9 วิธีการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เพราะสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่เราจำเป็นต้องใส่ใจ และเพราะเหตุที่เราไม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมเมื่ออดีตได้เริ่มแสดงผลให้เห็นผลกระทบต่อมนุษย์ที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เช่น ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศสืบเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน  พักหลังๆจึงมีการตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมจนเริ่มได้ยินประโยคที่ว่า  “วิถีชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” อยู่บ่อยๆ  เราลองมาขยายความตามแบบฉบับสมาคมฯว่า  “วิถีชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”  นี้แท้จริงคือแบบไหนได้บ้าง

  1. ปลูกผักกินเอง — ปัจจุบันผักที่วางขายตามท้องตลาดมีการปนเปื้อนสารเคมีที่อันตรายต่อสุขภาพมากมาย หันมาปลูกผักกินเองกันดีกว่า แม้ว่ามีพื้นที่น้อยก็ไม่เป็นปัญหา สามารถปลูกผักแนวตั้งหรือในกระถางกินเองได้ ตัวอย่างโครงการที่น่าสนใจ คือ โครงการสวนผักคนเมือง: ปลูกผัก ปลูกเมือง ปลูกชีวิต หรือแปลงผักปลอดสารพิษที่ปลูกที่สวน 350 ppm ที่ศูนย์รวมตะวัน เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการพึ่งพาตัวเองด้านอาหาร—– ตัวอย่างเว็บไซต์สังคมการปลูกผักกินเอง สไตล์สวนผักคนเมือง เข้าชมได้ที่ http://www.thaicityfarm.com/
  1. รู้เลือกบริโภคของกินของใช้ที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม — จากแหล่งวัตถุดิบสู่จานอาหารของเรา ผ่านกระบวนการใช้พลังงานและสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแทบจะทุกขั้นตอน เราสามารถจะเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ผ่านกระบวนการที่เรียกว่า การประเมินวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Life Cycle assessment) หรือ LCA ซึ่งเราสามารถสังเกตได้จากการติดฉลากเขียว หรือ ฉลากคาร์บอนฟุ๊ตปริ๊น ที่ติดอยู่ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ

ฉลากคาร์บอนฟุ๊ตปริ๊น

  1. เริ่มลงมือทำจากเรื่องเล็กๆ ที่ทำได้ไปสู่เรื่องที่ยากและใหญ่ขึ้น — บางครั้งเราอาจมองว่าการใช้ชีวิตเพื่อสิ่งแวดล้อมดูเป็นเรื่องที่ทำได้อยาก เริ่มอยากเพราะเรายังติดกับความเคยชินแบบเดิมๆอยู่ แต่ที่จริงแล้วเราสามารถเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆน้อยๆในชีวิตประจำวัน เช่น การปฏิเสธถุงพลาสติกจากร้านสะดวกซื้อเมื่อซื้อของไม่เยอะ 1-3 ชิ้น หรือ การเอาชนะความขี้เกียจของตัวเองเพื่อไปปิดไฟเมื่อไม่ได้ใช้ เป็นต้น เริ่มจากสิ่งเล็กๆและเริ่มจากเราเหล่านี้เพื่อก้าวไปสู่เรื่องที่ยิ่งใหญ่กว่า ที่จะทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นได้

    ภาพจาก http://thespiritscience.net/2014/05/21/how-to-change-the-world-a-comic-strip/
  2. เตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ — การเตรียมสุขภาพให้แข็งแรง,การเลือกที่อยู่อาศัยที่ไม่เสี่ยงต่อภัยพิบัติและอุทกภัย หรือแม้กระทั่งการเตรียมเรื่องการอยู่การกินที่เน้นการพึ่งพาตัวเองทางด้านอาหาร ปัจจัยเหล่านี้เป็นเรื่องที่เราต้องรีบคำนึงถึงก่อนจะสายเกินไปกว่านี้
  3. ติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง — การรับรู้ข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องจากแหล่งต่างๆ จะทำให้เรานำมาประมวลผลและเตรียมรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี ในปัจจุบันข่าวสารมีมากกมายจนอยู่ในภาวะล้นเอ่อโดยเฉพาะในโลกออนไลน์ ฉะนั้นการรับข่าวสารก็ต้องมีการคัดกรอง วิเคราะห์ อย่าเพิ่งแตกตื่นกับข่าวเร็วจนเกินไป เพราะอาจจะเป็นข่าวลวงได้
  4. หาความรู้โดยสัมผัสประสบการณ์ตรงด้านสิ่งแวดล้อม — การออกไปเรียนรู้เพื่อสัมผัสประสบการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมจะทำให้เราได้เข้าใจและมีความตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยอาจจะไปในรูปแบบอาสาสมัครสิ่งแวดล้อม หรือการเข้าค่ายพลังงานและสิ่งแวดล้อม ซึ่งนอกจากจะได้รับความรู้ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมแล้วยังได้พบกับเพื่อนใหม่ ที่จะสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันได้
  5. แสดงความคิดเห็น — เราสามารถเป็นแรงหนุนได้ หนึ่งพลังเล็กๆรวมกันแล้วพลังจะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงดีๆที่มีต่อสิ่งแวดล้อมได้ เว็บไซต์เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงจากเสียงเล็กๆสามารถเข้าชมได้ที่ https://www.change.org/th
  6. สนับสนุนการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมกับองค์กรเอกชนที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม เช่น grrenpeace , มูลนิธิสืบ เป็นต้น
  7. ชักชวนใครหลายคนมาทำอะไรดีๆเพื่อสิ่งแวดล้อม —- การชักชวนที่ดีที่สุด คือ การทำเป็นตัวอย่างให้เห็น เริ่มจากเราเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอื่น ชวนกันมาทำความดีเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง

การใช้ชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเริ่มได้ที่ตัวเรา เริ่มจากการเรียนรู้ เข้าใจ และตระหนักจนกลายเป็นการลงมือทำ ทำแบบซ้ำๆจนกลายเป็นทักษะด้านสิ่งแวดล้อม จากนั้นเราเองจะกลายเป้นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆที่อยากลงมือทำอะไรดีๆต่อสิ่งแวดล้อมเช่นกัน