สิ่งแวดล้อมหลังยุคโควิด-19 เราจะปรับตัวกันอย่างไร?
ปัจจุบันการระบาดของ covid-19 ยังอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้ใจแม้ในประเทศไทยจะมีรายงานผู้ติดเชื้อที่ดูลดลงอย่างต่อเนื่องเราประมาทไม่ได้ และในขณะที่เรากำลังกำลังวุ่นวายและวิตกกับวิกฤตโรคระบาดอยู่นั้น เรามองข้ามสิ่งสำคัญหลายๆอย่างไปหรือไม่ ? และหนึ่งในเรื่องสำคัญที่เรามิอาจมองข้ามได้นั้นก็ คือ เรื่องของคุณภาพสิ่งแวดล้อมของเรา
ในขณะที่เรากำลังเข้มข้นต่อการดูแลรักษาสุขภาพตนเองให้พ้นภัยจากการระบาดของ covid-19 เราอาจลืมเรื่องที่จะเกิดขึ้นในอนาคตซึ่งอาจจะย้อนกลับมาทำร้ายเรา ไม่ว่าจะเป็น
- ปัญหาการจัดการกับปัญหาขยะหน้ากากอนามัยที่ทิ้งและจัดการอย่างไม่ถูกวิธี ในเฉพาะกรุงเทพขยะหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วทิ้งมีมากถึง 40 ตันต่อวัน และขยะเหล่านี้ถือเป็นขยะติดเชื้อซึ่งจะต้องใช้วิธีการจัดการเฉพาะอย่างระมัดระวัง และหากมีการทิ้งไม่ถูกวิธีเราอาจจะเห็นภาพของหน้ากากอนามัยใช้แล้วกลาดเกลื่อนตามชายหาดหรือที่ที่ไม่ควรจะพบ เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อสู่สิ่งแวดล้อม นอกจากนี้แล้วหน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งยังมีองค์ประกอบที่ผลิตจากวัสดุที่ย่อยสลายยาก อย่างพอลิโพรไพลีน (Polypropylene : PP) ซึ่งเป็นพลาสติกชนิดหนึ่ง เมื่อทิ้งไปก็จะกลายเป็นภาระของสิ่งแวดล้อม
- ปัญหาขยะที่เกิดจากการซื้ออาหารกลับไปทานที่บ้าน ด้วยมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของ covid-19 ทำให้รูปแบบการใช้ชีวิตเปลี่ยนไป เราไม่สามารถนั่งทานอาหารที่ร้านได้ต้องซื้อกลับมาทานที่บ้านฉะนั้นจะต้องมีหีบห่อมากมายที่สุดท้ายต้องทิ้งไปกลายเป็นขยะโดยเฉพาะขยะที่เป็นถุงพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง หลังวิกฤตโควิด-19 ระบาดจะมีขยะเหล่านี้ตกค้างมากขึ้นอีกเท่าไหร่? และส่งผลกระทบมากขึ้นอีกเท่าไหร่?
- ปัญหาการชะลอตัวของโครงการต่างๆที่ช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีโซล่าเซลล์ เป็นต้น เพราะแต่ละประเทศต้องหันมาใส่ใจเรื่องเร่งด่วนเฉพาะหน้าอย่างวิกฤต covid-19 ก่อนทำให้โครงการดังกล่าวต้องยืดเวลาออกไปอีก
แม้ว่าจะมีข่าวดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมให้ได้ยินมาบ้าง เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง คุณภาพอากาศดีขึ้นหรือระบบนิเวศได้ฟื้นฟูตัวเองจนสัตว์น้อยใหญ่ออกมาร่าเริงให้เราเห็นแต่ อิงเกอร์ แอนเดอร์สัน (Inger Andersen) ผู้อำนวยการโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) กลับมองว่านั้นเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว ซึ่งจริงๆแล้วการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวเท่านั้นจึงจะเปลี่ยนแนวโน้มของการลดลงของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศได้อย่างแท้จริง ถึงแม้ว่าสิ่งแวดล้อมจะดีขึ้นในทางกลับกันภาวะเศรษฐกิจโลกกลับดูซบเซาสวนทางกันซึ่งนั้นหมายความว่า ไม่ใช่เรื่องดีต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาวเลย
เราเองก็คงต้องมองย้อนกลับมาแล้วมองกันยาวๆต่อไปถึงเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ต่อจากนี้ยิ่งต้องเข้มข้นและใส่ใจกับทุกพฤติกรรมที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น หากมองในแง่ดีอีกมุมหนึ่งจากวิกฤตในครั้งนี้ คือ เหมือนการเริ่มต้นใหม่อีกครั้งและเราได้มีโอกาสปรับตัวอย่างจริงจังเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ถือโอกาสปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเมื่อสิ่งแวดล้อมดีขึ้นก็ย่อมจะดีต่อตัวเราเองด้วย
————————————————————————————————————————————-
ขอบคุณภาพจาก : https://pixabay.com/th/
อ้างอิง
- ฟื้นเศรษฐกิจด้วยการปกป้องสิ่งแวดล้อม (Green Stimulus) ทางรอดของโลกยุคหลัง COVID-19 https://www.the101.world/green-stimulus/
- UNEP ชี้วิกฤตโควิด-19 ‘ไม่ใช่เรื่องน่ายินดี’ สำหรับสิ่งแวดล้อม https://thestandard.co/unep-covid-19-is-not-a-silver-lining-for-the-climate/
- 40 ตันต่อวัน 7 ขั้นตอนทิ้ง “หน้ากากอนามัย” ป่วยไข้ สบายดีพับ “ต่างกัน” https://www.thairath.co.th/news/1766693
- สส. ชวนทิ้งหน้ากากอนามัยให้ถูกที่ ลดปัญหาการจัดการขยะ พร้อมเผยสูตรกรีนเจล (GREEN GEL) เจลล้างมือรักษ์โลก ป้องกันโควิด-19 https://www.deqp.go.th/new/สส-ชวนทิ้งหน้ากากอนามัย