หากมองจากมุมสูงลงมาในบริณพื้นที่ศูนย์รวมตะวัน เราจะพบว่าแทบมองไม่เห็นสิ่งก่อสร้างเลย สิ่งที่มองเห็นส่วนใหญ่นั้นกลับเป็นเรือนยอดของหมู่แมกไม้สีเขียวที่อยู่ติดกันเป็นผืนคลุมทั่วศูนย์ แต่หากตัดภาพย้อนภาพศูนย์รวมตะวันกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้วจะพบว่าพื้นที่บางส่วนจะยังว่างเปล่าดูโล่ง สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในวันนี้ส่วนหนึ่งนั้นเกิดจากความดีงามที่เราไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายตอบแทนให้เขา เขาช่วยเราอย่างเต็มใจและผ่านมาแล้ว 20 ปี เขายังคงทำหน้าที่นั้นอยู่

“คนเรา 1 คนปลูกต้นไม้ปีละกี่ต้น”

คำถามจากพี่ที่ศูนย์รวมตะวันถามขึ้นขณะพาน้องๆ สะพายกล้องเดินสำรวจนก ในศูนย์รวมตะวัน คำตอบที่สะท้อนกลับมาจะมีบอกว่า 1 ต้นบ้าง 2 ต้นบ้างหรือบางคนบอกว่าไม่เคยเลยก็มี ซึ่งเหตุผลที่น้องๆได้บอกเพิ่มเติมว่าแล้วแต่โอกาสที่จะได้ปลูก เช่น โรงเรียนจัดกิจกรรมจิตอาสาหรือพาออกค่ายอนุรักษ์

วันนี้โชคดีมากๆพี่และน้องๆได้พบเจอกับฝูงนกแก๊กซึ่งถือว่าเป็นนกในตระกลูนกเงือกแต่เป็นนกเงือกขนาดเล็ก เจอแบบฝูงใหญ่มาประมาณ 20 ตัว ซึ่งช่วงนี้น่าจะมาช้อปปิ้งแวะที่ต้นกร่างที่กำลังออกผลสพรั่งเต็มต้นเปรียบแล้วเหมือนกับซุปเปอร์มาร์เก็ตของนกแก๊กก็ว่าได้ เป็นโอกาสเหมาะที่พี่ศูนย์รวมตะวันจะถามน้องด้วยคำถามนี้

“น้องๆรู้ไหมครับว่า ใน 1 ชีวิตของนกเงือกสามารถปลูกต้นไม้ได้กี่ต้น”

ด้วยคำถามเช่นนี้น้องๆจึงต้องเริ่มวิเคราะห์และบางคนก็สงสัยว่า นกช่วยปลูกต้นไม้ได้ด้วยหรอ และช่วยอย่างไร

เรามาคุยเรื่องนี้กัน….

หากเราจะพูดถึงกิจวัตรประจำของนก เริ่มตั้งแต่ตื่นแต่เช้าเริ่มออกหากินซึ่งนกมีความหลากหลายของแหล่งที่อยู่และอาหารการกิน นกบางชนิดกินเมล็ดพันธุ์ ผลไม้ บางชนิดกินแมลงหรือสัตว์ขนาดเล็ก เช่น กุ้ง หอย ปู ปลาขนาดเล็ก ลักษณะนิสัยของนกทั่วไป คือ ไม่หากินที่ใดที่หนึ่งเป็นประจำมักจะย้ายที่ตามบริเวณแหล่งอาหารหรือมักจะหาที่ปลอดภัยอาศัยหลบภัย นกที่กินเมล็ดพันธุ์และผลไม้เมื่อกินจากที่หนึ่งแล้วย้ายไปอีกที่หนึ่ง ผลไม้หลังผ่านการย่อยในกระเพาะจะมีการขับถ่ายเมล็ดพันธุ์ในผลไม้ที่ไม่ถูกย่อยจะเหลือเป็นกากและนกจะขับถ่ายและเมื่อได้รับแสงแดดและน้ำที่เหมาะสม รวมถึงหากว่าได้เศษซากที่เหลือจากการย่อยอื่นๆจะเป็นเหมือนปุ๋ยเพิ่มธาตุอาหารให้กับเมล็ดพันธุ์ได้เติบโตได้เป็นอย่างดี

          สิ่งที่สร้างความมหัศจรรย์อย่างมากจากข้อมูล งานวิจัย โครงการศึกษาชีววิทยาและนิเวศวิทยาของนกเงือก ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า นกเงือกสามารถช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ไม้ได้มากกว่า 100 ต้น/สัปดาห์ กระจายชนิดพันธุ์ของพันธุ์พืชได้มากกว่า 200 ชนิดและในหนึ่งชีวิตของนกเงือกสามารถปลูกต้นไม้ได้มากถึง 500,000 ต้น

เห็นข้อมูลแบบนี้แล้วถึงกับต้องร้องว้าวเลยทีเดียว นี้แค่นกเงือกชนิดเดียวยังมีนกชนิดอื่นๆที่ทำหน้าที่เช่นนี้เหมือนกัน ซึ่งนอกจากช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์แล้วนกบางชนิดที่กินหนอนหรือแมลงเป็นอาหารยังช่วยกำจัดศัตรูพืชให้กับพรรณไม้ในป่าได้อีกด้วย เช่น นกหัวขวาน นกโพระดก มักจะหาหนอนหรือแมลงตามเปลือกไม้กินจนได้รับฉายาว่าเป็น “หมอรักษาต้นไม้”

พี่ๆพูดคุยกับน้องๆอย่างออกออกรส ออกชาติ จนมาถึงจุดที่น้องๆยังคงอึ้งกับบทบาทหน้าที่ในระบบนิเวศของนกที่ไม่เคยรู้มากก่อน พร้อมกับบทสรุปที่ว่า

“หากว่าคนเรา 1 ปีปลูกต้นไม้ 1 ต้น 1 ชีวิตสมมติว่าอายุถึง 70 ปี ก็จะปลูกได้เพียง 70 ต้น แต่นกเงือก 1 ตัวปลูกต้นไม้ได้มากถึง 500,000 ต้นโดยที่ไม่ได้รับค่าจ้างใดใดเลยทั้งชีวิต นกเงือกไม่ได้ปลูกต้นไม้เพื่อสร้างภาพหรือเพียงเพื่อปลูกแล้วจบ แต่นกเงือกปลูกป่ามอบคุณค่าให้กับระบบนิเวศและเราเองก็ได้ประโยชน์จากป่าด้วย จริงไหม”

สรุปจบพี่ผายมือออกสู่ฉากสีเขียวขนาดใหญ่ที่ประกอบขึ้นจากมวลแมกไม้ในศูนย์รวมตะวันแล้วพูดสั้นๆทิ้งท้ายว่า

“ป่าที่เห็นอยู่เบื้องหน้าน้องๆนี้ ต้องขอขอบคุณเหล่าบรรดานกๆทั้งหลายที่ช่วยกันปลูก”


ขอบคุณข้อมูลจาก