คนไทยรู้ว่ามีภาวะโลกร้อน แต่ไม่ทำอะไร

มองผ่านจากเรื่องสงครามและการก่อการร้ายออกไป ดูเหมือนเรื่องที่ชาวโลก “อินเทรนด์” มากที่สุดในตอนนี้คือ “รักษาโลกร้อน” ให้ดีขึ้น หรืออย่างแย่ที่สุด คือ ไม่ควรให้เลวร้ายไปกว่านี้ จากสภาวะที่เราเรียกติดปากว่า “วิกฤตโลกร้อน” ในฐานะเพื่อนร่วมดาวเคราะห์ดวงนี้ ประเทศไทยเองก็รับกระแสห่วงใยนี้มาด้วยเช่นกัน ดร.จิรพล สินธุนาวา อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้หนึ่งที่ติดตามเรื่องของสภาวะโลกร้อนและการใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลืองชนิดเกาะติดและยาวนาน ความเห็นและการอธิบายเรื่องสภาวะโลกร้อนของเขา จึงเป็นเรื่องที่ควรรับฟังและตระหนักไว้ไม่น้อย

 

การใช้พลังงานของมนุษย์กับภาวะวิกฤติเรื่องโลกร้อน มีความสัมพันธ์กันอย่างไร ?

 

ดร.จิรพล : นับตั้งแต่มนุษย์รู้จักเอาพลังงานถ่านหินมาใช้ในปี 1750 เป็นต้นมา ก็ถือว่าเป็นการปฎิวัติอุตสาหกรรม เอารถจักรไอน้ำมาใช้ เอาเครื่องทำไอน้ำมาใช้ แล้วตอนนี้มีการวัดกันว่า ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศมีอยู่เท่าไหร่ เราก็พบว่ามันมีอยู่แค่ 270 ส่วนในล้านส่วน ก็ไม่ได้สนอะไรทุกคนก็พัฒนาเอาน้ำมันมาใช้ เจาะลงไปลึกๆ เอาก๊าซธรรมชาติมาใช้ ปรากฎว่า เขาเช็กตามกันมาเรื่อยๆ เลย จนล่าสุดนี่ 383 ส่วนในล้านส่วน แต่ที่น่าแปลกใจมากๆ คือ อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกมันขยับตาม เขาก็เลยเชื่อแน่ว่า มันต้องเกี่ยวข้องกันแน่เลย เขาก็เลยทำการศึกษาวิจัยกัน แล้วก็พบว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเกิดขึ้นจากการเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิง มันเป็นส่วนสำคัญที่เก็บกักควมร้อนอยู่ ก็เป็นเหตุให้โลกร้อนขึ้น เมื่อเป็นอย่างนี้ก็เลยสงสัยว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เหล่านี้มากจากไหน จากต้นไม้หรือเปล่า….เปล่า กิจกรรมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของเรา เพิ่มขึ้นตามลำดับ มีการขยายเมือง มีการขยายการผลิต จำนวนประชากรเพิ่มสูงขึ้น

ฉะนั้น เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม(การประชุมคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภาวะอากาศ หรือ IPCC ที่กรุงเทพฯ) นักวิทยาศาสตร์จำนวน 2,500 คน จึงสรุปว่าภาวะโลกร้อน ร้อยละ 90 มาจาการกระทำของมนุษย์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง จากการตัดต้นไม้ทำลายป่า แน่นอนที่สุดเลย

เมื่อเป็นอย่างนั้นขึ้นมา ถ้าจะแก้ไขต้องแก้ที่คน แต่ว่าถ้าจะป้องกัน มันอาจจะสายไปนิดนึงเพราะว่า ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์บนชั้นบรรยากาศ 383 ส่วนในล้านส่วน ก็น่าเป็นห่วง มันเยอะมาก บางคนถึงขนาดบอกว่า มันถึงจุดที่เรียกว่าไม่สามารถกลับมาเป็นอย่างเก่าได้ หรือ เดอะ พอยท์ ออฟ โน รีเทิร์น คือตอนนี้เตรียมรับกรรมที่เกิดขึ้นจากการกระทำตรงนี้ได้แล้ว รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของประเทศอังกฤษถึงขนาดประกาศเลยว่า มันเป็นกรรม เขาเป็นฝรั่งที่ไม่นับถือพุทธศาสนานะ เขาบอกว่ามันเป็นกรรมของคนที่เราได้ใช้พลังงานสิ้นเปลือง และสะสมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ชั้นบรรยากาศจนมากเกินกว่าที่เราจัดการมันได้แล้ว

ตอนนี้เรื่องของการป้องกัน…แทบจะไม่ต้องพูดอะไรเลย ความหวังริบหรี่มากทีเดียว ก็เลยมาดูว่า ถ้าสถานการณ์ที่เป็นอยู่ขณะนี้อะไรเกิดขึ้นบ้าง เช่น อากาศมันร้อนขึ้นก็ทำให้เกิดการเคลื่อนตัวของมวลอากาศที่ผิดไปจากเดิม ภาวะความแปรปรวนของภูมิอากาศมันเกิดขึ้นแล้วในตอนนี้ แล้วก็ทำให้ฝนตกไม่กระจายตัว ทำให้เกิดน้ำท่วม ทำให้เกิดภัยแล้ง ไฟป่า พอแล้งขึ้นมา ความชื้นในอากาศน้อยพอใครจุดไฟทีหนึ่ง มันก็กระพือเร็วเลย สมมติอย่างหน้าฝน มันจุดไฟไม่ไหม้หรอก เพราะความชื้นบนดินมันเยอะ แต่พอหน้าแล้ง ช่วงที่มันแล้งเข้ามากๆ พอจุดไฟนิดเดียว มันไป โอ้โห! 4-5 วัน อันนี้ก็เป็นผลกระทบจากภาวะโลกร้อน แต่ก่อนจะเกิดภาวะโลกร้อน ก็เกิดการสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก่อน รวมทั้งเกิดจากการแปรปรวนของอากาศ อุณหภูมิมันสูงขึ้น อันนี้คือ เหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

 

ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กี่ส่วนต่อล้านส่วนถึงจะไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์

 

ดร.จิรพล : ตอนนี้ก็ปลอดภัย แต่ก็มีภัยพิบัติทุกปี ตอนนี้ 380 โอ.เค.แต่ที่เขากลัวมากคือ 450  เพราะตรง 450 จะทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น 2 องศา ตอนนี้สูงขึ้นมา 0.6-0.9 องศาเซลเซียสแล้ว ถ้าสูงไปกว่านี้น้ำแข็งจะละลายมากกว่านี้ แล้วถึงจุดที่ว่ามันจะไม่กลับไปเป็นน้ำแข็งอีก เพราะมันร้อนเกินกว่าฤดูหนาวจะทำให้เกิดก้อนน้ำแข็งมหึมาแบบนั้นได้อีก ที่เขากลัวกันอยู่ที่ว่า 450 แล้วตอนนี้ 380 เหลืออีกแค่ 70 เอง ปีหนึ่งเราปล่อยขึ้นไป 8-10 ถ้าถึง 450 เมื่อไหร่ อย่างที่บอก เดอะ พอยท์ ออฟ โน รีเทิร์น คือกลับไปเป็นอย่างเก่าไม่ได้ มันต้องรับสภาพกันทุกคน

 

ภาวะโลกร้อน ก่อให้เกิดผลกระทบอะไรบ้าง ?

 

ดร.จิรพล : มันก่อให้เกิดผลกระทบ 10 อย่าง ในชีวิตประจำวันของเราเอง ใน 10 อย่างนี้ก็คือ หนึ่ง เรื่องของคลื่นความร้อน ซึ่งเมื่อสองอาทิตย์ที่ผ่านมา ทำให้คนอินเดียตายไป 103 คน ภายในวันเดียวกัน เพราะว่าตั้ง 49 องศาเซลเซียส ไม่ไหว ขนาดกรุงเทพฯ 39 องศา คนก็บ่นกันแย่แล้ว ร้อนถึงขั้นรัฐบาลอินเดียประกาศให้เป็นวันหยุดราชการ ห้ามคนออกมาจากอาคารบ้านเรือน แล้วขอให้คนเก็บตัวอยู่ในอาคาร อย่าเดินออกมาข้างนอก ถ้าจำเป็นต้องออกมาเดินข้างนอก ให้เอาผ้าปรกหัวปิดหูไว้ อย่าให้ความร้อนมันออกไป ในวันเดียวกันที่ประเทศปากีสถานตายไป 47 คน นี่คือคลื่นความร้อนแล้วเมืองไทยก็โดนบ่อย จนเมื่อช่วงพฤษภาคมที่ผ่านมา กรุงเทพฯ ร้อน 40 องศา แล้วที่แม่สอด จังหวัดตาก ร้อน 43 องศา ตายไป 3 คน เพราะฉะนั้นเรื่องของคลื่นความร้อนนี่คือภัยอันดับหนึ่งเลย

สอง ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น เพราะว่าพอโลกมันร้อนขึ้นอุณหภูมิสูงขึ้น น้ำแข็งมันก็ละลาย น้ำแข็งบนภูเขาสูงๆ ซึ่งเป็นน้ำแข็งหมื่นปี สามพันปี พอละลายขึ้นมา เป็นยังไงครับ น้ำจืดที่ละลายมาก็ไหลลงสู่ทะเล ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นกว่าเดิม ทีนี้น้ำทะเลก็ไม่ได้อยู่นิ่งๆ มันก็มีคลื่นตลอดเวลา คลื่นที่มันซัดเข้ามาทุกนาที ยิ่งคลื่นสูงขึ้น มันก็ซัดเข้าไปถึงชายหาด ตัวอาคารมันก็ดูดทรายใต้ตัวอาคารลงมา ทำให้เกิดการทรุดตัวของอาคารหลังคาพังลงมา ชายหาดเสียหาย ถนนพังอย่างประเทศไทย เสียหายมากทีเดียว กรุงเทพฯ ป่าชายเลนหายปีละ 8-10 เมตร ปัจจุบันสาเหตุของกทม. ออกจากชายฝั่งไป 900 เมตร เพราะฉะนั้นประเทศไทยไม่มีข้อยกเว้นเลยในเรื่องของระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น

ปัญหาที่สาม เรื่องของโลกระบาด โรคภัยต่างๆ มันกลับมาอีก อย่างวัณโรคเป็นเยอะขึ้น คนก็สงสัยว่าวัณโรค เราจัดการมันอยู่มือแล้ว หายแล้วแต่ทำไมกลับมาอีก แล้วอีกโรคคือมาลาเรีย ปรากฎว่า คนที่เดินทางไปต่างประเทศ อย่างที่ญี่ปุ่น มีคนไม่เคยทำพาสปอร์ตเลย แต่เป็นมาลาเรีย ก็แสดงว่าอากาศในโตเกียวมันร้อนขึ้นแล้ว พอร้อนขึ้นทำให้ยุงที่มีเชื้อมาลาเรียมันไม่ตาย ก็ไปกัดคนข้างโรงพยาบาลที่เป็นมาลาเรีย ไม่ใช่แค่ที่ญี่ปุ่นนะ ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษก็เป็นด้วยนะ คนไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศ ไม่เคยมีพาสปอร์ต แต่เป็นมาลาเรียเพราะว่านักท่องเที่ยวที่เป็นมาลาเรีย กลับมาจากการท่องเที่ยวมานอนรักษาตัว แล้วทำให้ยุงที่มีเชื้อไปแพร่กระจายกันคนอื่น

ปัญหาที่สี่ ก็คือ การที่มีน้ำแข็งในที่สูง บนภูเขาหิมาลัยธารน้ำแข็งบนภูเขาสูงๆ อย่างเทือกเขาคีรีมันจาโร ในทวีปแอฟริกา มันละลาย ซึ่งมันเป็นปัญหาสำคัญมาก เพราะน้ำแข็งเหล่านี้เป็นแหล่งน้ำจืดที่สำคัญของคนประมาณ 2 พันล้านคนทั่วโลก เพราะมันไม่มีฝนอย่างบ้านเรา ก็อาศัยน้ำแข็งละลายมา อย่างแม่น้ำคงคามาจากธารน้ำแข็ง อย่างนี้เป็นต้น พอน้ำแข็งละลายเสร็จเรียบร้อย ก็จะอาศัยน้ำจืดที่ได้มาทำน้ำประปา ทำอะไรต่างๆ ใช้สอยกัน พอน้ำแข็งละลายไปเร็ว หรือหดน้อยลง พวกนี้จะลำบากเพราะไม่มีแหล่งสำรอง แล้วฝนนานๆ ตกที เพราะฉะนั้นเขาก็จะอยู่ในภาวะวิกฤต เช่นกัน

ปัญหาข้อที่ห้า เรื่องของขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกใต้ที่มันร้อนขึ้น ทีนี้ขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกใต้ มันมีน้ำแข็งหมื่นปีอยู่ที่นั่น มันร้อนขึ้นมาปุ๊ป น้ำแข็งก็ละลาย ขั้วโลกเหนือนี่น้ำแข็งอยู่ในทะเล พอมันละลายปุ๊ป น้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือหายไป กระแสน้ำอุ่นก็จะไม่จมลงทะเลลึก ซึ่งปกติมันเจอน้ำแข็งมันต้องจมลงทะเลลึก มันก็จะเกิดความแปรปรวนของกระแสน้ำอุ่น กัลฟ์สตรีม ไปทั่วโลกอีกก็ทำให้เกิดการระส่ำระสายเรื่องของภาวะอากาศอีกด้วย นี้คือห้าปัญหาแล้ว

ปัญหาที่หก เรื่องของโลกร้อน มันทำให้เกิดปะการังฟอกขาว เนื่องจากว่า น้ำทะเลที่ร้อนขึ้น ทำให้แบคทีเรียตาย ทำให้จุลินทรีย์ตัวเล็กๆ ซึ่งเป็นตัวสร้างเซลล์ปะการังมันตาย พอตายปุ๊ป ตัวสร้างสีสันมันหายไป ประกอบกับน้ำทะเลมันดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์บนชั้นบรรยากาศเข้ามาอีก ก็เลยทำให้น้ำทะเลเป็นกรดมากขึ้น ปะการังฟอกขาวเยอะมาก

ต่อมาคือเรื่องของภัยแล้งกับไฟป่า ปีนี้เราเจอเยอะมาก สัปดาห์ที่สองของเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ที่เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เจอเยอะมาก ถึงขึ้นที่หมอกควันเต็มไปหมดเลย

ปัญหาต่อมา คือ เรื่องของการที่ฝนตกเฉพาะที่ คือ ฝนมันต้องตกกระจาย แต่มัน ไปตกที่…อย่างอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ฝนตกคืนเดียว 550 มิลลิเมตร ซึ่งที่ลับแลเจอปริมาณน้ำฝน 38 มิลลิเมตร ก็เรียกว่าแย่แล้ว เจอ 550 มิลลิเมตร นี่ดินทะลักมาจากภูเขาเป็นโคลนเลย ไหลมาชนบ้านเรือน ตายไป 67 คน แล้วมันไม่ใช่แค่ที่ลับแลอย่างเดียว มันยังไปที่จังหวัดแพร่ และจังหวัดอื่นๆด้วย ที่มีการเสียหายเกิดขึ้น

การตกของฝน เดี๋ยวนี้ปริมาณน้ำฝนมันไม่เปลี่ยนแปลง แต่มันไม่กระจาย มันไปแช่อยู่ที่เดียว เหมือนท่อที่รั่วไหลลงมาเลย ทีนี้ต่อให้มีป่า มีต้นไม้หนาแน่นแค่ไหนก็แล้วแต่ รากมันทานไว้ไม่ไหวหรอก ดินมันอ่อนก็ไหลมาพร้อมดิน ไหลเป็นต้นเลย อันนี้คือปัญหาที่ตามมา

อีกปัญหาก็คือ น้ำทะเลที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นเพราะก้อนน้ำแข็งที่ละลาย ต้นไม้นี่ล้มลงไปปีๆ เป็นหมื่นๆ ต้น ต้นสนอายุ 60 ปี ซึ่งมันเกิดมาได้ ไม่เคยเดือดร้อนอะไรเลย ถ้าน้ำทะเลมันอยู่ตรงนั้น ต้นสนขึ้นไม่ได้ แต่น้ำทะเลอยู่ต่ำมาก ต้นสนขึ้นมา 60 ปี แล้วอยู่มาวันหนึ่งรากมันไม่มีอะไรเกาะเพราะทรายมันโดนดูดไปหมดก็ล้มลง แล้วมีเจ้าของบ้านพักตากอากาศแถวปราณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ มีเยอะมากทีเดียวไปแล้วตกใจ ไม่ได้กลับไปบ้านสองสามอาทิตย์ ต้นสนฉันหายไปไหน นอนอยู่ชายหาดหมดแล้ว โทรศัพท์เรียกผู้รับเหมาเลย ทำรั้วใหม่ ทำคันคอนกรีตใหม่ เราก็บอกว่า ไม่ต้องหรอกคุณ มันไม่ได้ช่วยอะไรแล้ว พอคุณทำเสร็จกลับไปคลื่นมันก็มาอีก ก็ล้วงทรายอีก เขาก็ถามว่า ต้องทำยังไง ผมก็บอกว่า คุณต้องทำใจดินเหลือแค่นี้ หรือไม่ก็ขายซะ เขาก็ทำหน้าตื่น ขายเหรอ ผมก็บอกว่า ถ้าคุณอยากเอาไว้เป็นภาระก็ต้องขาย

 

๏  ที่เราพูดกันติดปากว่า ก๊าซเรือนกระจก จริงๆแล้ว ก๊าซเรือนกระจกมีคุณสมบัติอะไรบ้าง ?

 

ดร.จิรพล : ก๊าซพวกนี้สามารถดูดซับความร้อนได้ด้วย ถามว่ามีอยู่บนผิวโลกมั้ย มันสูงจากผิวโลก 12 กิโลเมตร ไอ้ผิวโลกเรานี่ หลังคา ผนัง คอนกรีต มันดูดซับความร้อนจากดวงอาทิตย์ไว้ ทีนี้พอมันดูดซับความร้อนไว้มากๆ ก็พยามจะแผ่ออกไปเหมือนกัน เพราะมันไม่ใช่ปกติของมัน มันก็แผ่รังสีออกไป แต่ตอนที่เขาเข้ามาจากดวงอาทิตย์ มันเข้ามาเป็นอัลตาไวโอเลต แต่ตอนที่มันแผ่รังสีเป็นมิราจขึ้นไป มันเป็นอินฟาเรด ทีนี้พอเป็นอินฟาเรดปุ๊ป อำนาจทะลุทะลวงมันต่ำแล้ว มันก็ขึ้นไป ชั้น 12 กิโลเมตร ก็ไปเจอก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ดูดซับความร้อนเอาไว้

ความร้อนที่ดูดซับของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็เช่นเดียวกับคอนกรีต มันก็จะพยายามปล่อยมาอีก เจอรังสีความร้อนจากพื้นดินขึ้นมาอีก ฉะนั้นมันก็ปะทะอยู่ตรงกลาง กลายเป็นว่าชั้นผิวโลกที่ 12 กิโลเมตร มันร้อนมาก เพราะฉะนั้นก๊าซที่มันปกคลุมทั่วโลก เปรียบเสมือนว่าประเทศที่หนาวเย็น เขาจะทำห้องกระจกเอาไว้สำหรับถักนิตติ้งในฤดูหนาว คุยกันพ่อแม่ลูกได้ เพราะตรงนั้นจะเป็นห้องที่อบอุ่นที่สุด แสงแดดเข้ามา เพราะไม่มีหลังคาทึบปิดอยู่ อันนั้นเป็นสภาวะเรือนกระจก เขาก็เลยเหมือนกับว่าโลกเราอยู่ในสภาวะเรือนกระจก ซึ่งมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เปรียบเสมือนกระจกคลุมเอาไว้ เราจึงติดปากพูดกันภาวะเรือนกระจก

 

 ๏  มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ใหม่ว่ามีก๊าซอะไรบ้าง ?

 

ดร.จิรพล : ก๊าซพวกนี้สำคัญและมีปริมาณมากที่สุดคือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รองลงมาคือ มีเทน อันดับสาม ก๊าซไนตัสออกไซด์ อันดับรองๆ ลงไปก็พวกซีเอฟซี(คลอโรฟลูออโรคาร์บอน) พวกไฮโดรคาร์บอนทุกชนิด รวมทั้งละอองน้ำในอากาศ ซึ่งก็ทำหน้าที่เป็นก๊าซเรือนกระจกได้ด้วย เพราะมันจะดูดซับความร้อน แล้วก็ถ่ายเทความร้อนกลับมาใหม่ เพราะฉะนั้นตัวที่หนักที่สุดที่เรากลัวก็คือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์ก็ขึ้นไปเหมือนกัน แต่ปริมาณไม่มากเท่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพราะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาจากต้นไม้ มาจากเราหายใจ มาจากท่อไอเสียรถยนต์ กลับขึ้นไปอยู่เยอะมากทีเดียว

 

๏  ความจริงแล้ว มีวงจรไหมว่า กี่สิบปีอุณหภูมิโลกถึงสูงขึ้น ?

 

ดร.จิรพล : วงจรของมันคือ ยุคน้ำแข็ง หรือยุคอะไรต่างๆ มันใช้เวลาเป็นพันปี ตอนนี้ยังไม่ถึง แต่ทีนี้มันมาเร็วกว่ากำหนดมาก แล้ววงจรของอากาศ การเปลี่ยนแปลงนี่มัน 50,60 นี่ยังไม่ถึง หลายอย่างด้วยกันที่เราคิดว่า เป็นเรื่องแปรเปลี่ยนตามธรรมชาติหรือเปล่า ไม่ใช่เรื่องโลกร้อนที่เราเชื่อกันไปเอง แต่ปรากฎว่านักวิทยาศาสตร์ที่มาประชุมกัน 2,500 คน บอกว่าไม่ใช่แล้ว เขาเช็กทุกวงรอบที่เกี่ยวข้องแล้วมันไม่ตรงกับวงรอบใดเลย แล้วที่สำคัญที่สุดคือระยะเวลามันเกิดสั้นลงแล้ว คือวงรอบมันบางที 2 พันปี หรือ 1,800 ปี 6 พันปี แต่ไม่ตรงกับอะไรเลย มันเกิดขึ้นแล้ว เพราะฉะนั้นตัดประเด็นเรื่องของการที่มันอาจจะเป็นเรื่องของวงจรของการแปรเปลี่ยนไปตามธรรมชาติที่เรากังวลกันไปเอง…ไม่ใช่ครับ เป็นเรื่องของผลการกระทำของมนุษย์จริงๆ

ฉะนั้นปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศมันเพิ่มขึ้น ความรุนแรงของความแปรปรวนก็ยิ่งปรากฎชัดมากยิ่งขึ้น คราวนี้ไม่ใช่เป็นเพราะว่าเรามาสังเกตกันตอนนี้ มันไม่ใช่เรื่องต้องสังเกต สมัยก่อนต้องคอยดูว่าใช่หรือไม่ใช่ สมัยนี้ป้ายโฆษณาใหญ่ๆ มันล้มลงมาเพราะว่าแรงของลมมันมากขึ้น ประกอบกับป้ายเรามีเยอะด้วย แต่ตรงนี้มันชัดเจนแล้วว่า มันเป็นเรื่องของภาวะอากาศแปรปรวน แล้วที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้คือ กรุงเทพฯ เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ระดับน้ำทะเลสูงกว่าปกติ 1.95 เมตร ผู้ว่าฯ กทม. คุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน ตกใจว่าน้ำอะไร มาจากไหน ปรากฏว่า นี่คือระดับน้ำทะเล ที่ลมตะวันออกเฉียงใต้ในมหาสมุทรแปซิฟิก มันพัดเข้ามา อั้นน้ำเข้ามาในอ่าวไทย น้ำทะเลสูงขึ้น ซึ่งโดยปกติน้ำทะเลตรงนี้จะสูงขึ้นประมาณเดือน กันยายน-ตุลาคม ที่น้ำเหนือหลากและน้ำทะเลหนุน มันจะขึ้นมาพอดี แต่นี่ๆ อยู่มันขึ้นมาเฉยเลย ดูแลกันไม่ทันตั้งปั๊มน้ำกันไม่ทัน

ฉะนั้นการแปรปรวน อย่างที่บอกมี 3 ทางด้วยกัน คือ ป้องกัน เตรียมรับ และปรับตัว นี่ป้องกันไม่ได้หรอกช้าไปแล้ว(To late) ที่บอกว่าช้าไปแล้ว คุณต้องเข้าใจว่า ถ้าคน 200 คน ที่นั่งในห้องประชุมยินดีพร้อมใจที่จะช่วยกันไปปิดไฟที่บ้าน ไปปิดเครื่องยนต์ที่บ้าน ไม่ขับรถยนต์ 2 อาทิตย์ได้ ถามว่าคนไทยอีก 63 ล้านคนเอาไหม รู้ไหม ยังไม่รู้เลย

 

๏  ถ้าเช่นนั้นเตรียมรับอย่างไร ?

 

ดร.จิรพล : เตรียมรับก็คือว่า หนึ่ง เราเคยอยู่ในทางซึ่งน้ำไหลต้องย้ายออก เรารู้ว่าตรงนี้เป็นหุบเขา ซึ่งดินมันดี ทำมาหากินดี เพาะปลูกได้ ตรงนี้เป็นจุดอันตราย เพราะเวลาน้ำมันทะลักเข้ามาที มันไม่ได้อยู่เฉพาะที่ร่องน้ำ มันจะไหลเอ่อท่วมสองฝั่งลำน้ำมาเลย ตรงนี้ก็จะทำให้เกิดภาวะวิกฤตคือน้ำท่วม ถ้าเตรียมรับคือ อย่างเชียงใหม่ รู้ว่าน้ำมันจะท่วมทุกปีพื้นชั้นล่างอย่าทำปาร์เก้ ปูกระเบื้องไปเลย เพราะน้ำมา น้ำท่วมมันก็กลายเป็นปลาน้ำจืดลอยอยู่ในน้ำ เพราะฉะนั้นก็อย่าทำ

ปลั๊กเราเคยอยู่ต่ำก็ขยับให้สูง เพราะเวลาน้ำมามันจะไม่ดูด ไม่ช็อต เพราะปีที่แล้ว พระท่านถือไดโว่ไปเสียบปลั๊กที่อยู่สูงจากน้ำเพียง 3 นิ้วเอง ท่านเสียบไปก็มรณภาพไปกับไดโว่นั่นเอง ตรงนี้ต้องเตรียมรับ แล้วระบบไฟเปลี่ยนใหม่ให้หมด ตรงไหนที่เสียหายเยอะๆ เราก็รู้ว่ามันจะต้องมาในเดือนไหน ก็เตรียมรีบย้ายออกซะ ถ้ายังไม่ย้ายบ้านก็ย้ายของไปไว้ชั้นบน แล้วเวลาฝนมาน้ำมา ก็ไม่เดือดร้อนมากมายนัก

เตรียมรับอีกอย่างคือ ต้องทำสุขภาพร่างกายแข็งแรง เป็นเพราะว่า โรคที่มากับน้ำท่วมภัยแล้ง อากาศแปรปรวนมันจะเยอะ เรารู้ว่ามีโรคซาร์ส มีไข้หวัดนก เรารู้ว่ามีฉี่หนู เรารู้ว่ามีโรคร้ายอีกหลายอย่างด้วยกันที่ตามขึ้นมา แล้วโรคบางโรคที่ใหม่ที่เราไม่เคยรู้จักไม่ใช่ปล่อยให้มันเกิดขึ้นแล้วค่อยไปหายา หาหมอหาอะไรมารักษาพยาบาลกัน ซึ่งไม่ค่อยได้ช่วยอะไร

ส่วนเรื่องของการปรับตัวก็ต้องปรับให้เข้ากับสภาวะอย่างนี้หล่ะครับ เราจะคุ้นชินกับการใช้พลังงานสิ้นเปลืองไม่ได้ ต้องปรับมาใหม่ เช่นว่าปรับตัวจากที่เคยไปช้อปปิ้ง 2 ครั้งต่อสัปดาห์ วันพุธกับวันเสาร์ ก็เหลืออาทิตย์ละครั้ง ลดจำนวนครั้งที่ต้องขับรถไปช้อปปิ้งได้ไหม จากนั้นก็คือว่าไหนๆช้อปปิ้งสัปดาห์ละครั้งซื้อแถวบ้านได้ไหม แทนที่ต้องขับรถไปในห้าง นี่คือต้องปรับตัวแล้ว เพื่อปล่อยให้มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลง ซื้อใกล้บ้านเสร็จเรียบร้อย บางอย่างมันปลูกที่บ้านเองได้ หากบ้านคุณปลูกต้นโกสนได้ มันก็ปลุกมะเขือได้ ทำไมไม่ปลูกมะเขือ ปลูกกะเพราได้ ทำไมไม่เอาอย่างนี้ ทำไมต้องไปปลูกโกสนเหมือนคนอื่นเขาหล่ะ บ้านไหนปลูกเฟื่องฟ้าได้ บ้านนั้นก็ปลูกต้นแคได้ ดอกแคแกงส้มอร่อยจะตายไป ทำไมไม่เลือกปลูกอย่างนั้นหละ ก็เพราะว่าจะเอาสวยแต่ไม่เอาอิ่ม เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นเรื่องของการปรับตัว ทั้งหมดนี่เพื่ออะไร เพื่อลดจำนวนครั้งของการสตาร์ทรถยนต์เพื่ออกไปซื้อของข้างนอก บางทีขับรถทั้งเที่ยวเพื่อที่จะออกไปซื้อพริกขี้หนูแค่ 10 บาท แต่ค่ารถไปกลับ 40 บาท ทำไมต้องเสียเวลาอย่างนั้น ทำไมไม่ปลูกเอง ดินที่มีอยู่เลิกปลูกไม้ประดับซะบ้าง แบ่งบางส่วนมาปลูกพวกพืชสวนครัวกินได้ ลดการพึ่งพาภายนอก ลดความจำเป็นที่ต้องขับรถออกไปตระเวนภายนอก เพราะตอนนี้วันๆ เราเสียค่าน้ำมันจากการขับรถไปติด 40 ล้านบาท เท่ากับน้ำมันเชื้อเพลิง 12 ล้านลิตร ถ้าทำตรงนี้ได้ ช่วยลดได้เยอะทีเดียว เงิน 40 ล้านบาท สร้างโรงพยาบาลในต่างจังหวัดระดับ 10 เตียง 1 โรงพยาบาลต่อวัน แล้วทำไมพร้อมใจกันมารถติดในกรุงเทพฯ ล่ะเพราะทุกคนติดห้าง

เรายังมีความหวังว่า เราสามารถดึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทั่วโลกเป็นอยู่ในเวลานี้ อยู่คอนโทรลภายใต้ 10 ปีนี้ได้ โอกาสรอดยังมีนิดหนึ่ง ถ้าภายใน 10 ปีนี้นะ นักวิทยาศาสตร์บางคนบอก 8 ปี ถ้าดึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกไม่ได้นะ เขากลัวว่าขึ้นถึง 2 องศา ซึ่งหากอุณหภูมิของโลกสูงขึ้นถึง 2 องศา น้ำแข็งละลาย นั่นหมายถึงประมาณ 5 เมตรจากที่เรานั่งกันอยู่สูงขึ้นไปแล้วมันจะไม่หยุดแค่ 5 เมตร มันจะไปเรื่อยๆ

 

๏  ถ้าหากการเตรียมรับมือและการปรับตัวมันทูเลทด้วย กรุงเทพฯ และประเทศไทยจะเจอปัญหาอะไรบ้าง ?

 

ดร.จิรพล : น้ำท่วมต้องเจออยู่แล้วครับ แล้วตอนนี้เรื่องภัยแล้งเข้ามา กรุงเทพฯ เวลาร้อนร้อนจัดจริงๆ เวลาฝนตกหนักนี่คุณก็รู้น้ำท่วมทีมันเสียหายนะ บางคนเคยกลับถึงบ้านทุ่มหนึ่งก็กลายเป็นกลับห้าทุ่ม เนื่องจากว่าเวลาถนนเปียก มันเบรกไม่อยู่ ไปชนคนอื่น เพราะฉะนั้นเวลาฝนตกน้ำท่วมมันเกิดความเสียหายทั้งทางตรงและทางอ้อมเยอะมากทีเดียว

ปัญหาเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งเราไม่ได้พูกกันเยอะมากนัก คือแทนที่จะไปโรงเรียนแล้ว กลับมาปลอดภัย กลับมาอย่างมีความสุข แต่เปล่า! กลับจากโรงเรียนแม่ต้องไปรับโรงพยาบาลเพราะมีไข้กลับมา เพราะไปรับเอาเชื้อหวัดจากเพื่อนที่โรงเรียนมา ตัวเองไม่แข็งแรงพอ นอนดึกเล่นเกม แล้วก็เพลียเปลี้ยไปโรงเรียน

เพราะฉะนั้นมันเป็นเรื่องของการปรับตัวที่กรุงเทพฯ กำลังจะรับหลายอย่างขึ้นมาตอนนี้แล้ว โรงเรียนในท่ามกลางชุมชนที่มีความหนาแน่นสูงๆ จะเป็นแหล่งแพร่โรคระบาดได้เยอะมากทีเดียว เราถึงบอกต้องระวังไงครับ โดยเฉพาะโรคที่จากสัตว์ไปสู่คนจะมาเยอะขึ้น อย่างโรคไข้สมองอักเสบมาจากค้างคาว มันไปกินผลไม้หวานๆ แล้วรอยจิกที่มันข่วนไว้คนก็ไปกินต่อ ก็เสร็จเลย ไวรัสติดเข้าไป แล้วตายเยอะมากนะในต่างประเทศ อย่างที่มาเลเซียตายเป็นร้อนคน และที่บังคลาเทศก็ตายหลายสิบคน ในเมืองไทยจะตายไม่เยอะเท่าไหร่เพราะหมอจะบอกว่า ตายเพราะหัวใจหยุดเต้นก็เลยไม่รู้จริงๆ ว่าตายเพราะอะไร

เราก็พูดให้หมอฟังตลอดเวลา มันต้องเก็บชิ้นเนื้อไปตรวจส่งไปวินิจฉัยทางแล็บว่าอาการผิดปกติอย่างนี้ตายได้อย่างไร ปวดหัว 3-4 วันแล้วก็ตาย ต้องวินิจฉัยให้เจอ จะได้รู้ว่าโรคนี้มาแล้วเมืองไทย

 

๏  มีตัวเลขบอกไหมว่าในแต่ละปี ประเทศไทยเสียเงินเพราะการใช้พลังงานสิ้นเปลืองไปเท่าไหร่ ?

 

ดร.จิรพล : ไม่มีใครมีตัวเลขที่ชัดเจนนะครับ แต่พูดได้ว่าพลังงานที่เราใช้กันทุกวันนี้ เราสูญเสียรั่วไหล ร้อยละ 20-25 เพราะฉะนั้นมูลค่าการนำเข้าพลังงานปีหนึ่ง ประมาณสัก 8 หมื่นล้าน แสนล้าน 20-25 เปอร์เซ็นต์ ก็ 2,500 ล้านบาทแล้วนะ

ส่วนที่สูญเสียไป เปิดประตูไว้ในห้องปรับอากาศความเย็นก็ออกไป เอาของใส่ตู้เย็นจนแน่นเกินไป แล้วก็เปิดทีวีไว้อีกห้องหนึ่ง เปิดไฟไว้อีกห้องหนึ่ง นี่คือการสูญเสียที่ซึมลึกกินต่อเนื่องไปเรื่อยๆ

 

๏  คุณมองการตื่นตัวเรื่องภาวะโลกร้อนและอากาศแปรปรวนของคนไทยอย่างไร ?

 

ดร.จิรพล :  เริ่มตื่นตัวขึ้นว่ามีภาวะโลกร้อน แต่ไม่ทำอะไร คือ รู้ว่ามันจะมีวิกฤตใหม่ๆ คือ  โลกร้อนขึ้น แต่ท่ามกลางความรู้ความเข้าใจ ก็ไม่ทำอะไร ถ้ารู้ตระหนัก แล้วมีส่วนร่วมช่วย โอ.เค.ดี แต่นี่รู้แล้วเฉยๆ แล้วเราทำกับอากาศ เหมือนทำกับน้ำมานานแล้ว คือ เราปล่อยก๊าซขึ้นไปเหมือนใครอยู่กับแม่น้ำก็ทิ้งลงไปๆ เราปฏิบัติกับอากาศเหมือนกับที่ปฏิบัติกับน้ำมาหลายปีที่ผ่านมาเพราะเราไม่สนว่าสิ่งที่เราโยนลงไป มันจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง นี่คือปัญหา

ในคนไทย ถามว่ารู้ไหม โลกร้อน…รู้คำ แต่ไม่เข้าใจ รู้เคยสัมผัส เคยเห็นเคยได้ยิน แต่ไม่เข้าใจ พอไม่เข้าใจขึ้นมามันก็ไม่เกิดคำถามว่า เราต้องทำอะไร บางคนรู้ถึงขั้นที่ว่าเราต้องทำอะไร แต่ไม่ทำ เพราะคิดว่ามีคนอื่นทำเยอะแล้ว ไม่ต้องทำ ช่วยประหยัดน้ำมันและช่วยภาวะโลกร้อน เข้าใจนะ ฟังรู้เรื่อง พยักหน้าดี แต่พอนั่งหลังพวงมาลัยก็ขับ 120, 140 ถามว่าพวกนี้รู้ เข้าใจ แต่ทำไมไม่ทำ เพราะไม่ตระหนัก

 

๏  ดูเหมือนสิ่งที่แก้ไขยากที่สุดคือพฤติกรรมของคนไทย ?

 

ดร.จิรพล : คือถ้าเราตระหนักอย่างนี้ได้ แก้ได้ทางเดียวก็คือว่า รัฐบาลต้องเข้าใจตรงจุดนี้ แล้วให้การศึกษาประชาชนมากขึ้นว่า หากมีพฤติกรรมการบริโภคแบบนี้นะ โลกมันจะร้อนขึ้น แล้วเวลาอากาศร้อน เราก็เข้าห้องแอร์ ไปเปิดแอร์มันก็ยิ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นไป ยิ่งร้อนอีก แล้วไปปรับแอร์ให้ต่ำลงอีก มันไม่ใช่ทางออกนะ ทางออกก็คือคุณต้องเข้าไปอยู่ในบ้าน อาบน้ำซะก่อน ปรับอากาศให้ตัวเองเหนียวตัวน้อยลงซะก่อน แล้วความจำเป็นในการปรับอากาศก็อาจจะน้อยลง แล้วความจำเป็นในการลดอุณหภูมิก็จะน้อยลง ถ้าหากเราดูแลตัวเองนี้ดีพอ แล้วถ้าเราปลูกต้นไม้รอบๆ บ้าน มันก็ลดและป้องกันรังสีความร้อนเข้าในบ้าน ความจำเป็นในการปรับอากาศก็น้อยลง คือ ต้องเข้าใจในความเป็นมาเป็นไป ในมูลเหตุเสียก่อน ไม่ใช่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า อากาศร้อนก็พาลูกไปเดินห้าง ห้างก็ใช้ไฟฟ้ามากขึ้น ตรงนี้มันไม่มีทางหรอกครับที่แก้ปัญหาโดยไม่สร้างผลกระทบใหม่ เพียงแต่อย่าให้มันเกิดมากกว่าที่เราพยายามแก้ปัญหา แต่ตอนนี้มันเป็นอยู่ประจำคือ แก้ปัญหาเก่าด้วยการสร้างปัญหาใหม่ตลอดเวลา เช่น รถติด เราสร้างถนน สร้างสะพานลอย สร้างอุโมงค์ ปรากฏว่าที่สร้างออกมาแล้วมันทำให้คนซื้อรถมากขึ้น แล้วรถก็ติดอีก ในกรุงเทพฯเดี๋ยวนี้ คลองไม่เหลือแล้ว เพราะถมทำถนนกันหมดแล้ว สี่แยกตรงไหน ยังไม่ทำสะพานลอยก็ทำกันเกือบหมดแล้ว ถามว่าจะเอายังไงกันแน่ ทำทุกอย่างที่พึงจะทำได้แล้วปัญหาก็ยังเหมือนเดิม ฉะนั้นเราแก้ปัญหาเก่า ด้วยการสร้างปัญหาใหม่ตลอดเวลา

 

๏  จุดอ่อนอยู่ที่ตรงไหน การรณรงค์ของรัฐบาลไม่เข้มแข็ง?

 

ดร.จิรพล : ส่วนหนึ่งก็คือรัฐเชื่องช้าในเรื่องนี้เกินไป แล้วก็รีรอเกินไป ในขณะที่ปัญหา มันวิกฤตขนาดนี้ มีคนตายเยอะ มีน้ำท่วม มีดินถล่ม มีโคลนไหลมา มันถึงชั้นเร็วแล้ว และที่สำคัญคือ  รัฐยังเล่นบทบาทเป็นผูแก้ปัญหาเอง ในขณะที่คนเปิดสวิตซ์มี 60 ล้านคน แต่รัฐจะมาเร่งกันไม่กี่ร้อยคนมาแก้กันเอง มันไม่ได้ ต้องตระหนักว่าตรงนี้มันต้องโยนกลับไปให้คนเหล่านั้นช่วย ถ้ารัฐคิดว่าการแก้ปัญหาโดยการบริหารจัดการเรื่องนโยบายการจัดการ มันไม่พอ มันต้องเอาคนที่เปิดสวิตซ์ได้เหล่านั้นมาช่วย มามีส่วนร่วมแล้วมายืนข้างเดียวกัน แต่ตอนนี้เหมือนกับคน 15 คน อยู่บ้านเดียวกัน คนกวาดบ้านคนเดียว ที่เหลือทำสกปรก แล้วมันจะกวาดเสร็จหรือเปล่าหละ…ไม่มีทาง ชั้นล่างเสร็จ ชั้นบนเลอะอีกแล้ว ดังนั้นเอา 15 คนที่ก่อขยะ ให้ช่วยกันลดการทิ้งขยะ แล้วรีบหาถังมารองรับให้เขา แต่ไม่ใช่คิดว่า มีปัญหาแล้วรับลงไปจัดการเองได้ มันไม่มีทาง วิธีการคิดของหน่วยงานต้องปรับเพื่อให้ทันกับปัญหาที่มันมาเร็วและรุนแรงกว่าที่เราคิดมาก

ที่น่าเสียดายคือประเทศไทยเราไม่เคยมีการซ้อมแผนการเตรียมรับ ปรับตัว อพยพคน ไม่มีเลยในขณะที่ประเทศบังคลาเทศ ซึ่งล้าหลังกว่าเรา ประเทศตามหมู่เกาะ เช่น ฟิจิ เขาซ้อมอพยพคนแล้วหรืออย่างในอังกฤษเขาซ้อมอพยพคนออกจากลอนดอน 50 ไมล์ ใช้เวลากี่ชั่วโมง เขาทำกันหมดแล้ว ประเทศไทยไม่เลย ประเทศไทยเตรียมแต่ถุงยังชีพอย่างเดียว…พอ

เพราะฉะนั้นตรงนี้น่าเสียดายว่า เราอยู่ท่ามกลางการขับเคลื่อนของราชการที่ไม่ตื่นตัวเพียงพอกับปัญหาที่มันรุนแรงขนาดนี้

 

๏  ปัญหาเฉพาะหน้าที่สำคัญสำหรับเมืองไทยที่จะต้องทำคืออะไร ?

 

ดร.จิรพล : จะต้องสร้างความตระหนักให้ประชาชนเข้าใจ เพราะตอนนี้ 63 ล้านคน มีคนตระหนักและเข้าใจไม่เกิน 5 ล้านคน เราจะต้องสร้างจำนวนนี้ให้ไปถึง 63 ล้านคนให้โดยเร็ว จะใช้สื่อหรือวิธีการใดๆ ก็แล้วแต่ รัฐบาลคุ้นชินกับการแก้ปัญหาแบบท๊อปดาวน์มาโดยตลอด แต่ไม่สร้างฐานไง ตอนนี้ใครก็แล้วแต่ที่เปิดสวิตซ์เป็นเสียบปลั๊กได้ ต้องให้เขาคิด จะเข้านอนดึงปลั๊กออกได้ไหม ปิดสวิตซ์ได้ไหม อย่าเสียบคาไว้ทั้งคืนได้ไหม จะออกไปนอกบ้านดึงปลั๊กออกได้ไหม

คือ รัฐบาลต้องทำในส่วนนี้ ซึ่งรัฐบาลมองข้ามมาโดยตลอด คิดว่าตัวเองเป็นพระเอกทำแต่ฝ่ายเดียว แล้วไม่เอาคนอื่นมาช่วยเลย ในขณะที่คน 15 คน ทำบ้านรก แล้วเราก็ก้มหน้าก้มตากวาดอยู่คนเดียว ยังไงก็ไม่สะอาด กวาดเสร็จมันรกอีกแล้ว กวาดข้างล่างเสร็จข้างบนรกอีกแล้ว มันไม่มีทางจบ นอกจากทางเดียว ให้ความรู้ 15 คนตรงนี้ว่าอย่าทำรก ต้องทำให้ปัญหามันง่ายต่อการแก้ แล้วคนเดียวที่แก้มันจะได้แก้ได้ แต่ตอนนี้คือต้องให้ประชาชน 63 ล้านคน ช่วยกันลดการสร้างปัญหา เพื่อเปิดโอกาสให้ปัญหามันง่าย แล้วก็สามารถบริหารจัดการง่ายขึ้น

 

๏  คุณคิดว่าไทยเราสมควรมีการเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมหรือยัง ?

 

ดร.จิรพล : มันน่าจะมีนานแล้ว อย่างเช่น รถยนต์ที่เราวิ่งบนถนนทุกวันนี้ เราเอาเงินของคนสกลนคร ของคนปัตตานี มาสนับสนุนกันทั้งนั้น เพราะว่าคนที่ขับรถได้แต่ละกิโลเมตรนี่เหมือนรัฐบาลเอาเงินไปใส่เข้าไปกิโลเมตรล 15 บาท เพราะว่าเราต้องทำถนนให้เขา แต่ต้องเอาเงินมาเสียภาษีด้วย เพื่อซัพพอร์ตให้กับคนที่มีรถหรูๆ วิ่ง ดังนั้นคนที่มีรถหรูๆ ก็เลยมีรถขับบนต้นทุนที่ต่ำเกินความเป็นจริงใช่ไหม ซึ่งจะต้องเอาคนเหล่านี้ให้จ่ายภาษีตามความเป็นจริง

อย่างกรณีของการจ่ายค่าทางด่วน โอ.เค. แต่ก็ยังถูกเกินไปกว่าความเป็นจริง เรื่องของทางด่วนต้องไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมันรวมต้นทุนพวกนี้เข้าไปแล้วนี่ ค่าทางด่วนอาจจะต้องแพงกว่านี้ด้วยซ้ำ ถ้าเราไปวิ่งเส้นไหนแล้วต้องจ่ายเงินเส้นนั้น โอ.เค. อย่างนี้ใช่ แสดงว่าเรานี่จ่ายตามเป็นจริงกับความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ถ้าหากเราไม่จ่ายเลย กลายเป็นว่าเราเอาเงินจากคนที่อื่นซึ่งไม่เกี่ยวกับการใช้ถนนของเราเลย มาจุนเจือให้เราขับรถ มันไม่ใช่ถนนอย่างเดียว ที่จอดรถ ฟุตบาท ไฟฟ้า สะพานลอย อุโมงค์ ทางลอดต่างๆ มันก็เป็นเงินที่เอามาจากคนอื่นทั้งสิ้น คนที่ซื้อรถขับนี่ มันจ่ายแค่ภาษีต่อทะเบียนรถยนต์ มันจิ๊บจ๊อย ไม่เพียงพอแม้แต่ซ่อมถนนด้วยซ้ำไป ตรงนี้มันไม่แฟร์ไงกับคนที่ไม่ได้ใช้ถนนอย่างกว้างมากมาย แต่ต้องเอาเงินไปจุนเจือคนที่ใช้รถหรูๆ วิ่งไป วิ่งมา

 

๏  เรื่องพลังงานนิวเคลียร์ ที่เคยมีการคิดว่าจะนำมาใช้ในเมืองไทย มันจะช่วยอะไรได้ไหมกับการทำดีขึ้น

 

ดร.จิรพล : มันไม่โดยตรงทีเดียว เพราะว่าตอนนี้พลังงานมันกำลังจะหมดไป ไฟฟ้าเรามีไม่เพียงพอก็เลยกลายเป็นว่า รัฐบาลก็จะเสนอโรงไฟฟ้านิวเคีลยร์เข้ามา โดยเฉพาะไฟฟ้าที่มาจากน้ำมัน เชื้อเพลิง ที่มาจากก๊าซธรรมชาติ มันปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งอยู่ในบรรยากาศ 100-200 ปี แต่ปรากฏว่าพอเราหันมาใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นมา กากนิวเคลียร์อยู่เป็นหมื่นปี ถ้าเราจะแก้ปัญหา เราต้องหันจากสิ่งที่แย่ไปสู่สิ่งที่ดีกว่า แต่นี่กลับกลายเป็นหันจากสิ่งที่แย่ไปสู่สิ่งที่แย่กว่า มันจะได้ยังไง แล้วในเมื่อพลังงานระบบมันแพงตอนนนี้ เราหันไปใช้นิวเคลียร์ซึ่งมันแพงกว่า เราหันไปทำไม เหมือนเราหันไปเจอรองเท้าตั้งหลายคู่ เราบอกว่าคู่นี้แพง เราก็เลยเดินไปซื้ออีกร้านซึ่งแพงกว่า เราทำอย่างนั้นหรือเปล่า ในชีวิตจริงเราก็ไม่ทำ แล้วเราว่ามันเสี่ยงตรงนี้ จากก๊าซเรือนกระจก เราก็หันไปใช้นิวเคลียร์ ซึ่งกัมมันตภาพรังสีเสี่ยงกว่า เราทำได้ยังไง

ตรงนี้ นักการเมืองหรือรัฐบาล ถ้าจะพูดต้องพูดให้จบ ประชาชนได้ฟังแล้วจะได้ชัดเจน บางคนบอกว่านิวเคีลยร์ถูกนะ เชื้อเพลิงมันไม่กี่สตางค์ แล้วทำไมไม่คิดค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าด้วยหละ เมื่อคิดค่าสร้างโรงไฟฟ้า ค่าบริหารจัดการ ค่าระวังภัยแล้ว ออกมาหน่วยหนึ่ง 17-18 บาท แต่เวลาพูดถึงค่าอย่างอื่น ไปคิด…เวลาจะคิดค่าก๊าซโซฮอล์ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ก็คิดทุกอย่างรวมหมดเลย แต่พอนิวเคลียร์มันคิดเฉพาะค่าเชื้องเพลิง แต่ไม่คิดค่าก่อสร้าง มันก็เลยทำให้ดูว่านิวเคลียร์ถูกที่สุดเลยบอกเขาน้อย เราบอกประชาชนไม่ครบ หลอกล่อใช้ข้อมูลเป็นประโยชน์ฝ่ายเดียว

 

๏  ที่ผ่านมามีสองแนวคิดที่แย้งกัน ฝ่ายหนึ่งบอกว่า ประเทศที่เจริญแล้ว โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เขาตั้งอยู่กลางชุมชนด้วยซ้ำ ในขณะที่อีกฝ่ายก็บอกว่า เดี๋ยวนี้ประเทศที่เจริญแล้ว เขาทยอยปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ด้วยซ้ำ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ?

 

ดร.จิรพล : ต้องถามว่า ประเทศที่เจริญแล้วเขาหันไปหานิวเคลียร์หรือเปล่า…ไม่เลย มันมีความจำเป็นอย่างอื่น อย่างประเทศไทย ถามว่ามีความจำเป็นไหม ไม่มี แต่ถ้าถามว่ากำลังไฟฟ้าเราขาดแคลนไหม ไม่ได้ขาดแคลน ปัจจุบันนี้เราพยายามหาไฟฟ้าเพิ่ม เพื่อไปจ่ายให้โรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตไปส่งออก

ถ้าถามสำหรับคนไทยมันจำเป็นไหม มันไม่จำเป็น เช่น โรงงานกระดาษ โรงงานแก้ว โรงงานถลุงเหล็ก โรงงานอลูมิเนียม ซึ่งพวกนี้ใช้ไฟฟ้าเยอะมาก แล้วประเทศไทยไม่ต้องการเยอะขนาดนี้ ปัจจุบันเราส่งปูนซีเมนต์ขายต่างประเทศ เราให้คนไทยมาทะเลาะกัน เพื่อเอาไฟฟ้าไปให้กับนักลงทุนต่างประเทศไปใช้ อย่างนี้ไม่น่า

ถ้าถามว่าปูนซีเมนต์ในเมืองไทยพอใช้ไหม เหลือเฟือ กระดาษหละ เหลือเฟือ ตอนนี้ส่งออกเยื่อกระดาษด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นในแง่ของอุตสาหกรรมที่เรามีอยู่ขณะนี้ ไม่ถึงขั้นต้องดิ้นรนเพื่อขยายโรงงาน แต่เนื่องจากโรงงานเหล่านี้มันขยายตัวในยุโรปไม่ได้ มันก็เลยบินมาที่นี่ ที่นี่ก็ตื่นตาเห็นเงินยูโรเข้ามาก็เลยดีใจ แต่ว่าเบื้องหลังความดีใจดังกล่าวต้องไปหาโรงงานไฟฟ้าพวกนี้ ไปบ่อนอกหินกรูด ก็ต้องมีคนตาย เขาก็ไม่ยอมก็กลายเป็นว่าคนไทยต้องมาทะเลาะกันเอง กับวิธีการบริหารจัดการของรัฐบาล ซึ่งไมได้มองแบบภาพรวม จะแก้ปัญหาบางส่วน แล้วก็สร้างปัญหาอีกหลายส่วน

 

๏  ในเวลานี้การผลิตไฟฟ้าของเมืองไทย ใช้วัตถุดิบอะไรมากที่สุด ?

 

ดร.จิรพล : เยอะที่สุดคือก๊าซธรรมชาติ รองลงไปคือลิกไนต์ นอกเหนือจากนั้นก็มีพวกน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนในเรื่องของพลังน้ำก็ 6 เปอร์เซนต์ แล้วก็มีชีวมวลคือพวกไปโอดีเซล พวกฝืน ถ่าน ก๊าซโซฮอลล์ ก็ถือว่าเป็นพลังงานจากชีวมวล

นอกจากนั้น ก็มีโรงไฟฟ้าหลายแห่งด้วยกันที่ใช้แกลบ เป็นเชื้อเพลิงโดยการต้มน้ำให้เดือด แล้วเอาไอน้ำมาผลิต แถวสุพรรณบุรีมีหลายโรงงานด้วยกัน แถวกาญจนบุรีก็เอากากอ้อยแห้งๆไปใส่เข้าไปในเตา เพื่อเป็นเชื้องเพลิงให้ต้มน้ำ แล้วก็ผลิตไฟฟ้าขายรัฐบาล ทางภาคใต้ก็เอาเศษยางพารา ที่ขนเอาต้นของมันไปทำโต๊ะ หรือทำอะไร กิ่งหรือยอด ก็ป้อนเข้าไปในเตาเผา เพื่อต้มน้ำผลิตไฟฟ้าขึ้นมาใช้

ส่วนที่ซื้อประเทศเพื่อนบ้านนิดหน่อยเอง คือไม่ถึง 2 เปอร์เซ็นต์ อย่างลาว เราดูว่าขายให้เราเยอะ แต่จริงๆ แล้วเราขายกลับไปที่จำปาสักเยอะ เพราะเขาไม่มีสายส่งในประเทศของเขา ฉะนั้นเขาขายให้เรา แล้วเราก็ขายต่อให้จำปาสัก เนื่องจากตามชายแดนไทยมีสายส่งเพียงพอ มาเลเซียนี่เราซื้อช่วงขาดแคลนเท่านั้น ไม่ได้ซื้อกันทั้งปี

 

๏  คุณมองการออกมารณรงค์เรื่องภาวะโลกร้อนของอดีตรองประธานธิบดี อัล กอร์ อย่างไร ?

 

ดร.จิรพล : ดีมากๆ แต่ว่าช้าไปหน่อย เขาน่าจะทำตอนที่เขามีอำนาจหน้าที่ ทำไมคิดช้าจังหละคิดจะทำอะไรดีตอนที่หมดอำนาจทุกที แล้วมาตอนนี้ร้องปาวๆ ขึ้นมา ก็ทำให้หลายคนตั้งข้อสังเกตว่ามันเป็นการสร้างฐานการเมืองกลับมาใหม่หรือเปล่า ขณะที่อยู่ในพาวเวอร์ มีโอกาสทำทุกอย่างแต่กลับไม่ทำ แล้วการออกมารณรงค์ข้างนอกที่ทำเป็นภาพยนต์ออกมา (เรื่อง An Inconvenient truth) พูดถึงปัญหา 99 เปอร์เซ็นต์ พอหนังจบแล้วค่อยขึ้นไปเป็นตัววิ่งว่าต้องทำอะไรบ้าง ค่อยบอกทางออก…ลืม คือ เหมือนกับวัดนี่ติดป้ายโฆษณาปิดทองฝังลูกนิมิตเสร็จเรียบร้อย ป้ายใหญ่โตติดข้างถนน แต่ลืมเขียนชื่อวัด เราจะไปเที่ยวงานนั้นถูกไหม อยู่ที่ไหน

คือ ในหนังทางออกมันเป็นตัววิ่งแล้วคุณดูไหมหละตัววิ่งที่บอกว่าคนยกฉากคือใคร คนบันทึกเสียงคือใคร คนก็คิดว่าเป็นเครดิตสร้าง เดินออกจากโรง ทั้งที่ตรงนั้นสำคัญที่บอกว่าทำอะไรได้บ้าง คือ หนังทำมาดีทุกอย่างแล้วก็ต้องไปเสียเวลาพูดถึงเรื่องส่วนตัว ต้องเติบโตในไร่ยาสูบมากเกินไป ถ้าจะพรีเซ้นต์ปัญหา โดยไม่แฝงเรื่องส่วนตัวเข้ามา จะต้องพูดเรื่องปัญหาของโลกมากกว่านี้เยอะ

นี่ขอวิจารณ์กันตรงๆ แต่ไม่ใช่ว่าเราไม่ชื่นชมนะ ก็ดีกว่าไม่ทำ แต่ว่าทำสายไปหน่อยน่าจะทำตอนเป็นรองประธานาธิบดี มันจะมีผลกระทบมากกว่านี้ เพราะตอนนั้น บิลล์ คลินตัน (อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ) ก็เปิดไฟเขียวทุกอย่างให้อัล กอร์ ทำอะไรก็ได้ แต่ไม่ทำ คิดช้ามารู้ตัวอยากทำก็ตอนที่หมดสภาพ

 

๏  ถึงที่สุดแล้วชีวิตประจำวันของคุณประหยัดพลังงานอย่างไรบ้าง ?

ดร.จิรพล : เรื่องไฟฟ้าที่บ้านระมัดระวังมากเปิดให้น้อยที่สุด กลางวันก็ใช้แสงธรรมชาติ คือมีบล๊อคแก้วมีหลังคาโปร่งแสง มีอะไรต่างๆ ซึ่งจะลดความจำเป็นในการเปิดไฟฟ้าแสงสว่างในห้องครัว ในห้องน้ำ ซึ่งเรารู้ว่าบางทีเราเข้าห้องน้ำก็ต้องเปิดไฟในเวลากลางวัน เราก็ใส่ช่องโปร่งแสงที่หลังคา ใส่บล๊อคแก้วที่ผนัง อันนี้ก็ช่วยได้เยอะ กลางคืนเราก็เปิดไฟเฉพาะดวงที่เราทำงานอยู่ ที่อื่นเราก็ใส่เป็นเซ็นเซอร์เอาไว้ เมื่อเดินไปถึงมันก็เปิด พอเราไม่เดินผ่าน 3 นาทีมันก็ปิดเอง ก็ช่วยได้เยอะแล้ว

นอกจากนั้น ผมกำลังอยู่ในขั้นตอนลดจำนวนกิโลเมตรที่เดินทางในแต่ละสัปดาห์ลง แล้วจะมีสักวันที่ขี่จักรยานจากบ้านไปที่ทำงาน