เปิดโลกรู้รอบเรื่องพลาสติก : จากต้นกำเนิดสู่การจัดการ

ตอนที่ 1 : ประวัติความเป็นมาของพลาสติก

ตอนที่ 2 : กว่าจะมาเป็นพลาสติก

ตอนที่ 3 : ประเภทของพลาสติก

ตอนที่ 4 : การใช้พลาสติกในประเทศ

ตอนที่ 5 : ขยะพลาสติกล้นโลก

ตอนที่ 6 : ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์จากการจัดการขยะพลาสติกด้วยวิธีต่างๆ

ตอนที่ 7 : ใช้พลาสติกอย่างไรไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม


 

  1. ขยะพลาสติกล้นโลก

เนื่องจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปทำให้ปัจจุบันคนไทยมีการใช้พลาสติกเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถุงพลาสติกและโฟม ซึ่งผลจากการศึกษาของ กรมควบคุมมลพิษ พบว่า ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คือตั้งแต่ปี 2552-2556 ปริมาณโฟมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากวันละ 34 ล้านใบ เป็นวันละ61 ล้านใบ หรือโดยเฉลี่ยแล้วคนไทยสร้างขยะประเภทโฟมเพิ่มขึ้นวันละ 1 ใบในขณะที่กรุงเทพมหานคร รายงานปริมาณขยะที่เก็บขนได้ในกรุงเทพฯ วันละ  8,500 ตันต่อวัน พบว่า เป็นขยะจากถุงพลาสติก 1,800 ตันต่อวัน หรือคิดเป็นร้อยละ 21 ของน้ำหนักขยะที่เก็บขนได้ทั้งหมด ตัวเลขดังกล่าวสอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้ถุงพลาสติกของคนไทย ที่มีการสำรวจพบว่า คนไทย จะได้รับถุงพลาสติกใส่ของเวลาจับจ่ายใช้สอยโดยเฉลี่ยวันละ 3 ใบต่อคน และในปีหนึ่ง ๆ ประเทศไทยจะมีขยะจากถุงพลาสติกจำนวนกว่า 73,036.5 ล้านใบต่อปี

นอกจากถุงพลาสติกแล้ว ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่คนไทยนิยมใช้ยังมีอีกหลายประเภททั้งที่เป็นภาชนะบรรจุภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานพาหนะ เครื่องมือการเกษตร รวมไปถึงอุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวในชีวิตประจำวัน  ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีการพัฒนาและมีรูปแบบที่แตกต่างมากขึ้นตามความต้องการของมนุษย์แต่ละยุคสมัย และนับวันก็จะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงทำให้เกิดปัญหาด้านการจัดการขยะประเภทพลาสติกซึ่งต้องใช้เวลานานหลายชั่วอายุคนในการย่อยสลาย และรวมเป็นส่วนหนึ่งของขยะที่เกิดขึ้นแต่ละวัน ซึ่งปัจจุบัน ประเทศไทยมีประชากรประมาณ 65 ล้านคน (ปี 2557) และสร้างขยะมากถึง 26-27 ล้านตันต่อปี แต่ความสามารถในการจัดเก็บขยะอย่างเป็นระบบกลับมีไม่ถึง 70% ของขยะที่เกิดขึ้น เนื่องจากขยะที่เกิดขึ้นในชนบท จะถูกกำจัดโดยสมาชิกในชุมชนเอง ซึ่งอาจจะเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล จึงทำให้เกิดปัญหาด้านมลพิษในสิ่งแวดล้อม รวมถึงปัญหาด้านสุขภาพตามมา

ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2546 – 2555) ประเทศไทยพบปัญหาในเรื่องการเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะมูลฝอยอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยมีรายงานว่าในปี พ.ศ. 2546 มีขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นทั่วประเทศในปริมาณ 39,240 ตันในแต่ละวัน และได้เพิ่มเป็น 67,577 ตันต่อวันในปี พ.ศ.2555 จะเห็นได้ว่าภายในระยะเวลา 10 ปี ประเทศไทยมีปริมาณขยะมูลฝอยเพิ่มขึ้นอย่างมาก  ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบปริมาณขยะมูลฝอยในช่วงเวลาดังกล่าวพบว่าปริมาณขยะมูลฝอยทั้งประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครเมืองพัทยาเขตเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล ทั้งนี้อัตราการเพิ่มขึ้นของขยะมูลฝอยในปี พ.ศ. 2554 – 2555 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ.2553 ส่วนหนึ่งมาจากอุทกภัยและเมื่อเปรียบเทียบปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นในเขตเทศบาลกับองค์การบริหารส่วนตำบลจะเห็นว่าเขตเทศบาลจะมีอัตราการเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะมูลฝอยอย่างต่อเนื่องและสูงกว่าองค์การบริหารส่วนตำบล

จากข้อมูลปี พ.ศ.2555 พบว่า ปริมาณขยะประเภทพลาสติกในประเทศไทยมีประมาณ 2,163,000 ตัน ซึ่งคิดเป็น ร้อยละ 19 เมื่อเทียบกับขยะทุกประเภทที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ แต่ในปริมาณขยะประเภทพลาสติกทั้งหมดนี้ สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่เพียง 764,000 ตัน หรือเพียงร้อยละ 35 ของปริมาณขยะมูลฝอยประเภทพลาสติกทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าขยะประเภทพลาสติกปริมาณ ร้อยละ 65 ที่ยังไม่สามารถจัดการโดยการนำเข้าสู่ระบบอย่างเป็นรูปธรรมได้ ซึ่งปัญหาดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบได้ในหลายๆด้านที่จำเป็นต้องมีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

พลาสติกล้นโลก