กระแสการบริโภควิถีไทยกับการก้าวให้ทันแบบอย่างตะวันตก ตอนที่ 2

การใช้ทรัพยากรกับมลพิษที่เพิ่มมากขึ้น

การขยายตัวด้านการบริโภค การเพิ่มจำนวนประชากร เป็นแรงกดดันที่สำคัญต่อการนำเอาทรัพยากรจากแหล่งธรรมชาติออกมาใช้  มีพัฒนาการด้านเทคโนโลยีที่เพิ่มขีดความสามารถในการนำทรัพยากรธรรมชาติออกมาใช้มากและเร็วกว่าเดิม ในขณะที่การฟื้นตัวตามของทรัพยากรตามธรรมชาติไม่ได้มีเทคโนโลยีใดๆ ที่ทำให้มีผลผลิตมากกว่าเดิม การเร่งนำเอาทรัพยากรจากแหล่งธรรมชาติมาใช้จึงเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้เกิดความเสื่อมโทรม การผลิตและการบริโภคที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วและมากกว่าขีดความสามารถในการรองรับการบริหารจัดการมลพิษต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้เพิ่มปริมาณมลพิษอย่างมากในแหล่งทัพยากรต่างๆ เช่น การปนเปื้อนของดิน แหล่งน้ำ การขับถ่ายของเสีย การถ่ายเทของเหลือทิ้งจากการผลิต การบริโภค ก่อให้เกิดมลพิษที่มากและรวดเร็ว ยากต่อการแก้ไขจัดการได้ทัน วิธีการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับการดูแลรักษาทรัพยากรและคุณภาพสิ่งแวดล้อมนั้น ไม่เป็นไปในลักษณะการดำเนินงาน การแก้ปัญหา แบบเชิงรุก เพื่อป้องกันและจัดการไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นมาใหม่ แต่เป็นไปในลักษณะการทำงานเชิงรับ ที่ทำได้อย่างมาก คือการพยากรณ์จัดหา แทนที่จะเป็นบริหารความต้องการจัดการทรัพยากร

การจัดการความต้องการของภาครัฐ เอกชน และองค์กรต่างๆ กระบวนการในการคิดของราชการมุ่งเน้นการทุ่มเทในส่วนที่ตัวเองรับผิดชอบเพื่อแก้ไขให้ทันเวลาและเข้าใจผิดว่าปัญหาจะแก้ไขได้โดยหน่วยงานของรัฐบาลเท่านั้น มองข้ามความสำคัญและการมีบทบาทในภาคประชาชน ผู้ซึ่งที่มีส่วนทำให้เกิดปัญหา จึงจำเป็นต้องมีส่วนในการแก้ปัญหาด้วย การที่ความรับผิดชอบตกในมือชองหน่วยงานของรัฐบาล ทำให้แก้ไขได้ไม่ทัน ไม่เพียงพอ และเป็นไปในลักษณะประวิงเวลา ซื้อเวลา ย้ายปัญหา เปลี่ยนปัญหา มากกว่าแก้ปัญหา ความพยายามในการส่งเสริมการมีบทบาทของผู้บริโภค เป็นความพยายามที่ยากและต้องทำงานอย่างต่อเนื่อง ทุ่มเท และอาจไม่สอดคล้องกับการทำงานของรัฐที่ทำตัวเองเป็นเจ้าของปัญหา และเป็นผู้ผูกขาดในการจัดการสิ่งแวดล้อมของประเทศ ที่รวมศูนย์การตัดสินใจที่สำคัญเกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อมของประเทศไว้

การใช้ทรัพยากร การพัฒนาในมิติต่างๆ ไว้ที่หน่วยงานรัฐบาลหรือส่วนกลางที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งนอกจากไม่ทำให้เกิดการกระจายความเจริญและเป็นอิสระในการจัดการทรัพยากรแล้ว ก่อให้เกิดความอ่อนแอในชุมชนชนบท รวมทั้งหน่วยงานรัฐในภูมิภาคที่ไม่สามารถทำงานเต็มศักยภาพของตัวเอง เนื่องจากอำนาจตัดสินใจทั้งหมดมาจากส่วนกลาง ที่เชื่อว่าเข้าใจปัญหาทุกด้าน แต่ในความพยายามหลายทศวรรษที่ผ่านมา เป็นเพียงการตัดสินใจและแก้ปัญหาที่ได้รับรู้จากสื่อต่างๆ ในส่วนกลางเท่านั้น ขาดการเข้าใจอย่างแท้จริง เกิดช่องว่างขนาดใหญ่ในการเรียนรู้ความจำเป็น ความต้องการขนาดใหญ่ในท้องถิ่นเพื่อความอยู่รอด เป็นผลให้คนในชุมชนขาดความสนใจที่จะมีบทบาท เรียนรู้แนวทางแก้ไขปัญหา รวมทั้งเรียนรู้ภูมิปัญญาในการบริหารทรัพยากรท้องถิ่นของตัวเอง ซึ่งต่างจากสมัยก่อนที่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ทำให้ชุมชนชนบทในท้องถิ่นได้เรียนรู้การแก้ปัญหาด้วยตนเอง ได้เรียนรู้การตอบสนองความต้องการของตัวเอง เรียนรู้และเข้าใจข้อจำกัดของทรัพยากรในท้องถิ่น เกิดการพัฒนาการสร้างภูมิปัญญาและถ่ายทอดการบริหารจัดการทรัพยากรภายในท้องถิ่น ก่อให้เกิดการพึ่งพาตนเอง เกิดการเป็นอยู่ที่พอเพียง เกิดการกระจายศูนย์ในการจัดการทรัพยากร เกิดการใช้เทคโนโลยีในท้องถิ่น ให้สอดคล้องกับศักยภาพการผลิต

การบริหารจัดการภาครัฐที่เข้าไปมีบทบาท ทำให้ชุมชนขาดความสนใจที่จะเข้ามามีส่วนร่วมบริหารจัดการ เช่น การจัดการลุ่มน้ำ ทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งสังคมในชนบทได้มีชีวิตต่อเนื่องกับการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ของชุมชนเป็นอย่างดี จนกระทั่งมีการแจ้งว่าการบริหารจัดการป่าไม้ ต้องได้รับการดูแลจากคนที่ถูกแต่งตั้งมาจากส่วนกลางเท่านั้น และองค์กรอิสระรวมทั้งผู้บริโภค แต่ละคนในชนบทเป็นเพียงผู้ได้สัมผัสได้เห็น ได้เข้าใจ ได้รับบริการ แทนที่จะเป็นผู้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาทรัพยากรในท้องถิ่น การรวมศูนย์ดังกล่าว ก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี ทำให้เกษตรกรในท้องถิ่นขาดความสนใจที่จะมีส่วนรวมในการจัดการทรัพยากร ปล่อยให้เกิดความสูญเสีย เสื่อมโทรม เพราะเห็นว่าเป็นหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ

ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา พิสูจน์ให้เห็นว่าการบริหารงานโดยหน่วยงานภาครัฐไม่ก่อให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน ไม่สามารถตอบสนองความต้องการอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นจึงเป็นบทเรียนที่ทำให้พิจารณาได้ว่าการบริหารจัดการแบบรวมศูนย์ การดำเนินงานแบบตะวันตกไม่ประสบความสำเร็จ ก่อให้เกิดความเสียหาย ความเสื่อมโทรมต่อระบบนิเวศ จนยากต่อการแก้ไข เพราะฉะนั้นแนวทางที่ต้องพัฒนาจึงอยู่ที่การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนทุกระดับ ในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจเป็นแนวทางที่ยาก ไม่คุ้นเคย ต่อหน่วยงานภาครัฐที่จะต้องลงมาส่งเสริมชุมชนให้สามารถบริหารจัดการด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นแบบสอดคล้องกับทรัพยากรในทองถิ่นอย่างแท้จริงได้ แต่หากหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลจัดการสิ่งแวดล้อมยังไม่เปลี่ยนกระบวนทัศน์จากการดูแลสิ่งแวดล้อมเช่นที่ผ่านมา ทรัพยากรธรรมชาติในแหล่งต่างๆ ต้องเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็วอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ปัญหาที่ตามมาคือความเสื่อมโทรมจากปัญหาภัยพิบัติ เช่น ภัยแล้ง การขาดแคลนน้ำ น้ำท่วม โคลนถล่ม การแพร่ระบาดของศัตรูพืชหลากหลายทั้งปี ซึ่งในหลายทศวรรษ ทราบดีว่าปัญหาดังกล่าวไม่สามรถแก้ไขได้ทันท่วงที ที่ผ่านมาเราเปลี่ยนเกษตรกร จากผู้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา จัดการปัญหา ไปเป็นผู้ดู ผู้เฝ้าสังเกต การทำงานของภาครัฐเท่านั้น ส่วนการนำเทคโนโลยีตะวันตกมาใช้  โดยเชื่อว่าเทคโนโลยีจะสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้ ทำให้ประเทศไทยอยู่ในฐานะที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีการจัดการสิ่งแวดล้อมจากประเทศตะวันตก  ทั้งที่ฐานะการส่งออกที่เป็นอยู่ไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีจากต่างประเทศ  ในภาวะดังกล่าวทำให้ขาดการพัฒนาภูมิปัญญาในท้องถิ่น

หลายทศวรรษที่ผ่านมาเป็นบทเรียนให้เห็นได้ว่า ต้องมีการปรับกระบวนทัศน์ใหม่ ด้วยการให้ความสำคัญที่วิถีไทยและการส่งเสริมบทบาทการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ในการพิจารณาวินิจฉัยแก้ปัญหา การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ดังนั้นจึงต้องแก้ปัญหาแบบการกระจายศูนย์ ลดบทบาทหน้าที่ของภาครัฐส่วนกลาง จากเป็นผู้ตัดสินใจสั่งการด้วยตัวเอง ให้รองรับการจัดการแบบกระจายศูนย์สู่ท้องถิ่น ให้คุณค่าต่อวิถีชีวิตวัฒนธรรมท้องถิ่นมากขึ้น

เช่น สังคมในส่วนกลางนิยมบริโภคผลไม้ต่างประเทศเพราะเชื่อว่าเป็นการแสดงฐานะ  ก็ต้องเปลี่ยนพฤติกรรม เพราะการบริโภคผลไม้ดังกล่าวจะไม่ได้คุณค่าโภชนาการที่ดีพอ เนื่องจากต้องเก็บล่วงหน้า 2 สัปดาห์เพื่อจัดเก็บ ลำเลียง และจัดส่งในเส้นทางการค้าระหว่างประเทศ จนกระทั่งถึงขายปลีกในประเทศ ผลไม้จึงต้องดูน่ารับประทาน ดึงดูดใจผู้บริโภค ดังนั้นผู้บริโภคปลายทางเช่นประเทศไทย จะได้ผลไม้ที่เปรี้ยว จืด ไม่สด และมีราคาแพง ซึ่งการส่งเสริมการบริโภคจากต่างประเทศดังกล่าว ทำให้ความเข้มแข็งของท้องถิ่นลดน้อยลง ผลไม้บางชนิดอาจไม่เป็นที่รู้จักอีกต่อไป ด้วยคุณค่าการบริโภคแบบตะวันตกเป็นตัวอย่างที่ต้องเสริมสร้างคุณค่าเสียใหม่ หันมาให้ความสำคัญต่อการผลิตที่เอื้อต่อความหลากหลายและการดำรงอยู่ของชีวภาพ นั่นก็คือ การผลิตด้วยพืชสายพันธุ์ท้องถิ่น ที่ทนโรค ทนแมลง ทนภัยแล้งได้ดีกว่าสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง ซึ่งจำเป็นต้องใช้ปัจจัยการผลิตราคาแพงจากต่างประเทศ  ทำให้เกิดการบริโภคที่มีคุณค่า เช่น แทนที่จะเป็นข้าวสารที่ขายเป็นตัน ควรเป็นข้าวสารหลากหลายชนิดที่บอกคุณลักษณะหลังหุงเสร็จ เช่น หุงแล้วมีความนุ่ม พอดีตัว ไม่แฉะ ไม่แข็งกระด้าง หรือหุงแล้วเมล็ดไม่บาน อร่อย เป็นพันธุ์ปลอดสารพิษ แทนที่จะเป็นการรวมข้าวหลายๆ พันธุ์เข้าด้วยกันแล้วขายเป็นเกวียน เพราะฉะนั้นการเห็นคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพนั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็น หรือส่งเสริมการบริโภคผลไม้ไทย เพื่อให้ผู้ผลิตผลิตสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง เช่น ชำมะเลียงที่มีคุณค่าทางอาหารสูงก็หายไป มะเฟืองที่มีการบริโภคสมัยใหม่ ทำให้ผลไม้เหล่านี้ออกจากวิถีการจำหน่าย เพราะฉะนั้นการปรับกระบวนทัศน์ในการผลิตจึงจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้เกิดการสร้างเงื่อนไขในการจัดการที่สอดคล้อกับศักยภาพท้องถิ่นมากขึ้น

ส่วนปัญหาที่จัดการแบบรวมศูนย์ไม่ได้ ได้แก่ มลพิษ ความเสื่อมโทรม การรอจากส่วนกลางก็ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง เพราะส่วนกลางมีความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรในท้องถิ่นค่อนข้างจำกัด มีโอกาสผิดพลาดสูง การบริหารจึงต้องกระจายศูนย์ เปลี่ยนคนสร้างปัญหาเป็นผู้ร่วมแก้และวางแผนนโยบาย เนื่องจากแต่ละคนมีศักยภาพและโอกาสที่จะปล่อย ทิ้ง ผลิตมลพิษได้ทุกวัน ต้องแก้ด้วยการสร้างจิตสำนึกอย่างเข้าใจ  และสอดคล้องกับระบบนิเวศในท้องถิ่น

การปนเปื้อนแหล่งน้ำและดิน ต้องแก้ไขทันที ณ จุดที่เกิดปัญหา เช่น การเอาสารพิษไปใช้ภาคการผลิต ต้องมีความเข้าใจและไม่สร้างภาระให้เกิดขึ้นอีก การสร้างเขื่อนต้องบริหารจัดการเป็นขนาดเล็กแทนการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ที่ไม่ได้ใช้ภูมิปัญญาในท้องถิ่น ไม่ได้ส่งเสริมการมีส่วนร่วม การจัดการน้ำในท้องถิ่น ดังนั้นต้องกระจายศูนย์แบบสืบเนื่องจากภูมิปัญญา เป็นการสร้างเหมือง ฝายขนาดเล็ก กระจายสิทธิ์ใช้น้ำอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่สิทธิ์อยู่ภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว การสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่หรือเขื่อนขนาดใหญ่โดยขาดการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นทำให้เหมือง ฝาย กลายเป็นแหล่งกักเก็บตะกอนแทนที่จะกักเก็บน้ำ เพราะต้นน้ำถูกทำลายและใช้อย่างขาดจิตสำนึก จากบทเรียนในอดีตสอนให้รู้ว่าการจัดการทรัพยากรแบบแยกส่วนนั้น ทั้งการจัดการทรัพยากรน้ำ ดิน ป่าไม้ สัตว์ป่า นั้น เป็นการดำเนินงานที่ไม่ถูกต้อง เราต้องบูรนาการความเข้าใจทั้งหมดเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม และครอบคลุมปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ต้องส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนเพื่อเพิ่มศักยภาพในการวินิจฉัยและเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรในท้องถิ่น

การให้ความสำคัญที่ต้นเหตุของปัญหาและการแก้ปัญหาขั้นพื้นฐาน (Fundamental Solution) ความพยายามแก้ปัญหาในอดีต ไม่ต่างอะไรกับความพยายามลดอาการของปัญหาและเข้าถึงแนวทางจัดการปัญหาอย่างแท้จริง ซึ่งการมีบทบาทของชุมชนเป็นการดำรงแบบวิถีไทยที่มุ่งแน่นการพึ่งพาของตัวเอง การตอบสนองความต้องการของตัวเองให้สอดคล้องกับศักยภาพการผลิตในท้องถิ่น และการมีส่วนร่วมของชุมชนที่พึ่งพาอาศัยกัน ประชุมตกลงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ บริหาร ส่งเสริมคุณค่าภูมิปัญญาไทย ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนเพื่อเพิ่มศักยภาพการวินิจฉัยเพื่อเพิ่มความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงศักยภาพในท้องถิ่น

การให้ความสำคัญที่ต้นเหตุของปัญหาและการแก้ปัญหาที่พื้นฐาน (Fundamental Solution) ความพยายามในการแก้ปัญหาในอดีตไม่ต่างกับการใช้ความพยายามลด ซึ่งการมีบทบาทของชุมชนเป็นการดำเนินชีวิตตามวิถีไทย เป็นการจัดการสิ่งแวดล้อมที่พึ่งพาตนเองและสามารถตอบสนองความต้องการของตนเองให้สอดคล้องกับศักยภาพการผลิตในท้องถิ่นและมีส่วนร่วมในชุมชน มีการประชุมตกลง แลกเปลี่ยนความรู้ ถ่ายทอดให้คนรุ่นใหม่เข้าใจ ส่งเสริมการเรียนรู้บูรณาการปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทันท่วงทีและเหมาะสม เพราะฉะนั้นการเรียนรู้วิถีไทยจึงจำเป็น สมควรได้รับความส่งเสริมกว้างขวาง เพื่อคนไทยสารถนำมาใช้ได้ ในขณะเดียวกันต้องมีกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ กิจกรรมสาธารณะให้เกิดความเข้าใจอย่างแท้จริง นอกจากนั้นผู้เกี่ยวข้องในส่วนกลางต้องปรับกระบวนทัศน์เป็นสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนแทน

การปรับวิถีชีวิตสู่แนวทางมลพิษที่เป็นศูนย์ (Zero Emission) การผลิตให้มีผลกระทบน้อยที่สุด ต้องเป็นกิจกรรมที่ไม่เพิ่มภาระใหม่เป็นกิจกรรมบริโภคที่ไม่เพิ่มมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ระมัดระวังผลกระทบมากที่สุดและต้องพยายามลดผลกระทบให้ได้มากที่สุด ต้องเรียนรู้การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ปลูกต้นไม้ ให้ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปใหม่ นอกจากนี้ควรส่งเสริมวิถีชีวิตการเรียนรู้ร่วมกัน ดังนั้นการดำรงชีวิตด้วยวิถีไทย จึงเป็นการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข พึ่งพาอาศัยและอยู่อย่างพอเพียง  เป็นชุมชนพึ่งพาระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ขณะเดียวกันระบบนิเวศก็อาศัยการบริหารจัดการที่ดีของคน และไม่สร้างระบบความกดดันให้ธรรมชาติ ดังนั้นวิถีไทยจึงเป็นวิถีการเรียนรู้เพื่อไม่ปล่อยให้กิจกรรมการผลิตและบริโภคเป็นภาระต่อสิ่งแวดล้อม การดำเนินชีวิตให้มีมลพิษที่เป็นศูนย์ ต้องทำให้ผู้บริโภคทุกคนเข้าใจและช่วยกันลดมลพิษจากกิจกรรมที่หลากหลาย และนำไปสู่การจัดการบริหารสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนต่อไป


บทความโดย อ.ธนวันต์  สินธุนาวา
นายกสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม