บริโภคอย่างไรให้ยั่งยืน ในแบบฉบับผู้บริโภคสีเขียว ตอนที่ 1
ปัญหาขยะล้นเมืองเป็นปัญหาหนักมานานโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ๆ เช่น กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ภูเก็ต และเมืองอื่น ๆ ภาครัฐต้องทุ่มเททั้งกำลังความคิด การวางแผน รวมทั้งงบประมาณ เพื่อจัดการหารถขยะ ซึ่งต้องมีทั้งคนขับรถ คนเก็บขนจำนวนมาก ต้องมีพื้นที่ทิ้งขยะ ซึ่งต้องใช้เนื้อที่กว้างขวางนับสิบนับร้อยไร่ และต้องเป็นพื้นที่เมื่อมีการนำขยะมากองรวมกันแล้วไม่ก่อให้เกิดความรำคาญ หรือสร้างปัญหาทางสุขภาพแก่ผู้อยู่ใกล้เคียง ปัญหาขยะจึงเป็นปัญหาใหญ่ที่หากปล่อยให้เฉพาะผู้รับผิดชอบ บ้านเมืองเป็นผู้จัดการ อาจไม่สามารถทำให้ปัญหานี้เบาบางหรือคลี่คลายได้
กลุ่มบุคคลที่จะมีส่วนช่วยลดปริมาณขยะลงได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดคือ ผู้บริโภค อันหมายถึง ประชาชนทั่วไป ทุกคนที่อยู่อาศัยในชุมชนนั้น
ผู้บริโภคสามารถทำอะไรได้บ้าง
วิธีการที่ง่ายที่สุดคือการทิ้งขยะให้น้อยลง ไม่ได้หมายความว่า ผู้บริโภคทุกคนจะเก็บงำขยะไว้ในบ้านตนเอง แต่หมายถึง การเตรียมการล่วงหน้าก่อนจะซื้อหาสรรพสิ่งที่เป็นเครื่องอุปโภคบริโภคว่าสิ่งที่ตนจะซื้อหาเข้าไปนั้นจะมีของเหลือกลายเป็นขยะจำนวนมากน้อยเช่นไร
ขนมบางชนิด มีขนาดรับประทานเพียง 5 – 6 คำ แต่บรรจุในถาดพลาสติกเล็ก แล้วบรรจุในซองพลาสติกชั้นหนึ่ง ภายในซองยังมีถุงบรรจุวัสดุดูดความชื้นขนาดพอ ๆ กับตัวขนมแล้วซองขนมนี้จำนวน 3 – 4 ซอง ยังถูกบรรจุในซองพลาสติกใหญ่อีก 1 ซอง พอจะประมาณได้ว่าขนมประมาณ 20 – 30 คำเล็ก ๆ ที่ใช้เวลารับประทานประมาณ 5 – 10 นาที จะมีขยะเป็นถาดพลาสติก 3 – 4 ถาด ซองพลาสติกเล็ก ๆ 3 – 4 ซอง ซองวัสดุดูดความชื้น 3 – 4 ซอง และซองใหญ่อีก 1 ซอง สิ่งเหลือใช้ทั้งหมดไม่อาจนำมาใช้ประโยชน์อะไรได้อีกเลย นั่นหมายถึงมันจะกลายเป็นขยะไปทันทีหลังจากการทานขนมหมด และขยะทั้ง 10 กว่าชิ้นนี้ จะยังอยู่บนโลกนี้ไปอีกนานนับ 100 ปี
ขนมลักษณะเช่นว่านี้ มักจะเป็นขนมอร่อยลิ้น ผลิตในต่างประเทศ ทำให้ต้องใช้บรรจุภัณฑ์หรือห่อมาอย่างแน่นหนา และย่อมมีราคาแพง ซึ่งถ้าเทียบกับประโยชน์ทางโภชนาการที่จะได้จากขนมพวกนี้ อาจจะไม่คุ้มกับราคาที่ต้องซื้อหามา นอกจากนี้ประเทศชาติยังต้องเสียดุลการค้าในการสั่งสินค้าเหล่านี้เข้ามาจำหน่ายอีกด้วย
ในเมืองใหญ่ ๆ ที่มีวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ทันสมัย มักมีการบริโภคที่ก่อให้เกิดขยะ ได้มากกว่าวิถีของคนชนบท การใช้สิ่งของที่ย่อยสายได้ง่ายในธรรมชาติ เช่น ใบไม้ ใบตอง ฯลฯ และสิ่งของธรรมชาติอื่น ๆ ไม่อาจเป็นไปได้ในเมืองใหญ่ ผู้คนในเมืองยังไม่สามารถหลีกเลี่ยงการซื้อหาสิ่งของที่บรรจุมาในกล่อง ถุง หรือซองพลาสติกหรือโฟมได้ ประมาณว่าคนในเมืองที่มีการบริโภคอาหาร 3 มื้อ และการดำรงชีวิตอื่น ๆ เช่น การแต่งตัว การทำงาน ฯลฯ จะผลิตขยะจากการทำกิจกรรมทั้งปวงเหล่านั้นวันละไม่ต่ำกว่า 1 กิโลกรัม ต่อ 1 คน ซึ่งทำให้ขยะที่ต้องขนออกไปจากบ้านเรือน สำนักงาน โรงงาน นับร้อยเป็นพัน หรือหลายพันตันในแต่ละวัน
จำนวนขยะมากมายเหล่านั้น ต้องใช้การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งงบประมาณที่มากพอที่จะไม่ทำให้ขยะต้องตกค้างอยู่ในบ้านเรือนหรือตามที่ว่างในชุมชนได้ เมืองใหญ่ ๆ ไม่ว่า กรุงเทพฯ หรือเทศบาล หรือตำบล หมู่บ้านที่มีลักษณะความเป็นเมืองสูงล้วนต้องมีภาระเรื่องการเก็บขนและกำจัดขยะด้วยกันทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม การเก็บขนขยะอาจมีประสิทธิภาพ แต่ถ้าผู้บริโภคหรือประชาชนยังคงร่วมมือกันผลิตขยะจำนวนคนละกว่า 1 กิโลกรัมต่อ 1 วัน ขยะที่ถูกขนออกไปอย่างมีประสิทธิภาพก็จะไปกองรวมกันเป็นภูเขาขนาดมหึมามากขึ้นทุกวัน เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้ลูกหลานได้ระลึกถึงความสามารถในการทิ้งขยะของบรรพบุรุษของตนเองในอดีต
เพื่อไม่ให้เกิดอนุสรณ์ที่น่าอับอายเหล่านั้น ชนรุ่นปัจจุบันจึงต้องร่วมมือกันดำเนินการชลอการเพิ่มขยะลงให้มากที่สุด โดยการทิ้งขยะแต่ละวันให้น้อยละ น้อยลงจนเหลือขยะวันละน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
การทิ้งขยะให้น้อยที่สุด ทำได้ง่ายที่สุด คือ การซื้อของที่จะเป็นขยะให้น้อยที่สุด สินค้าหลายอย่างที่ซื้อจำนวนมากขยะจะน้อย ซื้อจำนวนน้อยขยะจะมาก
แหนมซึ่งเป็นอาหารโปรดของทุกเพศ ทุกวัย หากซื้อเป็นท่อนใหญ่ จะมีพลาสติกห่อหุ้มที่จะเป็นขยะน้อยกว่าแหนมที่ห่อมาในขนาดเล็ก ๆ พอคำแล้วบรรจุมาในถุงพลาสติกอีกชั้นหนึ่ง
เนยห่อขนาดเล็ก พอเพียงสำหรับรับประทาน 2 มื้อ จะทำให้มีขยะทุกครั้งที่รับประทาน หากเทียบกับเนยก้อนใหญ่ ซึ่งขยะเป็นกระดาษห่อแผ่นโตกว่าเพียงเล็กน้อยแต่เป็นขยะแค่เดือนละ 1 ครั้ง
บทความโดย อ.ธนวันต์ สินธุนาวา
นายกสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม