เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2566 การไฟฟ้านครหลวงและสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมร่วมจัดประชุมสัมมนายกระดับความเข้าใจของผู้บริหารโรงเรียน ต่อการดำเนินงานด้านอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนตามรูปแบบและมาตรฐาน โครงการ Energy Mind Award ณ สำนักงานใหญ่ การไฟฟ้านครหลวง (คลองเตย)

เริ่มต้นด้วยการกล่าวต้อนรับและกล่าวถึงความเป็นไปเป็นมาของโครงการโดย คุณรังสรรค์ เศรษฐวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสังความและสิ่งแวดล้อม การไฟฟ้านครหลวง และกล่าวเปิดงานโดย คุณนิภา  ธรรมบวร  ผู้ช่วยผู้ว่าการยุทธศาสตร์องค์และความยั่งยืน การไฟฟ้านครหลวง โดยมุ่งให้ความสำคัญไปยังเยาวชนในสถานศึกษาที่จะเติบโตเป็นพลเมืองใส่ใจสิ่งแวดล้อมโดยมีองค์ประกอบสำคัญที่ใช้โรงเรียนเป็นฐานการบ่มเพาะผ่านการบรรยายในหัวข้อ “การไฟฟ้านครหลวงสานพลังโรงเรียนส่งมอบเยาวชนใส่ใจสิ่งแวดล้อม (Green Youths)ให้กับสังคม” จากนั้นเข้าสู่ช่วงการบรรยายพิเศษหัวข้อ “การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) โดยการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG” โดย คุณฌนุษกุล  สุภิรักษ์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ กลุ่มงานนโยบายและยุทธศาสตร์ กองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สะท้อนให้เห็นภาพรวมระดับชาติสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ Carbon Neutrality และ Net Zero Emission สถานการณ์โลกและผลกรทบต่อเศรษฐกิจและสังคม ความสำคัญของการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเป็น 15 องศาเซลเซียส และความร่วมมือระดับโลก ตลอดจนการดำเนินงานของประเทศไทย

ในช่วงเวลาต่อมาได้มีการเสวนาในหัวข้อ “การมีส่วนร่วมของสถานศึกษาในการพัฒนาคนให้สามารถร่วมขับเคลื่อนไทยสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality (ค.ศ. 2550)และ Net Zero Emissions (ค.ศ.2065)” โดยได้รับเกียรติจากผู้เข้าร่วมเสวนา 3 ท่านได้แก่ ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติมหาวิทยาลัยรังสิต คุณนารีรัตน์  ธนะเกษม ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาศักยภาพและเผยแพร่ความรู้ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และ ดร.ธนวันต์  สินธุนาวา รองประธานและเลขาธิการ มูลนิธิใบไม้เขียว  ดร.เสรี ชี้ให้เห็นเรื่องของผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเนื่องจากสภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะประเด็นของระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นรวมถึงผลผลิตข้าวที่ลดน้อยลงในรอบ 10 ปี เราจะปรับตัวและช่วยกันลดผลกระทบได้อย่างไร โดยมีการหยิบเยาวชนนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกอย่าง เกรตา ธันเบิร์ก เป็นต้นแบบสร้างแรงบันดาลใจให้โรงเรียนได้ช่วยผลักดันให้เกิดเยาวชนใส่ใจสิ่งแวดล้อมให้ได้เช่นนี้ ในส่วนตัวแทนด้านองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) คุณนารีรัตน์ นั้นได้เน้นในส่วนการส่งเสริมเครื่องมือต่างๆที่ช่วยให้โรงเรียนได้มีส่วนช่วยลดการปล่อยคาร์บอน ผ่านโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Support Scheme : LESS) ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2559 มีหลายสถานศึกษาได้เข้าร่วมอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรออนไลน์ช่วยส่งเสริมในด้านวิชาการเพิ่มองค์ความร่วมให้กับโรงเรียนที่สุดใจ ทั้งนี่คุณนารีรัตน์ได้หยิบยกประเด็นจากการปาฐกถาพิเศษของ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากการประชุม COP27 เมื่อ 8 ธันวาคม 2565 ว่าด้วยเรื่องความร่วมมือในภาคส่วนการศึกษาในการลดการปล่อยคาร์บอน โดยเน้นประเด็นการปรับปรุงหลักสูตร การสร้างสื่อการเรียนรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการส่งเสริมด้านงานวิจัย ในส่วนของ

ดร.ธนวันต์ได้สะท้อนมุมมองให้เห็นถึงความจริงจังของสถานศึกษาที่ควรจะมีแผนพัฒนาสู่ความยั่งยืนอย่างจริงจัง ให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมในการรับรู้ปัญหา เกิดความตระหนัก และลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเองให้มาช่วยแก้ปัญหาจนกลายเป็นเยาวชนใส่ใจสิ่งแวดล้อมต่อไป โดยเฉพาะการรู้และเข้าใจจุดสูญเสีย รั่วไหล และขัดแย้งในการใช้พลังงาน ทั้งนี้คุณครูและบุคลากรในโรงเรียนจะต้องมีส่วนร่วมในการสร้างสภาวะแวดล้อมให้เกิดการเรียนรู้ กระตุ้นให้เกิดการค้นหาปัญหา การตั้งเป้าหมายร่วมกัน ตลอดจนส่งเสริมในการทำกิจกรรมต่างๆเพื่อให้โรงเรียนขับเคลื่อนสู่โรงเรียนอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป และในช่วงบ่ายได้มีการนำเสนอย้อนรอย 10 ปี Energy Mind Award สะท้อนให้เห็นคุณค่าของโครงการฯที่ส่งเสริมความร่วมมือบุคลากรในโรงเรียน เสริมทักษะและประสบการณ์รอบด้านให้กับนักเรียน ต่อยอดไปสู่ชุมชน และนำเข้าสู่การชี้แจงโครงการ Energy Mind Award Season2 : สานพลังโรงเรียนส่งมอบเยาวชนใส่ใจสิ่งแวดล้อม (Green Youths) ให้กับสังคม โดยคุณนโคทร ศรีจันทร์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ สมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม

ผู้บริหาร คุณครูและนักเรียนกว่า 70 โรงเรียนในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้ให้ความสนใจเข้าร่วมประชุมกันในครั้งนี้ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านได้มองเห็นความสำคัญและร่วมสานพลังเพื่อร่วมสร้างเยาวชนอันเปรียบเป็นลูกหลานของเราให้เติบโตเป็นพลเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืนต่อไป