เปิดโลกรู้รอบเรื่องพลาสติก : จากต้นกำเนิดสู่การจัดการ

ตอนที่ 1 : ประวัติความเป็นมาของพลาสติก

ตอนที่ 2 : กว่าจะมาเป็นพลาสติก

ตอนที่ 3 : ประเภทของพลาสติก

ตอนที่ 4 : การใช้พลาสติกในประเทศ

ตอนที่ 5 : ขยะพลาสติกล้นโลก

ตอนที่ 6 : ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์จากการจัดการขยะพลาสติกด้วยวิธีต่างๆ

ตอนที่ 7 : ใช้พลาสติกอย่างไรไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม


 

3 ประเภทของพลาสติก

การจำแนกประเภทพลาสติก สามารถจำแนกได้หลากหลายวิธี แต่วิธีที่นิยมนำมาใช้ในการแบ่งประเภทพลาสติกทั่วไปก็คือ การแบ่งตามลักษณะเมื่อได้รับความร้อน ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทดังนี้

3.1 เทอร์โมพลาสติก (Thermoplastics) พลาสติกชนิดนี้ เมื่อได้รับความร้อนจะอ่อนตัว และเมื่ออุณหภูมิลดลงจะแข็งตัว ถ้าให้ความร้อนอีกก็จะอ่อนตัวอีก สามารถทำให้กลับเป็นรูปเดิมหรือเปลี่ยนเป็นรูปอื่นได้ โดยสมบัติของพลาสติกยังคงเหมือนเดิม พลาสติกประเภทนี้ มีโครงสร้างโมเลกุลเป็นโซ่ตรงยาว มีการเชื่อมต่อระหว่างโซ่พอลิเมอร์น้อยมาก จึงสามารถหลอมเหลวในอุณหภูมิสูงหรือเมื่อผ่านการอัดแรงมากๆ โดยไม่ทำลายโครงสร้างเดิม

จากรูป พลาสติกส่วนใหญ่จัดเป็น“เทอร์โมพลาสติก” ซึ่งเมื่อได้รับความร้อนประมาณ 200 องศาเซลเซียส สายโมเลกุลของพลาสติก จะคงสภาพอยู่ได้ แต่จะแยกตัวห่างพอที่จะเลื่อนซ้อนกันได้อีก ดังนั้น เราจึงนำพลาสติกชนิดนี้ มาหลอมและหล่อใหม่ได้ ซ้ำแล้วซ้ำอีก

 

ตัวอย่างพลาสติกประเภทเทอร์โมพลาสติก

พอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต (Polyethylene terephthalate หรือ PET) เป็นพลาสติกที่มีลักษณะแข็ง ไม่มีสี มีความเป็นผลึกสูง นำไปใช้ในชิ้นส่วนเครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า ขวดบรรจุน้ำอัดลม ขวดบรรจุน้ำมันพืช เส้นใยสังเคราะห์ ผลิตภัณฑ์จากรีไซเคิล PET ได้แก่ ขวดน้ำ ภาชนะบรรจุ โต๊ะปิกนิก รองเท้าบูต รั้วบ้าน และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

พอลิเอทิลีน (Polyethylene PE) เป็นพลาสติกที่มีคุณสมบัติ มีจุดหลอมเหลวต่ำ ไม่สามารถทนอุณหภูมิสูงได้ มีความใส เหนียว และยืดหยุ่นได้ดี โดยทั่วไปแล้วพลาสติกประเภท PE จะแบ่งได้เป็น 2 ชนิดคือ

  • พอลิเอทิลีนชนิดความหนาแน่นต่ำ (Low density polyethylene, LDPE) นิยมใช้กันมากในรูปของฟิล์มพลาสติก ฟิล์มด้านในของภาชนะบรรจุที่ต้องมีการผนึกด้วยความร้อน ถุงบรรจุขนมปัง อาหารแช่แข็ง ถุงพลาสติกชนิดถุงเย็น หลอดกาแฟ ของเล่นชนิดต่างๆเป็นต้น
  • พอลิเอทิลีนชนิดความหนาแน่นสูง (High density polyethylene, HDPE) มีความแข็งแรงมากกว่า LDPE มีลักษณะโปร่งแสงและขุ่น นิยมใช้ทำขวดน้ำ ท่อพลาสติก ถังน้ำมันเครื่อง ตะกร้า ถุงขยะสีดำ และถุงพลาสติกร้อน เป็นต้น

พอลิไวนิลคลอไรด์ (Polyvinyl chloride, PVC) เป็นพลาสติกแข็ง เปราะ ไม่มีสี ทนต่อสารเคมี สามารถสลายตัวง่ายเมื่อถูกความร้อนหรือแสงแดดดังนั้นจึงต้องใส่สารเติมแต่ง เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้ทนต่อแสงแดดไดดี นิยมนำไปผลิตเป็นท่อน้ำ ข้อต่อท่อ กรอบประตูหน้าต่าง หนังเทียม สายยาง เบาะรถยนต์ เสื้อกันฝน ฉนวนหุ้มสายไฟ เป็นต้น

พอลิพรอพิลีน (Polypropylene, PP) เป็นพลาสติกที่มีลักษณะแข็ง เหนียว ทนต่อสารเคมีและความร้อนแต่น้อยกว่า PE นิยม           นำไปผลิตเป็นชิ้นส่วนรถยนต์ ตู้วิทยุ โทรทัศน์ อุปกรณ์   เครื่องใช้ภายในบ้าน

พอลิสไตรีน (Polystyrene, PS) มีลักษณะแข็ง ใส เปราะและแตกหักง่าย ทนต่อแรงกระแทกต่ำ นิยมนำไปผลิตเป็นชิ้นส่วนตู้เย็น ชิ้นส่วนในรถยนต์ ไม้บรรทัดพลาสติก ด้ามปากกา ถังและขวดพลาสติก เป็น

 

 

พอลิเมทิลเมทาคริเลต (Polymethyl methacrylate, PMMA) เป็นพลาสติกที่มีความเหนียว โปร่งใสเหมือนแก้วและแข็งแรงทนทานมาก นิยมนำไปผลิตเป็น พลาสติกหุ้มไฟท้าย ไฟหน้า หน้าปัดเข็มต่างๆในรถยนต์ ใช้ทำเลนส์ โคมไฟ ป้ายร้าน ป้ายโฆษณา เป็นต้น

 

พอลิคาร์บอเนต (Polycarbonate, PC) มีลักษณะแข้งมาก เป็นพลาสติกที่มีราคาค่อนข้างแพง จึงมีการใช้งานจำกัด ได้แก่ใช้ในเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็คทรอนิก ชิ้นส่วนแบตเตอรี่ ฝาครอบฟิวส์ไฟฟ้า ทำกระจกหน้าหมวกนักบินอวกาศ และขวดนมเด็กเล็ก เป็นต้น

 

 

 

โคพอลิเมอร์อะคริโลไนไตรล์-บิวตะไดอีน-สไตรีน (Acry-lonitrile-butadiene-styrene copolymer, ABS) เป็นพอลิเมอร์ที่มีความสามรถในการทนแรงกระแทกได้ดี มีความทึบแสง มีความเหนียวและแข็ง นิยมใช้ทำตัวถังรถ พวงมาลัย โครงพัดลม หมวกกันน๊อค และสวิตช์ไฟฟ้า เป็นต้น

 

3.2 เทอร์มอเซตพลาสติก (Thermosetting plastics) พลาสติกชนิดนี้ จะคงรูปภายหลังจากการผ่านความร้อนหรือแรงดันเพียงครั้งเดียว เมื่อเย็นลงจะแข็งตัว มีความแข็งแรงมาก ทนความร้อนและความดัน ไม่อ่อนตัวและเปลี่ยนรูปร่างไม่ได้ แต่ถ้าอุณหภูมิสูงพอ ก็จะแตกและไหม้เป็นขี้เถ้าสีดำ พลาสติกประเภทนี้ โมเลกุลจะเชื่อมโยงกันเป็นร่างแหจับกันแน่น แรงยึดเหนี่ยวระหว่างโมเลกุลแข็งแรงมาก จึงไม่สามารถนำมาหลอมเหลวได้ ตัวอย่างของเทอร์มอเซตพลาสติก เช่น เมลามีน พอลิยูรีเทนอิพอกซี ฟีนอลฟอร์มาลดีไฮด์

 

“เทอร์มอเซต” เมื่อถูกความร้อนครั้งหนึ่งแล้ว ก็หมดคุณสมบัติ ในการเปลี่ยนแปลงรูปร่างนั้น ไม่สามารถนำมาหล่อใหม่ได้อีก

 

 

ตัวอย่างพลาสติกประเภทเทอร์มอเซตพลาสติก

ฟีนอลฟอร์มาลดีไฮด์ (Phenol formaldehyde, PF) หรือเรียกสั้นๆว่า ฟีนอลิก (Phenolic) มีลักษณะแข็งมาก ไม่ยืดหยุ่น ไม่หลอมหรือละลายในตัวทำละลายใดๆทั้งสิ้น มีสีเข้มจนถึงดำ ทนความร้อนได้สูงถึง 200 องศาเซลเซียส นิยมนำมาผลิตเป็นด้ามจับมือ หูหม้อ กระทะ ฝาครอบจานจ่ายรถยนต์ และถาดบรรจุสารเคมี เป็นต้น

เมลามีน-ฟอร์มาลดีไฮด์ (Melamine-formaldehyde, MF) เป็นพลาสติกที่ทนความร้อนได้สูงถึง 110 องศาเซลเซียส มีความแข็งแกร่งมาก ต้านทานการขีดข่วนได้ดี นิยมนำมาผลิตเป็นชามพลาสติก เฟอร์นิเจอร์ และวัสดุผิวโต๊ะ เป็นต้น

ยูเรีย-ฟอร์มาลดีไฮด์ (Urea-formaldehyde, UF) มีความแข็งใกล้เคียงกับชนิดเมลามีน-ฟอร์มาลดีไฮด์ หรือ MF มาก นิยมนำมาผลิตเป็นสวิตช์ ปลั๊กไฟ เป็นต้น

พอลิยูริเทน (Polyurethane, PUR) เป็นพลาสติกแข็ง ที่สามารถนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลายรูปแบบ เช่น โฟม สารยืดหยุ่น กาว พลาสติก เส้นใย ไม้แกะสลักเทียม เป็นต้น