ชื่อไทย มะค่าโมง (Black rosewood, Pod mahogany)
ชื่อท้องถิ่น มะค่าใหญ่ (ภาคกลาง) มะค่าหลวง มะค่าหัวคำ (ภาคเหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Afzelia xylocarpa (Kurz) Craib
วงศ์ FABACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้น ขนาดใหญ่ มีความสูงระหว่าง 15 – 20 เมตร ผลัดใบ เรือนยอดเป็นพุ่มแผ่กว้าง แตกกิ่งต่ำ ลำต้นมักเป็นครีบและมีปุ่มปม เปลือกนอกสีน้ำตาลอ่อน ชมพูอมน้ำตาล หรือสีเทา แตกสะเก็ดเป็นหลุมตื้นๆ มีรูระบายอากาศกระจัดกระจาย เนื้อไม้สีน้ำตาลอมเหลืองอ่อน กิ่งอ่อนมีขนคลุมบางๆ
ลักษณะใบ ใบประกอบขนนกชั้นเดียว เรียงสลับ ใบย่อยรูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง 2 – 5 เซนติเมตร ยาว 4 – 9 เซนติเมตร เรียงตรงข้าม โคนใบมน หรือหยักเว้าเล็กน้อย ขอบใบเรียบ ปลายใบทู่เป็นติ่ง มน หรือเว้าตื้น ใบคู่ล่างจะมีขนาดเล็กกว่าคู่ที่ถัดขึ้นไป
ลักษณะดอก ช่อแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่งหรือซอกใบ ใบประดับรูปไข่ ใบประดับย่อยคล้ายใบประดับ ติดเหนือจุดกึ่งกลางก้านดอกเล็กน้อย ดอกย่อยสีเขียว รูปดอกถั่ว กลีบเลี้ยงรูปขอบขนาน สีเขียวสด มี 4 กลีบ แต่ละกลีบเรียงซ้อนทับกันแบบตรงข้าม ยาว 1 – 1.2 เซนติเมตร กลีบดอกรูปช้อนสีชมพู 1 กลีบ แผ่เกือบกลม ยาว 7 – 9 มิลลิเมตร ส่วนฐานคอดเป็น ปลายกลีบย่นเว้าตื้นๆ เกสรเพศผู้มี 10 อัน สมบูรณ์มี 7 อัน เป็นหมัน 3 อัน เกสรเพศเมีย 1 อัน
ลักษณะผล ผลแห้งแก่แล้วแตกสองแนว ฝักแบนรูปขอบขนาน กว้าง 7 – 9 เซนติเมตร ยาว 12 – 20 เซนติเมตร หนา 0.6 – 1 เซนติเมตร ผิวเปลือกเรียบไม่มีหนาม เปลือกแข็งหนาเป็นเนื้อไม้ ปลายเป็นจงอยสั้นๆ ฝักแก่สีน้ำตาลเข้มเกือบดำ เมล็ดสีดำ รูปรี ผิวมัน มีเนื้อสีเหลืองสดหุ้มที่โคนเมล็ดเป็นรูปถ้วย มี 2 – 4 เมล็ด
ระยะการออกดอกติดผล
ออกดอกระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – เดือนมีนาคม ฝักแก่ประมาณเดือนมิถุนายน – เดือนสิงหาคม
เขตการกระจายพันธุ์
พบขึ้นกระจายทั่วๆ ไปตามริมลำธารในป่าเบญจพรรณชื้นและป่าดิบแล้งทั่วไป ที่ความสูง 100 – 600 เมตร จากระดับน้ำทะเล ในประเทศไทยพบทุกภาคยกเว้นภาคใต้
การใช้ประโยชน์
เนื้อไม้: ใช้ทำเสาบ้าน หมอนรองรถไฟ เครื่องเรือน เฟอร์นิเจอร์
เปลือก: ให้น้ำฝาดใช้สำหรับฟอกหนัง
เมล็ด: เนื้อในเมล็ดอ่อนใช้รับประทานเป็นอาหารได้
แหล่งข้อมูล: สำนักงานหอพรรณไม้ – กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช
[qrcode url=”https://adeq.or.th/qr/0021″ margin=”10″ size=”150″ after=”ต้นมะค่าโมง”]