ดินเปรียบเป็นฐานสำคัญให้พืชได้หยั่งรากเพื่อเติบโต มักจะได้ยินเสมอว่า “ดินเป็นอย่างไร พืชก็เป็นอย่างนั้น” ดินมีฐานกำเนิดมาจากหินฉะนั้นเมื่อหินต้นกำเนิดผ่านกระบวนการย่อยสลายรวมผสมกับอินทรียวัตถุหรือซากพืช-ซากสัตว์จะกลายเป็นดินในลักษณะที่แตกต่างกันไป เช่น หินปูนประกอบไปด้วยแร่ธาตุหลากหลายเมื่อย่อยสลายอาจกลายเป็นดินที่มีสีลักษณะเป็นสีแดงเนื่องจากมาจากสารออกไซด์ของธาตุเหล็กและอลูมิเนียมที่อยู่ในหินปูน เป็นดินที่ระบายน้ำได้ดีแต่แร่ธาตุต่ำ เป็นต้น

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กที่มักพบได้บ่อยๆ คือ การขาดแร่ธาตุในดินเนื่องจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวจนต้องหันมาใช้ปุ๋ยเคมีมากขึ้น หรือแม้กระทั่งการการชะล้างพังทลายของดิน (Soil erosion) ซึ่งเป็นเหตุให้สูญเสียหน้าดินที่อุดมสมบูรณ์ไป ดินเสียโครงสร้างเป็นผลให้สูญเสียความหลากหลายของพันธุ์พื้ชตามมา

ซึ่งจากข้อมูลกองสำรวจดินและวิจัยทรัพยากรดิน กรมที่ดิน พบว่า เมื่อปี 2562 มีพื้นที่ที่สูญเสียดินเกินกว่าระดับที่ยอมรับได้ (มากกว่า 2 ตัน/ไร่/ปี) รวมแล้ว 78,174,416 ไร่ คิดเป็น 24.38 ของเนื้อที่ประเทศ

ทั้งนี้อัตราการชะล้างพังทลายของดินขึ้นกับ สภาพพื้นที่ ความชัน พรรณพืชปกคลุม ลมและน้ำ รวมถึงการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ และหากเราสังเกตจากข่าวเมื่อเวลามีฝนตกหนักๆมักจะได้ยินข่าวดินถล่มหรือดินสไลด์สร้างความเสียหายให้กับผู้ที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ใกล้ภูเขาหรือบริเวณที่มีความชันสูง

เรากลับมาที่ศูนย์รวมตะวันสภาพพื้นที่ตามธรรมชาติของศูนย์รวมตะวันก็จะพบว่ามีเนินสลับกับพื้นที่ราบลุ่ม บริเวณที่เป็นแหล่งเก็บน้ำ คือ สระ 18 ไร่ถือว่าเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อเวลาฝนตกน้ำจะไหลบ่าชะล้างหน้าดินเดิมเกิดการชะล้างพังทลายของหน้าดินอย่างต่อเนื่อง จากศูนย์รวมตะวันจึงมีการใช้ธรรมชาติแก้ปัญหาโดยการนำพืชที่เหมาะสมมาปลูกเพื่อให้รากยึดเกาะดินให้แน่นขึ้นและพืชยังช่วยเป็นปรากการสำคัญช่วยลดแรงของน้ำที่ไหลผ่านได้เป็นอย่างดี เรามีกรณีศึกษาที่ทดลองปฏิบัติที่ศูนย์รวมตะวันและได้ผลดีมาแบ่งปัน

  • การปลูกต้นกวนอิมพันมือหรือหาบเงินหาบทองตามขอบทางระบายน้ำกันดินร่วงลงทางระบายน้ำ ต้นกวนอิมพันมือเป็นพืชที่ทนและโตง่ายจึงเหมาะแก่การนำมาปลูกได้เป็นอย่างดี
  • การใช้หญ้าแฟกปลูกริมสระ 18 ไร่ ได้ผลดีมากลดการพังทลายหน้าดินเนื่องจากว่ารากของหญ้าแฟกมีความเหนียว หยั่งรากลึกและยาวจึงมีส่วนช่วยในการยึดเกาะดินได้เป็นอย่างดี
  • การปลูกไผ่รวกเป็นแนวกันความแรงของน้ำตามพื้นที่ลาดชัน

วิธีดังกล่าวเปรียบเป็นปรากการสำคัญที่จะป้องกันการชะล้างพังทลายหน้าดินซึ่งอาจยังไม่เป็นวิธีการที่ดีที่สุดแต่ทางศูนย์พยายามสังเกตและทดลองใช้วิธีทางธรรมชาติในการจัดการธรรมชาติให้ได้มากที่สุดทั้งนี้ได้รับความร่วมแรงร่วมใจจากพี่ๆคนงานช่วยแรง ช่วยคิด ร่วมมือร่วมใจในการสร้างสรรค์ศูนย์รวมตะวันให้เป็นแหล่งเรียนรู้ในแบบใช้ประสบการณ์จริงจากการลงมือทำมาแบ่งปัน หากมีเรื่องดีๆจะนำมาเล่าสู่กันฟังในโอกาสหน้า แล้วพบกันใหม่


ขอบคุณข้อมูลจาก

  • https://www.ldd.go.th/Web_Soil/PDF/soilerosion.pdf