ชื่อไทย ประดู่ป่า (Bermese rosewood)
ชื่อท้องถิ่น ประดู่ (ภาคกลาง) ประดู่เสน (ราชบุรี สระบุรี) ดู่ ดู่ป่า กะเลน (ภาคเหนือ) ฉะนอง
(เชียงใหม่)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Pterocarpus macrocarpus Kurz
ชื่อวงศ์ FABACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้น ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 15 – 30 เมตร ผลัดใบ เรือนยอดเป็นพุ่มกลม ทึบ เปลือกนอกสีน้ำตาลดำ หนา แตกสะเก็ด เปลือกในสีน้ำตาล มีน้ำเลี้ยงสีแดง เนื้อไม้แข็งสีแดงอมเหลือง มีลวดลายสวยงาม
ลักษณะใบ ใบประกอบขนนกชั้นเดียว ปลายใบคี่ เรียงสลับ ใบย่อยรูปไข่หรือรูปขอบขนาน กว้าง 2.5 – 5 เซนติเมตร ยาว 5 – 15 เซนติเมตร โคนใบมน ขอบใบเรียบ ปลายใบเป็นติ่ง แผ่นใบมีลักษณะคล้ายแผ่นหนังบางๆ ท้องใบมีขนอ่อนๆ ปกคลุม
ลักษณะดอก ช่อกระจะแยกแขนง ออกที่ซอกใบและปลายกิ่ง ดอกย่อยสีเหลืองแกมแสด รูปถั่ว กลีบเลี้ยงสีน้ำตาลอมเขียว หรือสีเขียว 5 กลีบ โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น 2 แฉก แบ่งเป็นอันบน 2 กลีบติดกัน และอันล่าง 3 กลีบติดกัน กลีบยาวประมาณ 6 – 8 มิลลิเมตร กลีบดอก รูปผีเสื้อ มี 5 กลีบ ยาวประมาณ 8 – 15 มิลลิเมตร มีเกสรเพศผู้ 10 อัน เกสรเพศเมียมี 1 อัน ดอกมีกลิ่นหอม
ลักษณะผล ผลมีปีกเดียว รูปโล่ แบน บาง ตรงกลางนูน เส้นผ่านศูนย์กลาง 5 – 7 เซนติเมตร ผลอ่อนสีเขียวมีขนสีขาว หรือสีน้ำตาลปกคลุม อาจมี 1 – 3 เมล็ด
ระยะการออกดอกติดผล
ออกดอกในระหว่างเดือนมีนาคม – เดือนเมษายน ผลแก่เดือนพฤษภาคม – เดือนมิถุนายน
เขตการกระจายพันธุ์
พบในประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย ลาว ไทย กัมพูชา และทางใต้ของเวียดนาม ในประเทศไทยกระจายพันธุ์ในป่าเบญจพรรณชื้น และในป่าดิบแล้งทั่วไป ยกเว้นภาคใต้ ความสูง 100 – 600 เมตร จากระดับน้ำทะเล
การใช้ประโยชน์
เนื้อไม้: ใช้ในการก่อสร้างทั่วๆ ไป เฟอร์นิเจอร์ เครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องดนตรี
เปลือก: ให้น้ำฝาดสำหรับฟอกหนัง
แก่น: ให้สีแดงคล้ำใช้ย้อมผ้า
แหล่งข้อมูล: สำนักงานหอพรรณไม้ – กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช
[qrcode url=”https://adeq.or.th/qr/0015″ margin=”10″ size=”150″ after=”ต้นประดู่ป่า”]