การพาตัวเองเข้าป่าหากเข้าไปด้วยสายตาแห่งความเคยชินกับความสะดวกสบายที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกคอยช่วยเราทุกอย่าง เรามักจะมองว่าการเดินป่าเต็มไปด้วยความยากลำบาก ร้อน เหนื่อย ลำบาก แต่ในอีกหนึ่งมุมของความเป็นจริง หากเปลี่ยนการมองให้เห็นความเป็นจริง จะพบได้ว่าการเข้าป่าทำให้เราตะลึงและทึ่งกับความมหัศจรรย์ที่ป่าได้ช่วยสนับสนุนการอยู่รอดของมนุษย์แทบทุกมิติ

          “พี่คะอันนี้กินได้ไหมคะ”

           เสียงเล็กๆใสๆของน้องระดับประถมคนหนึ่งถามขึ้นมาขณะพี่พาเดินป่า พร้อมทั้งชี้ไปยังต้นมะขามป้อมที่กำลังออกผลสะพรั่งเต็มต้นจนสะดุดตาทุกคนที่เดินผ่าน

          “กินได้ครับน้องลองชิมกันดูได้เลย” ว่าแล้วพี่วิทยากรก็โน้มกิ่งที่ใกล้มือคว้าลูกที่โตได้ที่แจกให้กับน้องๆโดยตนเองก็กินก่อนให้น้องๆเชื่อมั่นว่ากินได้จริงๆ น้องๆต่างทำหน้าสงสัยแบบกล้าๆกลัวๆ แต่เห็นว่าปลอดภัยจึงกินกัน ปรากฏว่า น้องๆต่างทำหน้าเหยเก บางคนถึงกับคายทิ้ง

          “มันทำไมเปรี้ยวๆฝาดๆแบบนี้คะ ไม่อร่อยเลย”

          พี่วิทยากรขำด้วยความเอ็นดู

          “ไม่อร่อยแต่รู้ไหมว่า มะขามป้อมมีประโยชน์มากมาย มะขามป้อมถือเป็นพืชสมุนไพรที่มีวิตามินซีสูงมีส่วนช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน และมักนำไปเป็นส่วนผสมทำยาแก้ไขได้เป็นอย่างดี น้องๆลองกลืนน้ำลายหรือจิบน้ำตาม แล้วบวกพี่สิว่ารสชาติเป็นอย่างไร”

          “ออกจะหวานๆค่ะ น่าแปลกใจมาก”  น้องทำหน้าตื่นพร้อมๆกับกินมะขามป้อมอีกคำ เคี้ยวแล้วรีบดื่มน้ำตาม

          “ติดใจแล้วละสิเป็นไงละครับ นี้คือหนึ่งในความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ”

          ป่า คือ แหล่งสร้างคุณค่ามากมายทั้งในแง่ของระบบนิเวศและการสร้างประโยชน์ให้กับมนุษย์ทั้งในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยควบคุมสภาวะอากาศ ป้องกันการพังทลายของดิน สร้างออกซิเจนให้เราได้หายใจ  เป็นแหล่งผลิตปัจจัย  4 รวมไปถึงการเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ หรือที่เรียกว่า นิเวศบริการ (ecosystem services) นั้นเอง

ในขณะที่พี่วิทยากรพาน้องๆ เดินป่าอยู่นั้นมักจะชี้ชวนให้มองเห็นถึงคุณค่าของป่าในแง่ต่างๆ เชื่อมโยงให้เห็นว่าป่าสนับสนุนให้เราอยู่รอดได้อย่างไร และน้องๆจะได้มีโอกาสสัมผัสโดยประสบการณ์ตรงไม่ว่าจะเป็นการจับ สัมผัส ดม ชิม

“พี่ครับผมโดนหนามเกี่ยวหู ช่วยดูให้หน่อยครับ”

สังเกตได้ชัดว่ามีเลือดไหลออกมาจากค่าหูเห็นได้อย่างชัดเจนหลังจากที่เอาหนามที่เกี่ยวแล้ว พี่วิทยากรจึงใช้น้ำเกลือที่ได้จากกล่องปฐมพยาบาลกล่องน้อยที่ติดตัวมา จากนั้นพี่ก็หยิบใบพืชกลิ่นฉุนชนิดหนึ่งมาขยี้แล้วแปะไปที่แผลที่หนามเกี่ยว โชคดีที่แผลมีขนาดไม่ใหญ่มาก สักพักเลือดจึงหยุดไหล

“พี่เอาใบอะไรมาปิดแผลผมครับเนี่ย ทำไมเลือดดูแห้งไวจัง” น้องเริ่มสงสัย

“อ๋อ…พืชที่พี่นำมาใช้เรียกว่า ต้นสาบเสือ มองผ่านๆเหมือนดูจะเป็นวัชพืชแต่หากศึกษาให้ลึกจะพบว่า ต้นสาบเสือ เป็นสมุนไพรในการห้ามเลือดจากแผลสดได้เป็นอย่างดี”

น้องๆผงกหัวแสดงความเข้าใจถึงประโยชน์ของพืชพรรณที่หากไม่ใส่ใจจริงๆจะไม่รู้เลย

ระหว่างทางมีพืชพรรณที่น่าสนใจอีกมากมายที่สามารถเชื่อมโยงป่าสู่การใช้ประโยชน์ของมนุษย์ เช่น ต้นมะค่าโมงไม้เนื่องามที่นิยมนำไปใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ ต้นแดงฉายา Iron wood ที่มีความแข็งแกร่งดั่งเหล็กกล้าจึงสามารถนำไปทำหมอนรองรางรถไฟ หรือไม้หายากอย่างชิงชันซึ่งมักนำไปทำสิ่งของชั้นสูง เช่น ระนาด โต๊ะหม่บูชา พี่วิทยากรและน้องๆ ต่างเพลิดเพลินกับการเดินป่าจนลืมความเหนื่อย

ประสบการณ์ตรงได้สอนน้องๆให้ได้เรียนรู้จากชีวิตจริงในการเดินป่า แม้เพียงจะเป็นระยะทางสั้นๆแต่การเดินป่าครั้งนี้สะท้อนให้เห็นคุณค่าของป่าที่พร้อมยินดีให้บริการทั้งเป็นแหล่งให้เราหายใจ แหล่งอาหาร แหล่งยารักษาโรค แหล่งทรัพยากรนำมาสร้างที่อยู่อาศัย เป็นปราการป้องกันการพังทลายของดิน ฉะนั้นหากป่ายังคงอยู่ เราก็จะอยู่รอดไปได้เช่นกัน