,

ความหลากหลายของทรัพยากรชีวภาพ คือ ความมั่นคงของชีวิตมนุษย์

https://adeq.or.th/wp-content/uploads/2018/08/ความหลากหลายของทรัพยากรชีวภาพ-คือ-ความมั่นคงของชีวิตมนุษย์.jpg

พัฒนาการต่อเนื่องของระบบนิเวศได้ทำให้สิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน มีการพึ่งพากันในการดำรงชีวิต เมื่อมีความแตกต่างกันมากก็จะมีการพึ่งพากันมาก เช่น ในระบบนิเวศของป่า จะมีพืชพรรณที่หลากหลาย เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด

โดยมีการศึกษาความหลากหลายกับความสมดุลของระบบนิเวศ พบว่าระบบนิเวศใดๆ ที่มีความหลากหลายของพรรณพืชและสัตว์มีความสมดุลมาก เมื่อถูกรบกวนจากภายนอกจะสามารถปรับเข้าหาสมดุลได้โดยง่าย เนื่องจากในระบบนิเวศเดียวกันจะมีควบคุมกันเองอย่างเหมาะสม

เช่น ระบบนิเวศของป่าธรรมชาติที่ปริมาณอาหารจะควบคุมปริมาณสัตว์ ประชากรสัตว์เล็กจะถูกควบคุมด้วยประชากรสัตว์ใหญ่ และจำนวนสัตว์ใหญ่จะถูกควบคุมโดยปริมาณอาหารหรือโรคร้ายหรือการล่าของคนหรือสัตว์อื่นๆ

ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีพรรณไหลากหลลายชนิด โรคพืชและประชากรแมลงจะมีการควบคุมกันและกันได้เป็นอย่างดี จะมีโอกาสของการเสียสมดุลน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับสวนป่าหรือป่าปลูก ที่มีการคัดเลือกพันธุ์พืชบางชนิดมาปลูกเป็นพืชที่ติดต่อกน ซึ่งมีโอกาสได้รับความเสียหายจากกการแพร่ระบาดของโรคพืชได้ง่าย การทำสวนครัวของพรรณพืชที่หลากหลาย ถ้าการปลูกผักในแปลงผักขนาดใหญ่ก็มีความแตกต่างที่จำนวนชนิดของพันธุ์พืชที่ปลูก การสูญเสียผลผลิตจากการรบกวนของศัตรูพืช ในแปลงสวนครัวก็จะเกิดขึ้นน้อยกว่าแปลงผัก

การเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าของเกษตรกรในภูมิภาคต่างๆ มีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสมดุลและความหลากหลายของทรัพยากรชีวภาพของป่า การเก็บหาของป่าเคยได้รับพิจารณาว่าเป็นกิจกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อป่ามากมาย แต่การเก็บหาของป่าโดยจำนวนคนที่มากขึ้น การผลักดันราคาของให้ผู้บริโภคยอมจ่ายมากขึ้น รวมทั้งราคาที่สูงขึ้นจากการส่งออกผลผลิตจากป่า ทำให้มีการเก็บของป่าที่มากและรวดเร็ว ไม่สามารถปลูกทดแทนใหม่ได้ทัน ในที่สุดทำให้เสียสมดุลของระบบนิเวศป่า สำหับการบุกรุกแผ้วถางพื้นที่ป่าเพื่อทำมาหากินของคนจำนวนมาก พื้นที่ป่าถูกแทนที่ด้วยพืชไร่ เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง หรือพืชสวน เช่น ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ยิ่งมีการบุกรุกและขยายที่ทำกินในเขตป่ามาก ก็ทำให้เกิดการสูญเสียความหลาหลายทางชีวภาพมาก นอกเหนือจากกิจกรรมการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าเพื่อทำกินของชาวบ้านโดยทั่วไปแล้ว การสูญเสียพื้นที่ป่าและความหลากหลายทางชีวภาพยังเกิดจากกิจกรรมการท่องเที่ยว การอุตสาหกรรม การขยายตัวของเมือง การคมนาคมขนส่ง การจัดหาพลังงาน การจัดหาและสร้างแหล่งน้ำ เป็นต้น

ความหลากหลายทางชีวภาพให้คุณประโยชน์อเนกอนันต์ต่อระบบนิเวศ การบริโภค การผลิตทางการเกษตร คุณภาพสิ่งแวดล้อม สมดุลของวงจรน้ำ การป้องกันการสูญเสียทรัพยากรแร่ธาตุและการกัดเซาะพังทลายของดินและอื่นๆ ขณะที่การสูญเสียความหลากหลายดังกล่าวได้ทำให้เกิดผลเสียอย่างมากมายต่อการผลิต และการบริโภคของสังคมมนุษย์ รวมทั้งเกิดผลเสียต่อโอกาสการใช้ประโยชน์พรรณพืชและสัตว์ทางด้านการแพทย์และอื่นๆ แต่ตามสภาพทีเป็นอยู่ในขณะนี้ ทุกกิจกรรมการผลิตและการบริโภคของมนุษย์ได้มีส่วนทำให้เกิดผลกระทบต่อความอยู่รอดของทรัพยากรชีวภาพ ทั้งพืชและสัตว์เป็นอย่างมาก ทั้งโดยไม่ตั้งใจและเข้าใจ โดยเข้าใจเฉพาะเงื่อนไขการแข่งขันทางด้านการผลิต การตลาดและการบริโภค  ซึ่งความรู้และความเข้าใจเหล่านั้นไม่มีผลต่อการยับยั้งการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดของพืชพรรณและสัตว์หลากหลายชนิด

แนวทางการแก้ปัญหาที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อความหลากหลายของทรัพยากรชีวภาพและความหลากหลายของพืชพรรณและสัตวนานาชนิด การให้การศึกษาทั้งในและนอกโรงเรียนแก่เยาวชนและสาธารณชน เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อีกทั้งการประสานแผนการจัดการทรัพยากรให้เป็นระบบและพัฒนาเข้าสู่เป้าหมายเดียวกันของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีหน้าที่และบทบาทในการบริหารและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งยังต้องมีการกำหนดมาตรฐานการควบคุมกิจกรรมการผลิตและการบริโภค ที่มีผลกระทบโดยตรงต่อความอยู่รอดของระบบนิเวศ เช่น การใช้ผลิตภัณฑ์จากป่า จากทะเล การทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศหรือเขตอนุรักษ์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องใช้มาตรการด้านการส่งเสรมและสนับสนุนให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมทำให้เกิดปัญหาได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขและป้องกันปัญหา

บทบาทของผู้บริโภคในการป้องกันการสูญเสียของทรัพยากรชีวภาพ และความหลากหลายทางพันธุกรรมนั้น ผู้บริโภคจะต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาจากกิจกรรมบริโภค เพื่อลดปัญหาที่เกิดข้นและหาทางป้องกันด้วยการเพิ่มความรัดระวังในการบริโภค เช่น หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์จากป่าและทะเลที่ไม่ได้มาจากการผลิตที่ถูกต้อง ลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดปัญหาต่อความอยู่รอดของพรรณพืชและสัตว์ที่หายาก เช่น งดและเลิกการบริโภค การประดับสถานที่และร่างกาย การใช้ประโยชน์ชิ้นส่วน เนื้อหนัง กระดอง เขี้ยว งา และส่วนอื่นๆ ของสัตว์และพืชที่หายากทุกชนิด นอกจากนี้ ควรเข้าร่วมกิจกรรมเผยแพร่และรณรงค์สร้างความเข้าใจและจิตสำนึกในการใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสม