โลกร้อนรุมเร้า โรคร้ายรุมล้อม

ผลกระทบที่สืบเนื่องมาจากภาวะโลกร้อนได้ส่งผลในวงกว้างมากขึ้น ทั้งในมิติของระบบนิเวศ , สังคมและเศรษฐกิจ มนุษย์โลกต่างได้รับความเดือดร้อนกันอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในผลกระทบที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด คือ โลกร้อนนำพาโรคร้ายมาทำร้ายมนุษย์

โรคภัยที่ไม่เคยหายไปแต่กลับมาแรงกว่าเดิม

เราอาจตั้งคำถามว่าโรคภัยไข้เจ็บสมัยนี้มีทั้งโรคใหม่ๆที่ไม่เคยเจอหรือบางโรคหายไปนานแล้วทำไมกลับมาแพร่ระบาดซ้ำอีก ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้นิยามเกี่ยวกับโรคดังกล่าวไว้ดังนี้

  • โรคอุบัติใหม่ คือ โรคติดเชื้อชนิดใหม่ที่มีรายงานผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในรอบ 20 ปี หรือโรคติดเชื้อที่มีแนวโน้มที่จะพบมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ รวมถึงโรคติดเชื้อที่เกิดจากการดื้อยา  เช่น โรคเอดส์ ไข้หวัดนก วัณโรคดื้อยา
  • โรคอุบัติซ้ำ คือ โรคติดเชื้อที่เคยระบาดในอดีตและเคยสงบมานานหลายปี แต่กลับมาระบาดซ้ำอีก ยกตัวอย่าง เช่น ไข้เลือดออก วัณโรค มาลาเรีย

สังเกตได้ว่าเชื้อโรคมีวิวัฒนาการทำให้ตัวเองอยู่รอดและแข็งแกร่งมากขึ้น และเมื่อมีการติดเชื้อแบบคนสู่คนแล้วไม่สามารถจะใช้ยารักษาแบบเดิมหรือปริมาณเท่าเดิมได้ จึงต้องมีการศึกษาวิจัยและปรับการรักษาให้ทันต่อการวิวัฒนาการของโรคภัยต่างๆ

โลกร้อนเกี่ยวข้องกับโรคร้ายอย่างไร ?

ถึงแม้ว่างานวิจัยบางงานจะยังยืนยันไม่ได้ว่ารูปแบบการแพร่ระบาดของโรคมีความเกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อน แต่บางงานวิจัยแสดงให้เห็นความเชื่อมโยงที่อาจเป็นไปได้ของภาวะโลกร้อนกับการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศและสภาพอากาศ เช่น  โรค Argantine HF (ไข้เลือดออกในอาจ์เจนตินา) ซึ่งเกิดจากการขุดดิน เอาเชื้อจากใต้ดิน (รูหนู) ขึ้นมาด้านบน การทำชลประทาน เช่น ไวรัส Rifft Vally fever virus การตัดไม้ทำลายป่า ทำให้โรคออกจากป่า (สัตว์พาหะ) หรือการที่นักท่องเที่ยวเข้าไปพักแรมในป่า หรือ โรคไข้เลือดออก (Dengue HF) ซึ่งปรากฏการณ์ที่โลกร้อนขึ้น ทำให้เขตป่าอบอุ่นอากาศร้อนขึ้น พาหะของโรค คือ ยุง จะสามารถอาศัยได้นานขึ้น แพร่เชื้อโรคได้ง่ายขึ้น ทำให้ปัญหาเพิ่มมากขึ้น

ความเป็นไปได้ที่จะทำให้โรคร้ายแพร่ระบาดและรุนแรงขึ้น คือ เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น ปริมาณอาหารแมลงหรือสัตว์ที่เป็นพาหะมีมากขึ้น ทำให้เชื้อโรคเพิ่มจำนวนและดำรงชีพได้นานขึ้น เมื่อเกิดความแปรปรวนของอากาศบางพื้นที่ที่มีฝนตกมากขึ้นจะเกิดน้ำท่วมขังหรือบางพื้นที่ที่แห้งแล้งและมีการชุดบ่อเพื่อเก็บกักน้ำซึ่งอาจจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์ที่เป็นพาหะนำโรคได้ และหากเกิดกรณีมีการแปรปรวนของลมในพื้นที่ต่างๆจะส่งผลต่อการพัดพาแมลงที่เป็นพาหะนำโรคและเชื้อโรคต่างๆให้ปลิวออกไปในพื้นที่ที่ไกลและเร็วมากขึ้น  นอกจากนี้เมื่อุณห๓มิสูงขึ้นอาจทำให้วิวัฒนาการของแมลงเปลี่ยนแปลงข้ามสายพันธุ์หรือกลายพันธุ์ทำให้การแพร่ระบาดจากสัตว์สู่คนได้ง่ายขึ้น

จะอยู่รอดได้อย่างไรท่ามกลางโรคร้ายรุมล้อม

ในเมื่อภาวะโลกร้อนและโรคร้ายที่รุมเร้ายากเกินที่จะควบคุม คำกล่าวที่ว่าจัดการแวดล้อมไม่ได้ต้องหันกลับมาจัดการตัวเอง คือ ทางรอดที่ดีที่สุดในตอนนี้ เราอาจต้องหันกลับมาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเราเองทั้งในแง่ของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อลดภาวะโลกร้อนให้ส่งผลกระทบน้อยลงและดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ทานอาหารที่เป็นประโยชน์ ออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงพอ ตลอดจนลดปัจจุยเสี่ยงที่ตนเองจะติดเชื้อโรคอันก่อให้เกิดโรคร้าย เช่น การสวมใส่หน้ากากอนามัย,รับประทานอาหารปรุงสุก,ล้างมือบ่อยๆ อย่างไรก็ดีทางศูนย์รวมตะวันขอส่งความปรารถนาดีให้ทุกคนมุ่งสร้างสรรค์สิ่งดีๆให้กับสิ่งแวดล้อม เพราะหากสิ่งแวดล้อมรอด เราย่อมจะรอดไปด้วยนั้นเอง


ขอบคุณแหล่งข้อมูล