สารบัญ
- วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปกับขยะมูลฝอยที่เพิ่มมากขึ้น
- ขยะมูลฝอยคืออะไร ?
- การจัดการขยะ / 1A3R กลยุทธ์ในการจัดการขยะมูลฝอย
- การจัดการขยะที่ต้นทาง
—————————————————————————
วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปกับขยะมูลฝอยที่เพิ่มมากขึ้น
วิถีชีวิตที่กลมกลืนกับธรรมชาติ
ในอดีตคนไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียกได้ว่า กลมกลืนหรือผสมผสานกับสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ คนไทยในยุคนั้นมีการบริโภคตามความจำเป็น และมักไม่บริโภคสิ่งแปลกปลอม เช่น สารสังเคราะห์หรือสารเคมีต่างๆ มาใช้ จำนวนประชากรก็ไม่มากนัก วัสดุเหลือทิ้งหรือขยะมูลฝอยที่เกิดจากการบริโภคจึงมีไม่มากและส่วนใหญ่ก็สามารถย่อยสลายและถูกดูดซับด้วยกลไกธรรมชาติและระบบนิเวศได้ทันท่วงที คนไทยในสมัยนั้นจึงไม่ต้องประสบกับปัญหานานาประการอย่างคนในปัจจุบัน
วิถีชีวิตในยุคโลกาภิวัฒน์
การเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมที่มีแนวโน้มเลียนแบบวัฒนธรรมจากประเทศตะวันตกในรอบ 2 – 3 ทศวรรษที่ผ่านมา วิถีชีวิตคนไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก จากที่เคยเรียบง่ายและอยู่อย่างพอเพียง กลายเป็นชีวิตที่เร่งรีบและแก่งแย่งในยุคปัจจุบันคนไทยส่วนหนึ่งมีการบริโภคที่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย ในขณะที่รูปแบบการบริโภคได้เปลี่ยนไป โดยเป็นการบริโภคที่ใช้วัตถุดิบในการผลิต รวมทั้งใช้พลังงานมากนอกจากนี้ส่วนใหญ่ยังเป็นการบริโภคที่มีการใช้ทรัพยากรอย่างไม่รู้คุณค่า เป็นการใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง และเป็นการใช้สารหรือสิ่งแปลกปลอมที่มีอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม
ผลพวงขอการบริโภคในยุคโลกาภิวัฒน์
ผลพวงของการบริโภคอย่างขาดสติของคนไทยในยุคนี้ กำลังหวนกลับมาสร้างปัญหาที่นับวันจะยิ่งรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนเสมือนว่า เรากำลังหมดหนทางที่จะแก้ไข
ขยะมูลฝอย (Waste) หมายถึงสิ่งของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตและอุปโภคซึ่งเสื่อมสภาพจน ใช้การไม่ได้หรือไม่ต้องการใช้แล้ว บางชนิดเป็นของแข็งหรือกากของเสีย (Solid Waste) มีผลเสียต่อสุขภาพ ทางกายและจิตใจเนื่องจากความสกปรกเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคทำให้เกิดมลพิษและทัศนะอุจาด
โดยปัจจุบันปริมาณขยะมูลฝอยทั่วประเทศมี 27.40 ล้านตัน คนไทย 1 คน สร้างขยะโดยเฉลี่ย 1.13 กิโลกรัมต่อวัน ส่วนการกำจัดขยะมูลฝอยถูกต้อง 11.70 ล้านตัน และนำกลับมาใช้ประโยชน์ 8.52 ล้านตัน
ประเภทของขยะมูลฝอย
ประเภทมูลฝอยที่จำแนกกันทั่วไป มี 4 ประเภท
- มูลฝอยอินทรีย์ เป็นสิ่งที่ย่อยสลายได้ง่าย เช่น เศษอาหาร ผัก ผลไม้ หญ้า ใบไม้ กิ่งไม้ ซากพืช ซากสัตว์ เป็นต้น
- มูลฝอยรีไซเคิล เป็นสิ่งที่ยังมีประโยชน์สามารถนำไปแปรรูปกลับมาใช้ใหม่ เช่น กระดาษ พลาสติก แก้ว โลหะ กล่องเครื่องดื่มแบบ UHT กระป๋อง และแผ่นซีดี เป็นต้น
- มูลฝอยอันตราย เป็นสิ่งที่มีองค์ประกอบหรือปนเปื้อนสารอันตราย วัตถุมีพิษ วัตถุกัดกร่อน วัตถุติดเชื้อและวัตถุไวไฟ เช่น ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ ขวดน้ำยาล้างห้องน้ำและกระป๋องสเปรย์ เป็นต้น
- มูลฝอยทั่วไป หมายถึง สิ่งอื่นๆนอกเหนือจากข้างต้น อาจนำมาใช้ใหม่ได้ แต่ย่อยสลายยาก ไม่คุ้มค่าในการแปรรูปกลับมาใช้ใหม่ เช่น เศษผ้า เศษหนัง ซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป พลาสติกห่อขนม เป็นต้น
องค์ประกอบของขยะมูลฝอย
องค์ประกอบของขยะจะเปลี่ยนไปตามสภาพของภูมิอากาศ ฤดูกาล และพฤติกรรมทางเศรษฐกิจสังคม วิถีชีวิตตลอดจนอุปนิสัยและแบบแผนในการบริโภคของแต่ละชุมชน/เมือง โดยทั่วไปมีองค์ประกอบแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตามขยะมูลฝอยที่มีแหล่งกำเนิดมาจากชุมชนมีองค์ประกอบหลักอยู่ด้วย กัน 4 ประเภท คือ
- ขยะอินทรีย์ที่สามารถย่อยสลายได้ เช่น เศษอาหาร เศษใบไม้ เศษหญ้า (50 %)
- ขยะรีไซเคิล เช่น แก้ว กระดาษ โลหะ พลาสติก อะลูมิเนียม และยาง (30 %)
- ขยะอันตรายหรือของเสียอันตรายจากชุมชน เช่น ถ่านไฟฉาย หลอดไฟฟ้า(3%)
- ขยะทั่วไป เช่น เศษผ้า เศษไม้ เศษวัสดุก่อสร้าง เถ้าจากการเผาไหม้และอื่นๆ (17%)
สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาขยะมูลฝอย
- ความมักง่ายและขาดจิตสำนึกถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้น เป็นสาเหตุที่พบบ่อยมากซึ่งจะเห็นได้จากการทิ้งขยะลงตามพื้นหรือแหล่งน้ำโดยไม่ทิ้งลงในถังรองรับที่จัดไว้ให้และโรงงานอุตสาหกรรมบางแห่งลักลอบนำสิ่งปฏิกูลไปทิ้งตามที่ว่างเปล่า
- การผลิตหรือใช้สิ่งของมากเกินความจำเป็น เช่น การผลิตสินค้าที่มีกระดาษหรือพลาสติกหุ้มหลายชั้น และการซื้อสินค้าโดยห่อแยกหรือใส่ถุงพลาสติกหลายถุงทำให้มีขยะปริมาณมาก
- การเก็บและทำลายหรือนำขยะไปใช้ประโยชน์ไม่มีประสิทธิภาพ จึงมีขยะตกค้างกองหมักหมมและส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วบริเวณจนก่อปัญหามลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม
ผลกระทบของขยะพลาสติกในทะเลส่งผลต่ออนาคตของเด็กๆที่จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ เราไปดูกันว่าเป็นอย่าง
ปัจจุบันมีแนวทางการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง นั่นคือการเลือกวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ สินค้าต่างๆไปจนถึงปลายทางของการจัดการขยะ อาทิ การทำปุ๋ย การแยกขยะ การนำขยะรีไซเคิลไปใช้ประโยชน์ต่อ ฯลฯ ส่วนใหญ่เรามักใช้หลักการ 3Rs แต่หากจะสามารถช่วยลดและจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ การใช้หลัก 1A3R ซึ่ง 3R ที่ว่านั่นคือ Reduce Reuse และ Recycle แต่ 1A ที่เพิ่มมานั่นมีความสำคัญคือ เป็นการหลีกเลี่ยงหรืองด (Avoid) วัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์สินค้าต่างๆ ที่ก่อให้เกิดขยะ
1A3R กลยุทธ์ในการจัดการขยะมูลฝอย
1A3R คือ กลยุทธ์ในการจัดการกับขยะมูลฝอยที่เริ่มต้นที่จะมีขยะเกิดขึ้น ประกอบด้วยขั้นตอนตั้งแต่การงด – เลิก ลด ใช้ซ้ำและหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ เป็นหลักการแก้ปัญหาขยะแบบประหยัดที่ไม่ต้องอาศัยงบประมาณทางราชการใดๆ แต่ต้องอาศัยความตั้งใจ เสียสละและเวลา รวมทั้งงบประมาณส่วนตัว (เล็กน้อย) มีความหมาย ดังนี้
Avoid หรืองด –เลิก
เป็นการงดหรือเลิกการบริโภคที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคโดยตรง การบริโภคที่เป็นอันตรายต่อผู้อื่นและต่อระบบนิเวศ โดยจะต้องงดหรือเลิกบริโภค
- ผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วทิ้งเลย
- ผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้และระบบนิเวศ
- ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสัตว์ป่าหรือชิ้นส่วนของสัตว์ป่าทุกชนิด
- กิจกรรมที่ทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตมนุษย์และสภาพแวดล้อม
Reduce หรือลด
ลดการบริโภคที่จะทำให้เกิดการร่อยหรอของทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป รวมทั้งทรัพยากรที่ทดแทนใหม่ได้บางชนิดก็ต้องลดการใช้ เนื่องจากทำให้เกิดการเสียสมดุลของระบบนิเวศ โดยการลดการใช้ทรัพยากร ดังนี้
- ทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป
- ทรัพยากรที่ทดแทนใหม่ได้
- ผลิตภัณฑ์ที่เมื่อนำมาใช้ จะทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศ
- ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากขบวนการผลิตที่ต้องใช้พลังงานมาก
Reuse หรือใช้ซ้ำ – ใช้แล้วใช้อีก
เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการบริโภคอย่างเหมาะสม เพื่อลดการร่อยหรอของทรัพยากรที่มีอยู่ และลดการปล่อยมลพิษสู่สภาพแวดล้อม โดยการนำผลิตภัณฑ์และทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ในลักษณะเดิม ไม่มีการเปลี่ยนรูปทรงด้วยการหลอม บด แยกใดๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียพลังงาน เช่น
- เสื้อผ้าทุกชนิด
- ภาชนะบรรจุที่ทำด้วยแก้วทุกชนิด
- ภาชนะบรรจุอื่นๆ เช่น ลังกระดาษ ลังพลาสติก ฯลฯ
- กระดาษ
Recycle หรือหมุนเวียนกลับมาใหม่
ผลิตภัณฑ์บางชนิด แม้จะมีความคงทน แต่กลับมีอายุการใช้งานสั้น มีปริมาณการใช้มาก ทำให้เดการหมดเปลืองทรัพยากรและพลังงานอย่างรวดเร็ว จึงควรใช้ผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ประเภทนี้อย่างระมัดระวังและให้เกิดประโยชน์คุ้มค่ามากที่สุด เพื่อลดปริมาณของเสียที่จะถ่ายเทสู่สภาพแวดล้อม และเมื่อเลิกใช้แล้วควรจะจัดการเพื่อนำเอาทรัพยากรที่ครั้งหนึ่งถูกแปรเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ดังกล่าว หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งจะต้องผ่านกระบวนการหลอมละลาย บด อัด ฯลฯ ผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำมาหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ มีดังนี้
- แก้ว ได้แก่ ขวดแก้วต่างๆ ทั้งที่มีสีใส สีน้ำตาลและสีเขียว
- กระดาษ ได้แก่ กระดาษหนังสือพิมพ์ กล่องกระดาษ ถุงกระดาษ สมุด กระดาษสำนักงาน หนังสือต่างๆ
- โลหะ ได้แก่ วัสดุหรือเศษเหล็กทุกชนิด กระป๋องอลูมิเนียม ทองแดง ทองเหลือง
เป็นต้น - พลาสติก ได้แก่ ขวดน้ำพลาสติกใส ขวดน้ำพลาสติกสีขาวขุ่น ถุงพลาสติกเหนียว ภาชนะพลาสติกต่างๆ (กะละมัง ถังน้ำ ขวดแชมพู) รวมถึงบรรจุภัณฑ์ที่มีสัญลักษณ์รีไซเคิล
- Recycle กับการอนุรักษ์พลังงาน
– การผลิตสินค้าที่ใช้วัตถุดิบใหม่จากธรรมชาติ มีขั้นตอนการใช้พลังงาน ดังนี้
- ใช้พลังงานให้ได้มาซึ่งวัตถุดิบ
- ใช้พลังงานในกระบวนการผลิต
- ใช้พลังงานในการขนส่งผลิตภัณฑ์ไปสู่ตลาดเพื่อจำหน่าย
- ใช้พลังงานในการจัดวัสดุที่ใช้แล้ว
– การผลิตสินค้าที่ใช้วัสดุที่ใช้แล้วเป็นวัตถุดิบ มีขั้นตอนการใช้พลังงาน ดังนี้
- ใช้พลังงานในการรวบรวมวัสดุเหลือทิ้งจากแหล่งต่างๆ และการคัดแยกจากขยะมูลฝอย
- ใช้พลังงานในกระบวนการผลิต
- ใช้พลังงานในการขนส่งผลิตภัณฑ์ไปสู่ตลาดเพื่อจำหน่าย
หลีกเลี่ยงการทำให้เกิดขยะจำนวนมากและยากต่อการกำจัด โดย…
- ทุกครั้งที่เลือกซื้อสินค้า ให้ตรวจสอบว่าสินค้าชนิดเดียวกันนั้น
- สามารถใช้ได้หลายครั้งหรือไม่
- ยี่ห้อไหนอายุการใช้งานนานกว่า
- ยี่ห้อไหนทำมาจากทรัพยากรที่หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้
- สามารถเติมผลิตภัณฑ์เมื่อหมดหรือไม่
- การบรรจุหีบห่อมากเกินไปหรือไม่
- บรรจุภัณฑ์สามารถใช้ได้หลายครั้งหรือไม่
- บรรจุภัณฑ์สามารถนำกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ได้หรือไม่
- ศึกษาเรื่อง การประเมินวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ LCA (Life Cycle Assessment: LCA) เพื่อใช้ในการตัดสินใจในการเลือกซื้อ เลือกใช้ผลิตภัณฑ์
@@@ ศูนย์รวมตะวันมีการจัดกระบวนการเรียนรู้ด้านการจัดการขยะที่ต้นทางโดยหลัก 1A3R สามารถคลิ๊กเข้าดูรายละเอียดได้ที่ หลักสูตรการจัดการขยะ หรือ สามารถติดต่อโดยตรงกับฝ่ายประสานงานที่ โทร 096 – 6421093 หรือ 02-408-1600