การประชุม 2021 United Nations Climate Change Conference หรือที่เรียกย่อ ๆ ว่า COP26 ขององค์การสหประชาชาติ มีขึ้นระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม – 12 พฤศจิกายนนี้ที่เมืองกลาสโกว์ของสกอตแลนด์

        COP26 เป็นการประชุมด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลก ที่รวมผู้นำจากกว่า 190 ประเทศทั่วโลกเตรียมพบปะหารือกัน เพื่อหาทางแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ได้มีการเตือนว่า เราเหลือเวลาไม่มากแล้ว การประชุมครั้งนี้จะเป็นหนทางสู่ความอยู่รอดของโลกใบนี้  มีการวางแผนมาตรการเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อน โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส แต่อย่างที่เราทราบกันดี ว่าอุปสรรคที่สำคัญคือการช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนา และการต่อสู้จากสภาพภูมิอากาศของแต่ละประเทศที่เปลี่ยนแปลง จากผลกระทบภาวะโลกร้อน (ทิตชนม์ สว่างศรี, 2564)

ที่มาของ COP

จากอดีตมนุษย์มีการพัฒนาเครื่องมือเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต เพื่อสร้างเครื่องอุปโภคและบริโภคให้ชีวิตสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น จากสาเหตุดังกล่าวจึงมีการเปลี่ยนการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจจากการใช้แรงงานมนุษย์ และสัตว์ เป็นการใช้เครื่องจักรเข้ามาแทนที่ โดยใช้ถ่านหินเป็นพลังงาน เป็นที่มาของการทำเหมืองแร่ และการใช้รถจักรไอน้ำในการเดินทางเราเรียกกันว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) คือช่วงเวลาตั้งแต่ ค.ศ. 1760 ถึง ค.ศ. 1850 เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาคเกษตรกรรม การผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม การคมนาคมขนส่ง และเทคโนโลยี เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมในช่วงเวลานั้น (อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์, 2560)  จนขยายไปทั่วทั้งโลกในเวลาต่อมาช่วงระหว่างค.ศ. 1950 ถึงปลายคริสต์ทศวรรษ 1960 มีการเร่งผลผลิตทางการเกษตรเกิดเทตโนโลยี จนกระทั้งเกิด “การปฏิวัติเขียว” เป็นชุดการริเริ่มการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น ส่งผลให้หลายพื้นที่ในโลกมีผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น มีการใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีทางการเกษตรและการใช้น้ำอย่างควบคุม (ระบบชลประทาน หรือระบบเพาะปลูก) และวิธีเพาะปลูกแบบใหม่ที่ใช้เครื่องจักร ซึ่งการใช้เทคโนโลยีมีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ในกระบวนการการ เผาไหม้ (Combustion) ในการขับเคลื่อนเครื่องจักร และปุ๋ยเคมี ยังมีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมา (วิฑูรย์ เลี่ยนจํารูญ, 2548) จากกิจกรรมที่กล่าวมาทั้งหมดนำมาสู่การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มสูงขึ้น

ที่มา: (แมท แม็คกราธ). โควิด-19 : 5 กราฟิกอธิบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกหลังการระบาดของไวรัสโคโรนา BBC NEW ไทย วันที่ 8 พฤษภาคม 2020

          พอมาถึงช่วงทศวรรษ 1980 นักวิทยาศาสตร์ได้มีหลักฐานเพื่อพิสูจน์ให้เห็นถึงผลจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเนื่องมาจากกิจกรรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ จนเกิดภาวะ โลกร้อน (Global warming)  และส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Climate change) ตามมา

เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ ตามมากันเป็นลูกโซ่ ส่งผลต่อความยั่งยืนของมนุษย์ ต่อมาจึงนำไปสู่การยกร่างอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change : UNFCCC) ขึ้นและมีมติรับรองในวันที่ 9 พฤษภาคม 2535 ณ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา และมีผลบังคับใช้เมื่อ 21 มีนาคม 2537

ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่เป็นสมาชิก โดยมีวัตถุประสงค์ “เพื่อให้บรรลุถึงการรักษาระดับความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศให้คงที่ อยู่ในระดับที่ปลอดภัยจากการแทรกแซงของมนุษย์ที่เป็นอันตรายต่อระบบภูมิอากาศ การรักษาระดับดังกล่าว ต้องดำเนินการในระยะยาวเพียงพอที่จะทำให้ระบบนิเวศปรับตัว โดยไม่คุกคามต่อการผลิตอาหารของมนุษย์และการพัฒนาทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างยั่งยืน”

ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2559 ประเทศสมาชิกได้มีมติเห็นชอบกับความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่มีเป้าหมายระยะยาว ควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยให้น้อยกว่า 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม และมุ่งมั่นพยายามในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยให้อยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส และประเทศไทยได้ให้สัตยาบันร่วมเป็นภาคีความตกลงปารีสเมื่อ 21 กันยายน 2559 (ความตกลงปารีสมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ) (กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม,มปป.)


ติดตามอ่านตอนอื่นๆได้ที่

ตอนที่ 2 : เราเกี่ยวข้องกับ COP26 อย่างไร

ตอนที่ 3 : เราจะลดการปลดปล่อยคาร์บอนได้อย่างไร