เปิดโลกรู้รอบเรื่องพลาสติก : จากต้นกำเนิดสู่การจัดการ

ตอนที่ 1 : ประวัติความเป็นมาของพลาสติก

ตอนที่ 2 : กว่าจะมาเป็นพลาสติก

ตอนที่ 3 : ประเภทของพลาสติก

ตอนที่ 4 : การใช้พลาสติกในประเทศ

ตอนที่ 5 : ขยะพลาสติกล้นโลก

ตอนที่ 6 : ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์จากการจัดการขยะพลาสติกด้วยวิธีต่างๆ

ตอนที่ 7 : ใช้พลาสติกอย่างไรไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม


 

  1. ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมนุษย์จากการจัดการขยะพลาสติกด้วยวิธีต่างๆ

6.1 การฝังกลบ (Landfill)

  • มลพิษต่อแหล่งน้ำบนดิน หากนำขยะพลาสติกไปทำการฝังกับขยะประเภทอื่นๆ ใกล้แหล่งน้ำ ในระดับที่ไม่เหมาะสม เมื่อขยะและพลาสติกเกิดการเน่าเสียมีปริมาณสารอินทรีย์เพิ่มขึ้น หรือสารอาหารในแหล่งน้ำในปริมาณสูงก่อให้เกิดมลภาวะทางน้ำเนื่องจากการเพิ่มจำนวนของจุลินทรีย์ นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศทางน้ำ ซึ่งจะมีการส่งกลิ่นเหม็นอับจากการย่อยสลายสารอินทรีย์ จากนั้นจะค่อยๆ ไหลปนกับแหล่งน้ำบริเวณนั้นจนทำให้คุณภาพน้ำไม่เหมาะสมและไม่ปลอดภัยต่อการอุปโภค บริโภค รวมทั้งไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำชนิดต่างๆ ในบริเวณนั้นอีกด้วย
  • มลพิษต่อน้ำใต้ดิน น้ำใต้ดินซึ่งอยู่ลึกจากผิวดินก็อาจได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเกิดการปนเปื้อนของน้ำชะขยะมูลฝอยรวมถึงพลาสติกลงสู่ใต้ดิน ทำให้น้ำใต้ดินมีคุณภาพน้อยลง และเสี่ยงต่อการนำมาใช้เป็นแหล่งน้ำเพื่อการบริโภค นอกจากนี้ ขยะประเภทพลาสติกยังปล่อยสารเคมีอันตรายลงสู่แหล่งน้ำใต้ดินได้เช่นเดียวกัน
  • มลพิษต่อดิน ความเป็นพิษของการหมักขยะพลาสติก จะทำให้พลาสติกเกิดการย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ทำให้ในดินมีสารตกค้าง เนื่องจากเนื้อพลาสติกประกอบด้วยสารเคมีหรือใช้สารเติมแต่งที่มีความเป็นพิษ และส่งผลกระทบต่อพืชและสัตว์ที่อาศัยอยู่ในดิน เช่น ไส้เดือน จิ้งหรีด สัตว์เลื้อยคลาน และหากเป็นพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ ประเภทเทอร์โมเซตติง จะเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นสารประกอบขนาดเล็ก เช่น กรดเทเรฟทาลิค (terephthalic acid (TPA) ซึ่งไม่สามารถย่อยสลายทางชีวภาพได้ นอกจากนี้ยังพบว่ามีการตกค้างของสารเติมแต่งพลาสติก เช่น glycerol, sorbital, propylene glycol, ethylene glycol, polyethylene glycol, triethyl citrate และ triacetine สารเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นสารอนินทรีย์ จึงเกิดการสะสมในดินและสภาพแวดล้อม อย่างไรก็ตามสารตัวเติมมักค่อนข้างเสถียร จึงมักไม่ทำให้เกิดความเป็นพิษ เช่น CaCO3 TiO2  SiO2 และ talc เป็นต้น ซึ่งสารเหล่านี้จะเหลือค้างอยู่ในเนื้อพลาสติกเสมอและมักจะถูกปลดปล่อยออกมาเข้าสู่ดินและสิ่งแวดล้อม

6.2 การเผา

  • พลาสติกที่มีใช้อยู่ในชีวิตประจำวันเป็นจำนวนมากนั้น ไม่ว่าจะเป็นถุงพลาสติก บรรจุภัณฑ์ เครื่องครัว เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ วัสดุตกแต่งอาคารต่าง ๆ ตลอดจนส่วนประกอบในรถยนต์ ล้วนจัดเป็นพลาสติกที่มีองค์ประกอบหลักในโครงสร้างโมเลกุลเป็น คาร์บอน ออกซิเจน และไฮโดรเจน ซึ่งสามารถทำให้เกิดการติดไฟได้ง่าย โดยกระบวนการติดไฟของวัสดุเกิดขึ้นได้จากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงในอากาศที่มีอุณหภูมิสูงพอ
  • สารไดออกซินและฟิวแรน

ไดออกซิน (dioxins) เป็นผลิตผลทางเคมีที่เกิดขึ้นมาโดยมิได้ตั้งใจผลิต (unintentional products) จากกระบวนการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ โดยสามารถเกิดได้ในกระบวนการเผาไหม้พลาสติกด้วยอุณหภูมิในช่วงอุณหภูมิ 250 – 270 องศาเซลเซียส เช่น เตาเผาขยะชุมชน เตาเผาขยะติดเชื้อ เตาเผาขยะสารอันตราย หรือ กากอุตสาหกรรม กระบวนการหลอมโลหะ ซึ่งพบสารไดออกซิน/ ฟิวแรนในกากของเถ้าลอย อากาศที่ปลดปล่อยจากปล่องควัน และน้ำชะเตาเผา รวมถึงเตาเผาขยะประเภทพลาสติก ซึ่งจะปลดปล่อยสารกลุ่มนี้ออกมาด้วยเช่นกัน โดยสารไดออกซินนี้ เป็นสารประกอบในกลุ่มคลอริเนตเตทอะโรเมติก (chlorinated aromatic compounds) ที่มีออกซิเจน (O) และคลอรีน (Cl) เป็นองค์ประกอบ 1 ถึง 8 อะตอม มีชื่อเรียกเต็ม คือ โพลีคลอริเนตเตท ไดเบนโซ่ พารา-ไดอ๊อกซิน (polychlorinated dibenzo-para-dioxins : PCDDs) สารในกลุ่มไดออกซินมีทั้งหมด 75 ชนิด

สารประกอบที่คล้ายคลึงกับกลุ่มไดออกซินอีกกลุ่มหนึ่ง คือ “ฟิวแรน (furans) หรือมีชื่อเรียกเต็มว่า โพลีคลอริเนตเตท ไดเบนโซ่ ฟิวแรน (polychlorinated dibenzo furans : PCDFs) มีอยู่ 135 ชนิด สารฟิวแรน (PCDFs) แตกต่างจากกลุ่ม “ไดออกซิน(PCDDs)” ก็โดยมีออกซิเจนน้อยกว่าอยู่ 1 อะตอม โดยทั่วไปนักวิชาการมักเรียกรวมและรู้จักกันทั่วว่า “ไดออกซิน/ฟิวแรน” หรือ “PCDDs/PCDFs” เนื่องจากมีความคล้ายคลึงกันอย่างมากทั้งด้านคุณสมบัติ ความเป็นพิษ และแหล่งกำเนิด สารไดออกซิน/ฟิวแรน สามารถผลิตขึ้นมาได้จากปฏิกิริยาเคมีระหว่างสาร 4,5-dichlorocatechol และ สาร 2,5-dinitro-1,4-dichlorobenzene ทั้งนี้เพื่อใช้สำหรับการศึกษาและเป็นสารมาตรฐานในการตรวจวิเคราะห์เท่านั้น และยังไม่เคยมีรายงานจากแหล่งใดๆ ว่าผลิตมาเพื่อใช้ประโยชน์อื่นๆ

ที่มา: http://www.foodnetworksolution.com/

โครงสร้างของสารไดออกซิน/ฟิวแรน มีลักษณะที่คล้ายกัน แต่ฟิวแรนจะมีออกซิเจนน้อยกว่า 1 ตัว โครงสร้างสารทั้ง 2 ชนิดนี้จะประกอบด้วยด้วยคลอรีนอะตอมเกาะเกี่ยวด้วยพันธะทางเคมีกับวงแหวนเบนซีน ละลายได้ดีในไขมัน ทําให้สารในกลุ่มนี้มีความคงทนสูงอยู่ในสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิต ละลายน้ำได้น้อย สามารถถ่ายทอดและสะสมได้ในห่วงโซ่อาหาร (food chain) สามารถเคลื่อนย้ายและแพร่กระจายในอากาศและตกลงสู่ดิน รวมทั้งแหล่งน้ำ สามารถเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม และเกิดเป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์ได้ ดังนี้

  • พิษเฉียบพลันไดออกซินไม่ทําให้เกิดอาการพิษหรือตายอย่างเฉียบพลันแต่อาการจะค่อยๆ เกิดขึ้นและทวีความรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตได้ภายในเวลา 14 – 28 ชั่วโมง อาการที่แสดงออกจัดเป็นลักษณะของพิษที่เกิดจากสารไดออกซินคือ อาการที่เรียกว่า “Wasting  Syndrome”  โดยลักษณะอาการแบบนี้จะเกิดการสูญเสียน้ำหนักตัวอย่างรวดเร็วจากการได้รับสารเป็นเวลา 2-3 วัน นอกจากนี้ส่วนมากเกิดอาการฝ่อของต่อมไทมัส มีอาการผิดปกติของตับ เลือดออกในอวัยวะต่างๆ มีอาการอัณฑะฝ่อ น้ำหนักต่อมลูกหมากและมดลูกเล็กลง น้ำหนักของต่อมไทรอยด์เพิ่มขึ้น การสร้างเม็ดเลือดของไขกระดูกลดต่ำ อาการที่เห็นได้ชัดเจนคือ ผิวหนังอักเสบ เป็นตุ่มสิวหัวดํา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณใบหน้าเรียกโรคผิวหนังนี้ว่า “Chloracne” ผิวหนังมีสีเข้มขึ้นและสีของเล็บจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล เยื่อบุตาอักเสบ ไดออกซินเป็นสารก่อมะเร็งที่สามารถเกิดขึ้นได้กับอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะตับ อีกทั้งยังทําให้ภูมิคุ้มกันบกพร่องและทําให้เกิดความผิดปกติของฮอร์โมนเพศ เช่น การสืบพันธุ์โดยสารไดออกซินมีผลทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในกระแสเลือด ขึ้นอยู่กับชนิดของสัตว์ทดลองและปริมาณของสาร ซึ่งความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ของเพศผู้และเพศเมียมีดังนี้คือในเพศเมียจะมีการผสมพันธุ์แล้วไม่สามารถตั้งท้องได้จนครบกําหนดจํานวนลูกต่อครอกลดลง การทํางานของรังไข่ผิดปกติหรือไม่ทํางาน วงจรการเป็นสัตว์ (การผสมพันธุ์) ผิดปกติ และมีเนื้อเยื่อบุมดลูกเจริญเติบโตภายนอกมดลูก  ส่วนในเพศผู้พบว่า ไดออกซินทําให้น้ำหนักของอัณฑะและอวัยวะอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการสืบพันธุ์ลดลง อัณฑะมีรูปร่างผิดปกติ การสร้างเชื้ออสุจิลดลง ทําให้ความสําเร็จของการผสมพันธุ์ลดลง มีความไวต่อสารไดออกซินต่างกัน เช่น ลิงและหนู จะมีความไวต่อสารในระดับต่ำสุดที่ 1 ไมโครกรัม/กิโลกรัมน้ำหนักตัว/วัน และรับสารต่อเนื่องกันนาน 13 สัปดาห์ มีผลทําให้การสร้างอสุจิลดลง
  • พิษเรื้อรังไดออกซิน/ ฟิวแรน จะทําให้น้ำหนักตัวลดลงและเกิดความผิดปกติที่ตับ ทําให้เซลล์ตับตาย และเกิดอาการโรคผิวหนังอักเสบ นอกจากนี้ยังพบว่าไดออกซินและฟูรานเป็นสารก่อมะเร็ง จากการทดลองในหนูพบว่าสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์จะมีผลก็ต่อเมื่อได้รับในปริมาณ 10 นาโนกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมเท่านั้น และยังพบว่าสารเหล่านี้ทำให้เกิดเนื้องอกในอวัยวะต่างๆได้เช่น ลิ้นกั้นช่องจมูก เพดานปาก ต่อมไทรอยด์ ต่อมหมวกไต ชั้นใต้ผิวหนังและปอดนอกจากนี้ยังมีพิษต่อระบบประสาทอีกด้วย ทำให้เกิดอาการทางเส้นประสาท ปลายเท้า ปลายมืออ่อนเพลียเป็นต้น