สารบัญ

 —————————————————————————

วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปกับขยะมูลฝอยที่เพิ่มมากขึ้น

วิถีชีวิตที่กลมกลืนกับธรรมชาติ

ในอดีตคนไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียกได้ว่า  กลมกลืนหรือผสมผสานกับสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ  คนไทยในยุคนั้นมีการบริโภคตามความจำเป็น และมักไม่บริโภคสิ่งแปลกปลอม เช่น สารสังเคราะห์หรือสารเคมีต่างๆ มาใช้  จำนวนประชากรก็ไม่มากนัก  วัสดุเหลือทิ้งหรือขยะมูลฝอยที่เกิดจากการบริโภคจึงมีไม่มากและส่วนใหญ่ก็สามารถย่อยสลายและถูกดูดซับด้วยกลไกธรรมชาติและระบบนิเวศได้ทันท่วงที  คนไทยในสมัยนั้นจึงไม่ต้องประสบกับปัญหานานาประการอย่างคนในปัจจุบัน

วิถีชีวิตในยุคโลกาภิวัฒน์

การเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมที่มีแนวโน้มเลียนแบบวัฒนธรรมจากประเทศตะวันตกในรอบ 2 – 3 ทศวรรษที่ผ่านมา  วิถีชีวิตคนไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก  จากที่เคยเรียบง่ายและอยู่อย่างพอเพียง  กลายเป็นชีวิตที่เร่งรีบและแก่งแย่งในยุคปัจจุบันคนไทยส่วนหนึ่งมีการบริโภคที่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย  ในขณะที่รูปแบบการบริโภคได้เปลี่ยนไป  โดยเป็นการบริโภคที่ใช้วัตถุดิบในการผลิต  รวมทั้งใช้พลังงานมากนอกจากนี้ส่วนใหญ่ยังเป็นการบริโภคที่มีการใช้ทรัพยากรอย่างไม่รู้คุณค่า  เป็นการใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง  และเป็นการใช้สารหรือสิ่งแปลกปลอมที่มีอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม

ผลพวงขอการบริโภคในยุคโลกาภิวัฒน์

ผลพวงของการบริโภคอย่างขาดสติของคนไทยในยุคนี้  กำลังหวนกลับมาสร้างปัญหาที่นับวันจะยิ่งรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนเสมือนว่า  เรากำลังหมดหนทางที่จะแก้ไข


ขยะมูลฝอยคืออะไร ?

           ขยะมูลฝอย (Waste)  หมายถึงสิ่งของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตและอุปโภคซึ่งเสื่อมสภาพจน ใช้การไม่ได้หรือไม่ต้องการใช้แล้ว บางชนิดเป็นของแข็งหรือกากของเสีย (Solid Waste) มีผลเสียต่อสุขภาพ ทางกายและจิตใจเนื่องจากความสกปรกเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคทำให้เกิดมลพิษและทัศนะอุจาด

โดยปัจจุบันปริมาณขยะมูลฝอยทั่วประเทศมี 27.40 ล้านตัน คนไทย 1 คน สร้างขยะโดยเฉลี่ย 1.13 กิโลกรัมต่อวัน ส่วนการกำจัดขยะมูลฝอยถูกต้อง 11.70 ล้านตัน และนำกลับมาใช้ประโยชน์ 8.52 ล้านตัน

ขอบคุณภาพจาก http://www.moveworldtogether.com/TH/article-detail.php?ID=22

ประเภทของขยะมูลฝอย

ประเภทมูลฝอยที่จำแนกกันทั่วไป มี 4 ประเภท

  1. มูลฝอยอินทรีย์ เป็นสิ่งที่ย่อยสลายได้ง่าย เช่น เศษอาหาร ผัก ผลไม้ หญ้า ใบไม้ กิ่งไม้ ซากพืช ซากสัตว์ เป็นต้น
  2. มูลฝอยรีไซเคิล เป็นสิ่งที่ยังมีประโยชน์สามารถนำไปแปรรูปกลับมาใช้ใหม่ เช่น กระดาษ พลาสติก แก้ว โลหะ กล่องเครื่องดื่มแบบ UHT กระป๋อง และแผ่นซีดี เป็นต้น
  3. มูลฝอยอันตราย เป็นสิ่งที่มีองค์ประกอบหรือปนเปื้อนสารอันตราย วัตถุมีพิษ วัตถุกัดกร่อน วัตถุติดเชื้อและวัตถุไวไฟ เช่น ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ ขวดน้ำยาล้างห้องน้ำและกระป๋องสเปรย์ เป็นต้น
  4. มูลฝอยทั่วไป หมายถึง สิ่งอื่นๆนอกเหนือจากข้างต้น อาจนำมาใช้ใหม่ได้ แต่ย่อยสลายยาก ไม่คุ้มค่าในการแปรรูปกลับมาใช้ใหม่ เช่น เศษผ้า เศษหนัง ซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป พลาสติกห่อขนม เป็นต้น

องค์ประกอบของขยะมูลฝอย

องค์ประกอบของขยะจะเปลี่ยนไปตามสภาพของภูมิอากาศ ฤดูกาล และพฤติกรรมทางเศรษฐกิจสังคม วิถีชีวิตตลอดจนอุปนิสัยและแบบแผนในการบริโภคของแต่ละชุมชน/เมือง โดยทั่วไปมีองค์ประกอบแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตามขยะมูลฝอยที่มีแหล่งกำเนิดมาจากชุมชนมีองค์ประกอบหลักอยู่ด้วย กัน 4 ประเภท คือ

  1. ขยะอินทรีย์ที่สามารถย่อยสลายได้ เช่น เศษอาหาร เศษใบไม้ เศษหญ้า (50 %)
  2. ขยะรีไซเคิล เช่น แก้ว กระดาษ โลหะ พลาสติก อะลูมิเนียม และยาง (30 %)
  3. ขยะอันตรายหรือของเสียอันตรายจากชุมชน เช่น ถ่านไฟฉาย หลอดไฟฟ้า(3%)
  4. ขยะทั่วไป เช่น เศษผ้า เศษไม้ เศษวัสดุก่อสร้าง เถ้าจากการเผาไหม้และอื่นๆ (17%)

สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาขยะมูลฝอย

  1. ความมักง่ายและขาดจิตสำนึกถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้น เป็นสาเหตุที่พบบ่อยมากซึ่งจะเห็นได้จากการทิ้งขยะลงตามพื้นหรือแหล่งน้ำโดยไม่ทิ้งลงในถังรองรับที่จัดไว้ให้และโรงงานอุตสาหกรรมบางแห่งลักลอบนำสิ่งปฏิกูลไปทิ้งตามที่ว่างเปล่า
  2. การผลิตหรือใช้สิ่งของมากเกินความจำเป็น เช่น การผลิตสินค้าที่มีกระดาษหรือพลาสติกหุ้มหลายชั้น และการซื้อสินค้าโดยห่อแยกหรือใส่ถุงพลาสติกหลายถุงทำให้มีขยะปริมาณมาก
  3. การเก็บและทำลายหรือนำขยะไปใช้ประโยชน์ไม่มีประสิทธิภาพ จึงมีขยะตกค้างกองหมักหมมและส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วบริเวณจนก่อปัญหามลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม

ผลกระทบของขยะพลาสติกในทะเลส่งผลต่ออนาคตของเด็กๆที่จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ เราไปดูกันว่าเป็นอย่าง


ภาพจาก https://ru.depositphotos.com/22717705/stock-illustration-eco-end-recycle-symbols.html

การจัดการขยะ

ปัจจุบันมีแนวทางการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง นั่นคือการเลือกวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ สินค้าต่างๆไปจนถึงปลายทางของการจัดการขยะ อาทิ การทำปุ๋ย การแยกขยะ การนำขยะรีไซเคิลไปใช้ประโยชน์ต่อ ฯลฯ ส่วนใหญ่เรามักใช้หลักการ 3Rs แต่หากจะสามารถช่วยลดและจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ การใช้หลัก 1A3R ซึ่ง 3R ที่ว่านั่นคือ Reduce Reuse และ Recycle แต่ 1A ที่เพิ่มมานั่นมีความสำคัญคือ เป็นการหลีกเลี่ยงหรืองด (Avoid) วัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์สินค้าต่างๆ ที่ก่อให้เกิดขยะ

1A3R กลยุทธ์ในการจัดการขยะมูลฝอย

1A3R คือ กลยุทธ์ในการจัดการกับขยะมูลฝอยที่เริ่มต้นที่จะมีขยะเกิดขึ้น ประกอบด้วยขั้นตอนตั้งแต่การงด – เลิก  ลด ใช้ซ้ำและหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ เป็นหลักการแก้ปัญหาขยะแบบประหยัดที่ไม่ต้องอาศัยงบประมาณทางราชการใดๆ แต่ต้องอาศัยความตั้งใจ  เสียสละและเวลา  รวมทั้งงบประมาณส่วนตัว (เล็กน้อย) มีความหมาย  ดังนี้

Avoid  หรืองด –เลิก

เป็นการงดหรือเลิกการบริโภคที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคโดยตรง  การบริโภคที่เป็นอันตรายต่อผู้อื่นและต่อระบบนิเวศ  โดยจะต้องงดหรือเลิกบริโภค

  1. ผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วทิ้งเลย
  2. ผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้และระบบนิเวศ
  3. ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสัตว์ป่าหรือชิ้นส่วนของสัตว์ป่าทุกชนิด
  4. กิจกรรมที่ทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตมนุษย์และสภาพแวดล้อม

Reduce หรือลด

ลดการบริโภคที่จะทำให้เกิดการร่อยหรอของทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด  ทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป รวมทั้งทรัพยากรที่ทดแทนใหม่ได้บางชนิดก็ต้องลดการใช้  เนื่องจากทำให้เกิดการเสียสมดุลของระบบนิเวศ โดยการลดการใช้ทรัพยากร  ดังนี้

  1. ทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป
  2. ทรัพยากรที่ทดแทนใหม่ได้
  3. ผลิตภัณฑ์ที่เมื่อนำมาใช้ จะทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศ
  4. ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากขบวนการผลิตที่ต้องใช้พลังงานมาก

Reuse หรือใช้ซ้ำ – ใช้แล้วใช้อีก

เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการบริโภคอย่างเหมาะสม  เพื่อลดการร่อยหรอของทรัพยากรที่มีอยู่  และลดการปล่อยมลพิษสู่สภาพแวดล้อม โดยการนำผลิตภัณฑ์และทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ในลักษณะเดิม  ไม่มีการเปลี่ยนรูปทรงด้วยการหลอม  บด  แยกใดๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียพลังงาน  เช่น

  1. เสื้อผ้าทุกชนิด
  2. ภาชนะบรรจุที่ทำด้วยแก้วทุกชนิด
  3. ภาชนะบรรจุอื่นๆ เช่น ลังกระดาษ  ลังพลาสติก ฯลฯ
  4. กระดาษ

Recycle หรือหมุนเวียนกลับมาใหม่

ผลิตภัณฑ์บางชนิด  แม้จะมีความคงทน แต่กลับมีอายุการใช้งานสั้น มีปริมาณการใช้มาก  ทำให้เดการหมดเปลืองทรัพยากรและพลังงานอย่างรวดเร็ว  จึงควรใช้ผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ประเภทนี้อย่างระมัดระวังและให้เกิดประโยชน์คุ้มค่ามากที่สุด  เพื่อลดปริมาณของเสียที่จะถ่ายเทสู่สภาพแวดล้อม  และเมื่อเลิกใช้แล้วควรจะจัดการเพื่อนำเอาทรัพยากรที่ครั้งหนึ่งถูกแปรเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ดังกล่าว  หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่  ซึ่งจะต้องผ่านกระบวนการหลอมละลาย บด  อัด ฯลฯ ผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำมาหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้  มีดังนี้

  1. แก้ว ได้แก่  ขวดแก้วต่างๆ ทั้งที่มีสีใส  สีน้ำตาลและสีเขียว
  2. กระดาษ ได้แก่ กระดาษหนังสือพิมพ์  กล่องกระดาษ  ถุงกระดาษ  สมุด  กระดาษสำนักงาน หนังสือต่างๆ
  3. โลหะ ได้แก่ วัสดุหรือเศษเหล็กทุกชนิด   กระป๋องอลูมิเนียม  ทองแดง  ทองเหลือง
    เป็นต้น
  4. พลาสติก ได้แก่  ขวดน้ำพลาสติกใส  ขวดน้ำพลาสติกสีขาวขุ่น  ถุงพลาสติกเหนียว ภาชนะพลาสติกต่างๆ (กะละมัง  ถังน้ำ  ขวดแชมพู) รวมถึงบรรจุภัณฑ์ที่มีสัญลักษณ์รีไซเคิล
  • Recycle กับการอนุรักษ์พลังงาน

– การผลิตสินค้าที่ใช้วัตถุดิบใหม่จากธรรมชาติ  มีขั้นตอนการใช้พลังงาน  ดังนี้

  • ใช้พลังงานให้ได้มาซึ่งวัตถุดิบ
  • ใช้พลังงานในกระบวนการผลิต
  •  ใช้พลังงานในการขนส่งผลิตภัณฑ์ไปสู่ตลาดเพื่อจำหน่าย
  •  ใช้พลังงานในการจัดวัสดุที่ใช้แล้ว

– การผลิตสินค้าที่ใช้วัสดุที่ใช้แล้วเป็นวัตถุดิบ  มีขั้นตอนการใช้พลังงาน ดังนี้

  • ใช้พลังงานในการรวบรวมวัสดุเหลือทิ้งจากแหล่งต่างๆ และการคัดแยกจากขยะมูลฝอย
  • ใช้พลังงานในกระบวนการผลิต
  • ใช้พลังงานในการขนส่งผลิตภัณฑ์ไปสู่ตลาดเพื่อจำหน่าย

การจัดการขยะที่ต้นทาง

หลีกเลี่ยงการทำให้เกิดขยะจำนวนมากและยากต่อการกำจัด  โดย…

  • ทุกครั้งที่เลือกซื้อสินค้า  ให้ตรวจสอบว่าสินค้าชนิดเดียวกันนั้น
    • สามารถใช้ได้หลายครั้งหรือไม่
    • ยี่ห้อไหนอายุการใช้งานนานกว่า
    • ยี่ห้อไหนทำมาจากทรัพยากรที่หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้
    • สามารถเติมผลิตภัณฑ์เมื่อหมดหรือไม่
    • การบรรจุหีบห่อมากเกินไปหรือไม่
    • บรรจุภัณฑ์สามารถใช้ได้หลายครั้งหรือไม่
    • บรรจุภัณฑ์สามารถนำกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ได้หรือไม่
    • ศึกษาเรื่อง การประเมินวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ LCA (Life Cycle Assessment: LCA) เพื่อใช้ในการตัดสินใจในการเลือกซื้อ เลือกใช้ผลิตภัณฑ์

@@@ ศูนย์รวมตะวันมีการจัดกระบวนการเรียนรู้ด้านการจัดการขยะที่ต้นทางโดยหลัก 1A3R สามารถคลิ๊กเข้าดูรายละเอียดได้ที่ หลักสูตรการจัดการขยะ หรือ สามารถติดต่อโดยตรงกับฝ่ายประสานงานที่ โทร 096 – 6421093 หรือ 02-408-1600 

download คู่มือจัดค่ายพลังงานและสิ่งแวดล้อม