตร ยาว 10-20 เซนติเมตร มีเนื้อนิ่ม เมล็ด 15-20 เมล็ด รูปรี
ระยะการออกดอกติดผล
การติดดอก มีนาคม-พฤษภาคม
การติดผล มกราคม-มีนาคม
เขตการกระจายพันธ์
พบในป่าเบญจพรรณ ตามริมลำธาร พบได้ทั่วไปในเขตร้อน แต่มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาเขตร้อน
การใช้ประโยชน์
ต้น ใช้เลี้ยงครั่ง ไม้ ใช้ทำเครื่องเรือน แกะสลัก
แหล่งข้อมูล : สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ – กรมป่าไม้