ข่าวคราวการรั่วไหลของน้ำมันดิบจากท่อใต้ทะเล กว่า 4 แสนลิตรในพื้นที่กลางทะเล จ.ระยอง นับว่าเป็นข่าวใหญ่ที่สะเทือนวงการสิ่งแวดล้อมและส่งผลกระทบไปถึงวงการการท่องเที่ยว เรียกได้ว่าเดือดร้อนกันเป็นวงกว้างมากขึ้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจส่งผลระยะยาวต่อระบบนิเวศทะเลไทย การรั่วไหลของน้ำมันนั้นส่วนใหญ่นั้นเกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น อุบัติเหตุทางเรือขนส่งน้ำมัน การขุดเจาะน้ำมัน และการลักลอบปล่อยทิ้งลงสู่ทะเล ทั้งนี้การใช้พลังงานของเรามีส่วนเกี่ยวข้องทางอ้อมนั้นก็คือ การใช้พลังงานที่มากขึ้นย่อมจะส่งผลต่อการขุดเจาะน้ำมัน ขนส่งน้ำมัน มากขึ้นดังนั้นความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุน้ำมันรั่วไหลก็มีโอกาสสูงมากขึ้นตามมา
จากอดีตถึงปัจจุบัน
นับจากปี 2540 – 2565 หรือในรอบ 26 ปีที่ผ่านมาเกิดน้ำมันรั่วไหลมาแล้ว 176 เหตุการณ์ หากเฉลี่ยแล้วจะพบว่าแต่ละปีจะมีเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลลงทะเลเกิดขึ้น 6-7 ครั้งต่อปี และเมื่อจะดูเฉพาะในปี 2565 นอกจากเหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดที่มาบตาพุด จ.ระยองแล้วก่อนหน้านั้นยังมีเกิดขึ้นที่ กลางอ่าวไทยแถวๆจังหวังหวัดชุมพรหลังเรือบรรทุกน้ำมันกว่า 500,000 ลิตรอับปางลง และนี้แค่เพียงต้นปีเท่านั้นเอง
ความเสียหาย
หลังจากที่น้ำมันรั่วไหลลงทะเลสิ่งที่ตามมา คือ ความเสียหายในแง่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบนิเวศทางทะเล เศรษฐกิจ สุขภาพและผลกระทบต่างๆที่เป็นผลสืบเนื่องที่บางครั้งเหนือความคาดการณ์ของเรา เรามาดูกันว่าความเสียหายต่างๆมีอะไรบ้าง
- ความเสียหายทางระบบนิเวศ
เมื่อน้ำมันปนเปื้อนกับน้ำจะเป็นเหมือนฟิล์มปิดกันไม่ให้ออกซิเจนละลายลงในน้ำ รวมถึงการปิดกันแสงจนเป็นผลให้พืชน้ำหรือแพลงก์ตอนพืชไม่สามารถสังเคราะห์ด้วยแสงได้ เมื่อผู้ผลิตไม่สามารถอยู่ได้ย่อมส่งผลต่อสัตว์น้ำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปลา เต่า กุ้งไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้เช่นกัน เป็นเหมือนกับการตัดตอนวงจรระบบนิเวศในทะเล จนสุดท้ายก็ย้อนกลับมาที่มนุษย์ต้องเดือนร้อนเอง นอกจากนี้สัตว์อื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น นกหรือสัตว์อื่นๆอย่างนากทะเลหรือแมวน้ำที่ต้องหากินในทะเลก็รับผลตามมาเช่นกัน กล่างคือเมื่อน้ำมันติดตามขนสัตว์เหล่านั้น มันจะลดประสิทธิภาพการรักษาอุณภูมิในร่างกายของสัตว์เหล่านั้น และการต้านท้านความหนาวเย็นจะลดลงจนเป็นผลให้ภูมิคุ้มกันลดต่ำจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ และสิ่งที่น่ากลัวกว่านั้น คือ สารพิษที่ตกค้างเป็นระยะเวลาที่ยาวนานที่ส่งผลต่อการเติบโตของปะการังอันเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำที่สำคัญจะได้รับผลกระทบไปด้วย
- ความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจ
คราบน้ำมันที่รั่วไหลย่อมทำลายทัศนียภาพอันสวยงามของทะเล เป็นผลให้แหล่งท่องเที่ยวด้อยคุณค่าลงส่งผลให้การท่องเที่ยวซบเซา สิ่งที่ตามมาคือพ่อค้าแม่ขายรวมถึงผู้ให้บริการที่พัก โรงแรม ในแหล่งท่องเที่ยวมีรายได้ลดลง นอกจากนี้ยังส่งกระทบต่อผู้ทำการประมงทั้งในแง่การออกเรือหาปลา (เกรงว่าอุปกรณ์อาจจะเสียหายจากคราบน้ำมันจึงไม่กล้าออกเรือหาปลา) และประมงชายฝั่งที่เลี้ยงสัตว์น้ำในกระชัง เช่น ชาวประมงผู้เลี้ยงห้อยแมงภู่ เป็นต้น
- ความเสียหายด้านสุขภาพร่างกาย
ในท้ายที่สุดแล้วผลกระทบที่ย้อนกลับมาสู่มนุษย์ในแง่สุขภาพคือสิ่งที่หลีกเลี่ยง ไม่ได้ ผลกระทบโดยตรงก็คือ การที่เรากินสัตว์น้ำจากทะเลเราย่อมจะได้รับสารพิษจากน้ำมันที่สัตว์ทะเลกินเข้าไปโดยตรง นอกเหนือจากนี้แล้วการสูดดมไอของน้ำมันเป็นเวลานาน จากเอกสารนายแพทย์อดุลย์ บัณฑุกุล กลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม โรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี รายงานว่า อาการเฉียบพลันเนื่องจากการสูบดมน้ำมันดิบ คือ อาการระคายเคืองตา ผิวหนัง สัมผัสนานๆจะทำให้ผิวหนังบวมแดง และไหม้ได้ หรือหากกลืนกินเข้าไปอาจมีอาการท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศรีษะ ซึ่งหากสะสมระยะยาวจะส่งผลไปยังการเป็นโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง เสี่ยงต่อการแท้งในหญิงมีครรภ์ และสารเบนซีนในน้ำมันเพิ่มความเสี่ยงทำให้เป็นโรคมะเร็งเม็ดโลหิตขาว
หากจะประเมินความเสียหายแล้วการเกิดน้ำมันรั่วไหลแต่ละครั้งยากที่จะประเมินมูลค่าเป็นตัวเลขได้ โดยเฉพาะความเสียหายต่อระบบนิเวศในระยะยาว ถึงแม้ว่าจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน (กปน.) ตั้งแต่ปี 2538 หรือมีวิธีการขจัดคราบน้ำมันทางวิทยาศาสตร์อย่างดีเพียงใด ไม่ว่าจะเป็นการกักและเก็บ การใช้สารเคมีให้น้ำมันแตกตัวเป็นโมเลกุลเล็กๆ (oilspill dispersant) หรือการเผา วิธีการเหล่านี้เป็นเหมือนการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเพียงเท่านั้น แต่ต้นเหตุที่แท้จริง คือ อะไรเราคงต้องมาจริงจังกับเรื่องนี้และลงมือจัดการปัญหาที่ต้นเหตุให้อยู่หมัด จงอย่าปล่อยให้วิกฤตน้ำมันรั่วไหลลงทะเลครั้งนี้ลอยนวล อย่าให้มันมีครั้งต่อไปอีกเลย เพราะความสูญเสียนั้นมันยากเกินการประมาณ
ขอบคุณข้อมูลจาก
- http://www.mkh.in.th/index.php?option=com_content&view=article&id=277&Itemid=235&lang=th
- https://thestandard.co/oil-leaks-into-thai-sea-statistics-in-26-years/
- https://www.springnews.co.th/spring-life/820393
- https://www.rama.mahidol.ac.th/poisoncenter/sites/default/files/public/pdf/books/Toxic-Substance1-06_Crude-Oil.pdf