ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคปัจจุบัน การถาโถมของข้อมูลข่าวสารล้นเอ่อ ขณะที่เทคโนโลยีก้าวหน้าไปไกล แต่ในใจมนุษย์ยังมีแนวโน้มไปสู่อาการซึมเศร้า และยังคงเหงาทั้งๆที่มีผู้คนรายล้อมอยู่รอบตัว อีกทั้งวิกฤตต่างๆที่รุมเร้า ไม่ว่าจะเป็นภาวะโรคโควิด-19 ระบาด,ภัยธรรมชาติรุนแรงอันเนื่องมาจากผลกระทบจากโลกร้อน ส่งผลกระบทต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตตามมา เราจะต้องเข้มแข็งขนาดไหน เราจะต้องปรับตัวอย่างไรเพื่อให้อยู่รอดบนโลกใบนี้ได้ ?

  • ทางเลือกเพื่อรอด

เมื่อสิ่งต่างๆไม่เป็นอย่างใจ อาจนำพาความทุกข์กายและใจสู่เรา สิ่งสำคัญในภาวะเช่นนี้ คือ การตั้งสติระลึกรู้และเท่าทันกับสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นรอบตัว ซึ่งหลายอย่างเกินการควบคุมของเรา อย่าปล่อยให้สิ่งรอบตัวมาทำร้ายเราจนเราต้องกลายสถานะเป็นเหยื่อของเหตุการณ์ แท้จริงแล้วนั้นเราเองเป็นผู้ที่สามารถจะสร้างความเข้าใจและเรียนรู้ ปรับตัวและสร้างทางเลือกเพื่อความอยู่รอดได้ด้วยตัวเองได้

ในวิกฤตย่อมมีโอกาสให้ค้นหาได้เสมอ ทางเลือกเพื่อทางรอดของเรานั้นบางครั้งไม่ได้ซับซ้อน เราอาจต้องหวนคืนกลับมาสู่ภายในของตนเองจะพบได้ว่า หากว่าเราเจ็บป่วยทางกายเราต้องการการรักษาด้วยยาหรือการบำบัดด้วยวิธีต่างๆ  แต่หากเจ็บป่วยทางจิตใจเราก็ต้องแสวงหาทางเลือกในการเยียวยาจิตใจ เช่น หาคนที่รับฟังและช่วยเราได้ , เข้าพบจิตแพทย์ หรือวิธีอื่นๆที่จะทำได้ หนึ่งในวิธีที่เราจะแนะนำในวันนี้ คือ การเปิดใจให้กว้างแล้วเดินเข้าป่าเข้าสู่อ้อมกอดของป่า

  • ไปอาบป่ากันเถอะ

         หนีความวุ่นวายเข้าป่า ในป่ามีดีอะไร ?
เคยได้ยินข่าวว่ามีหมอเขียนใบสั่งให้คนไข้หยุดงานเพื่อเข้าป่าไปพักผ่อนกายใจ ได้ยินข่าวนี้ก็รู้สึกแปลกใจเพราะปกติเห็นคุณหมอจะเขียนแต่ใบสั่งยา แต่นี้เขียนใบสั่งให้เข้าป่า จึงไปหาข้อมูลต่างๆเพิ่มเติมและได้พบว่า ในป่านั้นมีอะไรมากมายที่จะช่วยเยียวยาและสร้างพลังให้กับเราได้ก้าวเดินต่อไปได้

ประชากรในประเทศญี่ปุ่นส่วนใหญ่เป็นมนุษย์บ้างาน ถึงขนาดที่ว่าทำงานกันจนตายก็มี จนในช่วงประมาณปี 1980 เป็นยุคที่รุ่งเรืองสุดขีดของญี่ปุ่นก็ว่าได้ รัฐบาลได้เห็นผลเสียจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี คนเมืองทำงานหนักต้องผจญกับภาวะรถติด การใช้ชีวิตในออฟฟิเป็นเวลานาน ส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย การเจ็บป่วย รวมถึงส่งผลต่อสุขภาพจิต อาการเสียสมาธิ และภาวะซึมเศร้า จนรัฐบาลส่งเสริมให้ประชาชนไป “อาบป่า”กันเถอะ โดยญี่ปุ่นจะเรียกการอาบป่าว่า คำว่าชินรินโยคุ (Shinrin-yoku) แยกออกเป็นคำว่า Shinrin  แปลว่า ป่า และ yoku  แปลว่า อาบ จึงแปลรวมกันว่า การอาบป่า หรือการรับรู้บรรยากาศป่าผ่านประสาทสัมผัสของเรา

ญี่ปุ่นเขาจริงจังกับเรื่องการอาบป่าจนถึงกับการลงมือทำวิจัยเก็บข้อมูล จนสรุปได้ว่า การอาบป่านั้นเป็นการรักษาเชิงป้องกันที่ใช้ในประเทศญี่ปุ่น จากผลการศึกษาพบว่า การอาบป่ามีส่วนช่วยให้อารมณ์ความรู้สึกผ่อนคลาย ส่งผลต่อคุณภาพการนอนหลับ ลดความเครียด และอาการซึมเศร้าได้

  • ทำไมการอาบป่าจึงดีต่อเรา

ในความเป็นป่านั้นเต็มใจให้เราด้วยดีเสมอมา เรามักได้ยินเสมอเวลาอยู่ในป่าว่า “สูดลมหายใจให้เต็มปอดเถิดนะ เพราะในเมืองไม่มีอากาศอันบริสุทธิ์แบบนี้”  แน่นอนว่าป่า คือ แหล่งผลิตออกซิเจนให้กับเราได้หายใจ และยังมีเสียงจากธรรมชาติให้เราได้ผ่อนคลาย มีงานวิจัยสนับสนุนที่น่าสนใจที่แสดงให้เห็นว่าการอาบป่าดีต่อเราอย่างไร

  • ในป่าเต็มไปด้วยน้ำมันหอมระเหยที่มาจากธรรมชาติที่เรียกว่า ไฟตอนไซด์(phytoncide) ซึ่งต้นไม้มักจะปล่อยสารนี้ออกมาเพื่อป้องกันเชื้อโรคและแมลง มีผลต่อการเพิ่มการทำงานของเซลล์ NK หรือ Natural killer cell ซึ่งส่งผลต่อการสร้างระบบภูมิคุ้มกันร่างกายของเราอีกด้วย
  • ในดินมีจุลินทรีย์ไมโครไบโอม (microbiome) ที่เป็นจุลิทรีย์ที่เหมือนกับอยู่ในร่างกายมนุษย์ ที่เรียกว่า ไมโคแบคทีเรียม วัคเค (Mycobacterium vaccae) ซึ่งอาจมีผลต่อการรักษาโรคซึมเศร้าได้
  • การสังเคราะห์แสงของพืชนั้นทำให้เกิดโมเลกุลออกซิเจนที่มีประจุไฟฟ้าลบอ่อนๆ เมื่อเราสูดดมเข้าไปก็จะไปประกบกับประจุไฟฟ้าขั้วบวกของอนุมูลอิสระในร่างกายจนเปลี่ยนเป็นกลาง แล้วร่างกายก็หลั่งสาร Serotonin หรือ “ฮอร์โมนแห่งความสงบสุขออกมา”

เปิดใจให้กว้าง เปิดทุกประสาทสัมผัส แล้วเดินเข้าไปในป่า ให้ป่าโอบกอดเรา ให้ป่าได้ปลอบโยนร่างกายและจิตใจของเรา และเมื่อเราเข้มแข็งเราจะก้าวไปเพื่อสร้างคุณค่าดีๆให้กับโลกนี้ต่อไป

สามารถเข้าชมวีดีโอ “กาสะลอง เส้นทางอาบป่า”ที่ศูนย์รวมตะวัน ตามลิงค์นี้


ขอบคุณข้อมูลจาก

ขอบคุณภาพจาก https://pixabay.com/