ปกติแล้วเทศกาลวันวาเลนไทน์ อาจมองมุมหนึ่งว่าเป็นเรื่องของความรักของคน 2 คน แต่ที่จริงแล้ว “ความรัก” สามารถมองได้กว้างกว่านั้นได้ เราสามารถมอบความรักให้กับสิ่งที่เราอาศัยอยู่ก็คือ โลก ที่เราอาศัยอยู่นี้เอง โลกที่เราอาศัยอยู่นับเป็นบ้านหลังใหญ่ ซึ่งเป็นบ้านที่มีทุกสรรพสิ่งอาศัยอยู่ จำเป็นอย่างมากที่เราต้องใส่ใจโลกใบนี้ ก่อนที่มันจะสายเกินไป แล้วเรากับคนรักของเราจะช่วยบอกรักโลกใบนี้ได้อย่างไร
- มอบของขวัญที่ใช้ประโยชน์ได้ แทนการมอบดอกไม้
การมอบดอกไม้ในวันวันวาเลนไทน์ ถือเป็นเรื่องที่ถือปฏิบัติเป็นสัญลักษณ์แสดงความรัก แต่ทว่าดอกไม้ย่อมมีเวลาของมัน ถ้าหากเราเปลี่ยนจากดอกไม้ เป็นของที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ยาวนาน เราก็จะสามารถช่วยลดขยะอินทรีย์ที่เกิดจากดอกไม้เหล่านี้ได้อีกด้วย
- บรรจุภัณฑ์น้อย มอบรัก และอนุรักษ์โลก
การซื้อของให้คนรัก หลากคนมักจะเลือกใช้บรรจุภัณฑ์สวยๆและมีราคาแพงเพื่อสร้างความประทับใจ แต่ผลที่ตามมาคือ การเพิ่มประมาณขยะให้เพิ่มสูงขึ้น ถ้าเป็นไปได้อาจจะใช้วิธีติดโบว์ไปกับของขวัญก็เพียงพอแล้ว ไม่ต้องเปลืองวัสดุห่อหุ้มให้เกิดขยะที่เกินความจำเป็น หรืออยากเซอไพรส์จริง ๆ เราสามารถใช้กระดาษที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ หรือเป็นวัสดุธรรมชาติไปเลยยิ่งดี
- กิจกรรมคู่รัก รักษ์โลก
กิจกรรมที่เราทำกันในวัน วาเลนไทน์ อาจจะเป็นการไปนั่งดูหนัง ฟังเพลง หรือไปทานข้าวด้วยกัน แต่ถ้าในวันนั้นเรา มีกิจกรรมสิ่งแวดล้อมที่ทำร่วมกันด้วยจะช่วยให้เป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำมากยิ่งขึ้น เช่น การปลูกต้นไม้เป็นพันธสัญญาความรัก หรือประดิษฐ์ของ DIY จากวัสดุเหลือใช้ร่วมกัน จะทำให้มีช่วงเวลาดี ๆ ร่วมกัน และยังได้ของคู่รักกลับไปใช้อีกด้วย
- จดหมายรัก หรือจะสู้บอกว่ารัก
สิ่งที่บางคนทำกัน คือการเขียนจดหมายบอกรัก ในความจริงแล้วเป็นสิ่งที่ไม่ผิด แต่ถ้าเราลองคำนึงดู ว่า กระดาษหนึ่งแผ่นกว่าจะผลิตมาได้ต้องใช้พลังงานมากเท่าไหร่ นี่ยังไม่รวมสารเคมีที่ใช้ในการเขียนอีก สิ่งที่กล่าวมานี้ เราแค่อยากสร้างความตระหนักให้กับผู้อ่าน สิ่งของบางอย่างที่เรามองว่าเป็นของธรรมดา แต่ที่จริงแล้ว ในกระบวนการผลิต จำเป็นต้องแลกมาด้วยใช้พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติทั้งสิ้น ”ดังนั้นสิ่งที่ง่ายที่สุดคือสิ่งที่ออกมาจากปากของเรา คู่พูดว่า “ผมรักคุณ หรือรักน่ะ” แค่นี้ก็หวานกว่าใช้กระดาษเยอะเลย
สุดท้ายนี้ เราขอให้ผู้อ่านทุกคน สมหวังในความรักกับวันวาเลนไทน์ และขออย่าลืมฝากทุกคน ให้รักโลกใบนี้ด้วย เพราะโลกใบนี้คือ บ้านหลังใหญ่ที่เราอยู่อาศัย “คนเล็กๆกลุ่มหนึ่งไม่สามารถทำให้บ้านหลังใหญ่นี้น่าอยู่ได้ แต่ถ้าทุกคนในบ้านหลังนี้ร่วมกันดูแล บ้านหลังใหญ่นี้จะน่าอยู่ขึ้น”
—————————————
ผู้เขียน นายเรวัต ยิ้มวิไล เจ้าหน้าที่ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ ฝ่ายส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้
ผู้ตรวจทาน นโคทร ศรีจันทร์
สมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม