คู่มือประหยัดน้ำ  พลังงาน  และค่าใช้จ่าย

คู่มือประหยัดน้ำ พลังงาน  และค่าใช้จ่าย

ในยุคเศรษฐกิจถดถอยที่ส่งผลให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่เพิ่มความระมัดระวังในการบริโภค  ใช้ทรัพยากร  และใช้จ่ายเงินที่มีอยู่อย่างจำกัด  และหามาด้วยความยากลำบาก  คนส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับสิ่งที่เห็นง่าย  ใกล้ตัวและเฉพาะหน้าก่อน  โดยจะหาหนทาง “ลดค่าใช้จ่าย”  ด้วยวิธีการต่างๆ บางคนขับรถไปไกลอีกหลายกิโลเมตรเพื่อกลับรถไปเติมน้ำมันที่สถานีบริการน้ำมันฝั่งตรงข้ามที่ขายน้ำมันในราคาถูกกว่าสถานีบริการที่อยู่ใกล้เพียงลิตรละ 25 สตางค์  เป็นตัวอย่างของการดิ้นรนขวนขวาย

“ลดค่าใช้จ่าย” แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญมากนักต่อการ “ลดการสูญเสีย” ซึ่งในหลายกรณีอาจจะพบว่า  ในความพยายามลดค่าใช้จ่ายบางกรณีมีการสูญเสียมากกว่าค่าใช้จ่ายที่จะสามารถลดได้ด้วย

กรณีของการสูญเสียที่เกิดจากการใช้ไม่ถูกต้อง  พฤติกรรมการใช้ที่ไม่เหมาะสม  การรั่วไหลจากอุปกรณ์เสื่อมคุณภาพ  การรั่วไหลจากการติดตั้งที่ไม่ถูกต้อง  การรั่วไหลจากการใช้อุปกรณ์ด้อยคุณภาพ  และการรั่วไหลจากการเปลี่ยนแปลง  หรือดัดแปลงโครงสร้าง เช่น การก่อสร้าง ขยาย ต่อเติม และการรื้อถอนอาคาร  การสูญเสียเหล่านี้เกิดขึ้นตลอดเวลา  แต่ไม่ได้รับความสนใจเนื่องจากเป็นการสูญเสียที่ไม่เห็นเป็นตัวเลขโดยง่าย  เป็นการสูญเสียที่ไม่สามารถสัมผัสได้โดยง่าย  เป็นการสูญเสียที่ไม่มีผลกระทบต่อผู้จ่ายทันที  เป็นการสูญเสียที่ผู้พบเห็นไม่ได้เป็นผู้จ่าย  เป็นต้น

การใช้น้ำภายในอาคาร  ก็มีลักษณะเดียวกันกับการใช้ทรัพยากรอื่นๆ เจ้าของบ้าน  หรือผู้จ่ายค่าน้ำจะให้ความสนใจภาวะการใช้น้ำเมื่อเห็นนเอกสารเรียกเก็บค่าน้ำ  หรือเมื่อต้องจ่ายค่าน้ำเท่านั้น  แต่เมื่อได้จ่ายค่าน้ำไปแล้ว  ก็ลืมที่จะสนใจหาทางปรับปรุงใดๆ ให้มีค่าใช้จ่ายที่ลดน้อยลง ขณะที่สมาชิกคนอื่นๆ ที่ร่วมใช้น้ำไม่ได้รับรู้  และมีส่วนรับผิดชอบต่อการจ่ายค่าน้ำก็จะไม่มีแรงกระตุ้นใดๆ ที่จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการใช้น้ำให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ  เช่นเดียวกับการเปรียบเทียบราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงของผู้ที่ขับขี่ยานพาหนะทั่วไป  ที่เจ้าของบ้านจะเห็นความแตกต่างของราคาจำหน่ายอุปกรณ์ใช้น้ำ  เมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องซื้อ  และติดตั้งอุปกรณ์เหล่านั้น

โดยจะให้ความสำคัญที่ แนวทางการลดรายจ่ายเฉพาะหน้ามากกว่าการป้องกันการสูญเสียในระยะยาว จึงตัดสินใจเลือกด้วยเงื่อนไขของราคา สี ความทันสมัย รูปทรง ยี่ห้อ และของแถม มากกว่าภาระค่าน้ำจากการใช้จ่ายแต่ละครั้ง

เจ้าของบ้านส่วนใหญ่ยังจบลงด้วยการตัดสินใจเลือกซื้อ  และใช้อุปกรณ์ใช้น้ำที่มีราคาถูก มีการโฆษณามาก เป็นที่นิยม และทันสมัย  โดยปล่อยให้ภาระค่าใช้จ่ายรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือนจากการใช้อุปกรณ์ใช้น้ำเหล่านั้น เป็นปัญหาที่ควรแยกไว้จัดการในโอกาสอื่นๆ  ดังนั้นการตัดสินใจเลือกซื้ออุปกรณ์ใช้น้ำจึงเป็นการผูกมัดผผู้ใช้กับ ภาระค่าน้ำที่จะตามมาอีกนานเท่านาน  จนกว่าอุปกรณ์ใช้น้ำนั้นจะหมดสภาพการใช้งานไป และอุปกรณ์ใช้น้ำเหล่านี้  ได้แก่ สุขภัณฑ์ฝักบัว  หัวก๊อกน้ำ และอุปกรณ์จ่ายน้ำอื่นๆ ที่ใช้ทั้งภายในและภายนอกอาคาร  ซึ่งอุปกรณ์ใช้น้ำที่ใช้น้ำน้อยหรือใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ  โดยมากจะมีราคาสูงกว่าอุปกรณ์ใช้น้ำโดยทั่วไป  เนื่องจากต้นทุนที่สูงกว่าหรือปริมาณการผลิตที่น้อยกว่า  และความแตกต่างของราคานี่เองที่ทำให้อุปกรณ์ใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพไม่ได้รับการพิจารณาจากผู้บริโภคส่วนมากที่ยังขาดทั้งความรู้ ความเข้าใจ  และจิตสำนึกในการมีส่วนร่วมป้องกัน  และลดปัญหาการเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมจากการใช้ทรัพยากรอย่างรวดเร็ว

แนวทางการตัดสินใจดังได้กล่าวข้างต้น  ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะอุปกรณ์การใช้น้ำเท่านั้น  แต่ยังเป็นไปในลักษณะเดียวกันในการเลือกซื้อและใช้อุปกรณ์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ บ้าน และอื่นๆ อีกด้วย  เป็นเหตุให้การใช้ทรัพยากรในกิจกรรมต่างๆ ของการบริโภคและการผลิตมีการสูญเสียอย่างมาก  ส่งผลให้การใช้ทรัพยากรในการดำรงชีวิต  และการผลิตสาขาต่างๆ ขาดประสิทธิภาพ การป้องกันและแก้ไขการสูญเสียดังกล่าวอาจทำได้หลายแนวทางด้วยกันนับแต่ การกำหนดมาตรการ  และกฎหมายต่างๆ เพื่อมิให้การผลิต จำหน่าย และใช้อุปกรณ์ที่ขาดประสิทธิภาพหรือการกำหนดมาตรการส่งเสริมให้ผู้ผลิตหันมาผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์และเทคโนโลยีประสิทธิภาพน้ำ และพลังงานมากขึ้น

ซึ่งมาตรการเหล่านี้ไม่สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาการสูญเสียทรัพยากรที่มีค่าได้อย่างแท้จริง  หากผู้บริโภคยังไม่เพิ่มความระมัดระวังในขั้นตอนการใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีอย่างถูกต้อง

และการกำหนดมาตรการทั้งบังคับ และส่งเสริมข้างต้นก็จะมีช่องโหว่  และหนทางการหลีกเลี่ยงได้ในทุกๆ ด้าน ดังนั้น แนวทางที่เหลืออยู่จึงต้องให้ความสำคัญในกิจกรรมการให้การศึกษา  เพื่อเสริมสร้างความรู้ และความเข้าใจ ในการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม โดยหวังว่าผู้บริโภคที่มีความรู้และเข้าใจจะมีจิตสำนึกในการใช้ทรัพยากรอย่างถูกต้องและเหมาะสม นับแต่การเลือกซื้อ และใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีที่จะช่วยลดการใช้ทรัพยากร ลดการสูญเสียทรัพยากร และลดปริมาณมลพิษที่เกิดจากการผลิต การตลาด และการใช้ของผู้บริโภค

นอกเหนือจากการเลือกซื้อและใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์อย่างเหมาะสมแล้ว ผู้บริโภคยังจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และจิตสำนึกในการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าด้วย สำหรับทรัพยากรน้ำ จำเป็นที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ให้ถูกต้อง  ซึ่งจะส่งผลให้มีการสูญเสียน้อยลง  ช่วยลดการใช้พลังงาน  เนื่องจากการจัดหาและจัดส่งน้ำแต่ละขั้นตอนต้องใช้พลังงานมาก  ถ้าสามารถประหยัดน้ำได้จะช่วยประหยัดพลังงานได้  และจะช่วยลดค่าใช้จ่ายทั้งค่าน้ำและพลังงาน ให้แก่ผู้ใช้ได้อีกด้วย

แนวทาง 5 ประการในการลดการสูญเสีย และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในอาคาร ได้แก่

  1. การตรวจสอบและป้องกัน การรั่วไหลและการสูญเสียของน้ำนับแต่การติดตั้ง จัดส่ง และใช้น้ำ การรั่วไหลจะเกิดได้จากการติดตั้งที่ไม่ถูกต้อง  การเลือกใช้อุปกรณ์ใช้น้ำที่ไม่เหมาะสม  รวมทั้งการใช้อุปกรณ์ที่มีขนาดเล็กหรือใหญ่เกินความจำเป็น  และการใช้อุปกรณ์คุณภาพต่ำ  การติดตั้งให้น้ำไหลจากที่สูงไปสู่ที่ต่ำตามแรงโน้มถ่วง จะช่วยลดการใช้พลังงานในการจัดส่งได้มาก  การเลือกใช้ท่อส่งน้ำ กาว อุปกรณ์เชื่อมต่อ ติดตั้ง และช่างที่มีประสบการณ์ และมีคุณภาพจะช่วยทำให้ระบบส่งน้ำมีอายุการใช้งานทนทาน  การเลือกใช้อุปกรณ์จ่ายน้ำ  และสุขภัณฑ์ที่มีคุณภาพจะลดปัญหาการรั่วไหลและการสูญเสียน้ำจากการเสื่อมตามสภาพการใช้งานได้มาก  การตรวจสอบสม่ำเสมอเริ่มจากการติดตามปริมาณ และมูลค่าการใช้น้ำแต่ละเดือน  เพื่อทราบปริมาณการใช้และการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลและกิจกรรมในรอบปี  เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติจะตรวจสอบได้โดยง่าย
  2. สำรวจพฤติกรรมการใช้น้ำของผู้ใช้น้ำแต่ละรายในอาคาร ถ้าพบพฤติกรรมการใช้น้ำที่เป็นต้นเหตุให้มีการสูญเสียมาก  หรือมีการใช้ที่สิ้นเปลืองเกินความจำเป็นก็ตักเตือนให้มีการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมเพื่อให้ทุกขั้นตอนของการใช้น้ำมีประสิทธิภาพและช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ เช่น ผู้ใช้น้ำบางคนคุ้นชินกับการกดชักโครกก่อนการใช้ทุกครั้ง ถ้าเลิกพฤติกรรมดังกล่าวได้จะช่วยลดการใช้น้ำลงได้ครึ่งหนึ่ง  การปล่อยน้ำไหลล้น  หรือไหลตลอดเวลาที่มีการซักผ้า ล้างจาน ล้างรถ  แปรงฟัน  ล้างหน้า ถูสบู่ สระผม และโกนหนวด เป็นพฤติกรรมสิ้นเปลือง  และเป็นต้นเหตุของการสูญเสียน้ำเป็นอย่างมาก  รวมทั้งการใช้น้ำฉีดชำระล้างพื้นผิว และผนังอาคาร  แทนการปัดกวาด  จะทำให้เกิดการสูญเสียน้ำมาก
  3. การเลือกซื้อและใช้เทคโนโลยีประหยัดน้ำ เพื่อลดการใช้น้ำจะช่วยลดการใช้พลังงานและค่าใช้จ่ายในการใช้น้ำได้อย่างมาก เช่น สุขภัณฑ์ประหยัดน้ำ อุปกรณ์เติมอากาศที่หัวก๊อกน้ำ  อุปกรณ์ตั้งเวลาการเปิดปิดน้ำ  อุปกรณ์การให้น้ำแก่พืชแบบหยด
  4. ควบคุมและป้องกันมิให้มีการปนเปื้อนของน้ำในทุกขั้นตอนของการใช้ประโยชน์และการบำบัดน้ำเสียอย่างเหมาะสม  จะช่วยป้องกันการเสื่อมโทรมของแหล่งน้ำได้อย่างมาก  หากมีการป้องกันการปนเปื้อนด้วยการใช้น้ำในการชำระล้างอย่างถูกต้องและเหมาะสม  และลดการปนเปื้อนด้วยการตักตะกอน การกรอง และการแยกไขมัน  จะทำให้น้ำมีคุณภาพดีขึ้น และใช้พลังงานและค่าใช้จ่ายในการบำบัดน้ำเสียน้อยลง
  5. การใช้น้ำให้เกิดประโยชน์อย่างรู้คุณค่าด้วยการใช้ซ้ำ และนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วกลับมาใช้ประโยชน์อีก เช่น ใช้ในการรดต้นไม้ รดน้ำสนามหญ้า ชำระล้างพื้นผิว แนวทางการใช้น้ำในลักษณะนี้จะช่วยลดภาระการจัดหาน้ำ การใช้พลังงานในการผลิต จัดส่ง และระบบการใช้น้ำในอาคารอีกด้วย ในอนาคตที่ความต้องการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้น ขณะที่น้ำในแหล่งน้ำมีปริมาณเท่าเดิมหรือลดลง การใช้ซ้ำและการหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่จะเป็นแนวทางที่มีความจำเป็นและไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ต่อไป

การใช้น้ำโดยทั่วไป พบว่าใช้ในการทำความสะอาดอาคารเพียงร้อยละ 2 มีการใช้ในครัวประมาณร้อยละ 5 ขณะที่ครัวเรือนมีการใช้น้ำในการซักล้างเสื้อผ้าร้อยละ 9 การชำระล้างร่างกาย และที่อ่างล้างหน้า รวมคิดเป็นร้อยละ 23 ของปริมาณใช้น้ำในครัวเรือน เฉพาะการใช้น้ำจากการใช้สุขภัณฑ์มีปริมาณมากถึงร้อยละ 26 ของปริมาณการใช้น้ำทั้งหมด และที่มีการใช้น้ำเป็นสัดส่วนมากที่สุดคือการใช้น้ำนอกอาคาร ในสวนหย่อมและการล้างรถรวมมากถึงร้อยละ 35 ของปริมาณน้ำใช้รวม


โดย ดร.ธนวันต์  สินธุนาวา
นายกสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม


หลักสูตรที่ศูนย์รวมตะวัน