ชื่อไทย          ราชพฤกษ์
(Golden shower, Indian labrnum, Pudding – pine tree)

ชื่อท้องถิ่น     คูน ชัยพฤกษ์ (ทั่วไป) ราชพริก (ภาคตะวันออกเฉียงใต้) ลมแล้ง (ภาคเหนือ)

ชื่อวิทยาศาสตร์     Cassia fistula L.

 วงศ์   FABACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลักษณะทั่วไป ไม้ต้น ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง 5 – 15 เมตร ผลัดใบ เรือนยอดเป็นรูปไข่แกมรูปร่ม ลำต้นค่อนข้างเปลา ตรง เปลือกนอกสีเทาอมน้ำตาล เรียบ หรือแตกล่อนเป็นสะเก็ด เปลือกในสีชมพู – สีแดง หรือสีส้ม เนื้อไม้สีแดงแกมเหลือง

ลักษณะใบ ใบประกอบขนนกชั้นเดียว เรียงสลับ ใบย่อยรูปไข่ หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้าง 4 – 8 เซนติเมตร ยาว 7 – 15 เซนติเมตร โคนใบมน ขอบใบเรียบ ปลายใบเรียวแหลม เนื้อใบเกลี้ยงค่อนข้าง หูใบค่อนข้างเล็ก หลุดร่วงได้ง่าย

ลักษณะดอก ช่อกระจะ ขนาดใหญ่ ออกที่กิ่ง หรือซอกใบ ดอกย่อยสีเหลืองหรือสีเหลืองอมเขียวอ่อน กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ รูปขอบขนาน ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร มักหลุดร่วงง่าย กลีบดอกรูปไข่กลับ มี 5 กลีบ ยาวกว่ากลีบเลี้ยงประมาณ 2 – 3 เท่า เกสรเพศผู้โค้งงอน มี 10 อัน สั้น – ยาวแตกต่างกัน

ลักษณะผล ผลแห้งฝักหักข้อ รูปทรงกระบอกยาว แขวนห้อยลงจากกิ่ง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 – 2.5 เซนติเมตร ยาว 20 – 60 เซนติเมตร ผิวเกลี้ยงไม่มีขน ฝักอ่อนสีเขียวเมื่อแก่จัดเปลี่ยนเป็นสีดำ เมล็ดสีน้ำตาล เป็นมัน รูปมน แบน กว้าง 5 มิลลิเมตร ยาว 8 มิลลิเมตร

ระยะการออกดอกติดผล
ออกดอกระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – เดือนพฤษภาคม ฝักแก่ประมาณเดือนตุลาคม – เดือนธันวาคม

เขตการกระจายพันธุ์
พบตามป่าเบญจพรรณแล้ง ที่มีความสูง 50 – 500 เมตร จากระดับน้ำทะเล พบมากทางภาคเหนือ แต่มีการนำไปปลูกทั่วประเทศหลังจากเป็นไม้ประจำชาติ

การใช้ประโยชน์

    เนื้อไม้:  ใช้ทำเสา เครื่องมือต่างๆ เครื่องดนตรี แก่นคูนมียางฝาด ใช้เคี้ยวกับหมากแทนสีเสียด

    ราก:  ฝนทารักษาโรคกลาก และเป็นยาระบาย

    ใบ:  ต้มรับประทานเป็นยาระบาย ฆ่าพยาธิ

    ดอก:  แก้ไข้ เป็นยาระบาย รักษาแผลเรื้อรัง

    เนื้อในฝัก: ใช้เป็นยาระบาย ช่วยบรรเทาการแน่นหน้าอก ฟอกหรือชำระน้ำดี แก้ลม

แหล่งข้อมูล: สำนักงานหอพรรณไม้ – กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

[qrcode url=”https://adeq.or.th/qr/0026″ margin=”10″ size=”150″ after=”ต้นราชพฤกษ์”]