พลาสติกมีประโยชน์ถ้าใช้ได้นาน พลาสติกมีโทษถ้าไม่นำไปใช้ใหม่
วัสดุต้นกำเนิดของพลาสติก มาจากผลิตภัณฑ์ปิโตเลียมหรือก๊าชธรรมชาติ ซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด ในขั้นตอนการนำวัสดุต้นกำเนิดเหล่านี้ออกมาจากแหล่งธรรมชาติรวมทั้งการกลั่น การรั่วไหลจากการขนส่งบนเส้นทางทั้งทางบกและทางน้ำ ได้ทำให้เกิดมลพิษในสิ่งแวดล้อมอย่างมากและโดยส่วนมากที่พูดถึงพลาสติกยังไม่ได้รวมเข้าไปในผลกระทบจากการนำผลิตภัณฑ์พลาสติกมาใช้ ซึ่งถ้าจะพิจารณาโดยรวมทั้งหมดแล้ว
การผลิตและการใช้พลาสติกได้ทำให้เกิดมลพิษอย่างมาก ในขั้นตอนการผลิตพลาสติกเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด เป็นต้นเหตุของการปล่อยมลพิษที่สำคัญ ที่เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็ง สารพิษต่อระบบประสาท และการแปรปรวนของฮอร์โมนในคนและสัตว์
มลพิษที่เกิดจากการแปรรูปเม็ดพลาสติกเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติก ได้รั่วไหลและปนเปื้อนในระบบนิเวศ ทางน้ำ ดิน และอากาศ ที่พบได้มาก ได้แก่ สารประกอบไวนิลคลอไรด์ หรือ PVC สารไดออกซิน (ที่อยู่ใน PVC) เบนซิน (ที่อยู่ในโพลีสไตรีน) พาเลท (ที่อยู่ใน PVC) ฟอร์มาลดีไฮด์และบีสฟินอลเอ หรือ BPA (ที่อยู่ในโพลี-คาร์โบเนท)
ในขั้นตอนของการใช้พลาสติก เป็นที่ทราบและยอมรับในความคงทนอายุการใช้งานและประสิทธิภาพของการใช้งานเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ถึงแม้ในระหว่างการใช้ประโยชน์อาจจะปล่อยก๊าชพิษออกมา เช่น สเปรย์โฟม หรือ กลิ่นของ PVC ขณะใช้งาน รวมทั้งการสมดุลขณะติดตั้งที่อาจจะเกิดฝุ่นผงจากการตัด ฝน หรือขัดถู ซึ่งผู้ติดตั้งส่วนใหญ่ก็เพิ่มความระมัดระวัง รวมทั้งการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์พลาสติกในสถานที่เก็บอาจจะมีกลิ่นพลาสติกที่ทำให้มีความยากลำบากในการระมัดระวังการหายใจขณะปฏิบัติงาน
ในขั้นตอนการกำจัดผลิตภัณฑ์พลาสติกภายหลังการใช้ประโยชน์ เป็นขั้นตอนที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศมากที่สุด ซึ่งคุณสมบัติที่เป็นที่ต้องการในการนำพลาสติกมาใช้ในชีวิตประจำวัน คือ ความคงทน และย่อยสลายยาก คุณสมบัตินี้ได้กลายเป็นปัญหาในขั้นตอนการกำจัดผลิตภัณฑ์พลาสติก เนื่องจากความย่อยสลายได้ยาก สิ่งมีชีวิตในธรรมชาติมีความยากลำบากในการย่อยและทำให้พลาสติกที่เป็นสารสังเคราะห์แตกตัวให้มีขนาดเล็กลง เพียงส่วนน้อยของพลาสติกที่ผลิตขึ้นมาใช้ถูกนำกลับไปขึ้นรูปใช้ใหม่ (น้อยกว่าร้อยละ 10) ที่เหลือถูกส่งไปฝังกลบ (ซึ่งจะถูกฝังลืมเป็นแสนปีโดยไม่ย่อยสลาย) หรือถูกส่งไปเผา (ซึ่งสารประกอบที่เป็นพิษจะถูกพ่นออกไปในชั้นบรรยากาศ) และตกค้างสะสมในระบบนิเวศโดยรอบบริเวณที่มีการเผาอีกยาวนาน
ด้วยเพราะพลาสติกมีความหนาแน่นต่ำ ทำให้พลาสติกเดินทางไปตามการไหลของมวลน้ำ ดิน และอากาศ ลงสู่ที่ต่ำจากพื้นที่ฝังกลบและที่พักรวมมูลฝอย ในช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมานักชีววิทยาและนักวิจัยทางทะเลได้พบว่า มูลฝอยพลาสติกในทะเลมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น
ในปี 1997 กัปตันเดินเรือชื่อชาร์ล มัวร์ ได้พบมูลฝอยพลาสติกในทะเลมีเนื้อที่กว้างใหญ่เท่ากับรัฐเท็กซัสทางตอนเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก ไหลวนเป็นวงกลมตามการไหลของกระแสน้ำในมหาสมุทรเรียกว่า ไกร์ (Gyre)
ในปี 2005 พื้นที่ของมูลฝอยพลาสติกที่ล่องลอยในทะเลได้ขยายเพิ่มขึ้นเป็น 26 ล้านตารางกิโลเมตร หรือมีขนาดเทียบเท่าทวีปอาฟริกา ร้อยละ 90 ของมูลฝอยที่พบล่องลอยอยู่นี้เป็นพลาสติกและร้อยละ 80 เป็นขยะมูลฝอยจากบนฝั่ง เช่น ของเสียจากการก่อสร้าง กัปตันชาร์ล มัวร์ ได้ค้นพบว่ามูลฝอยพลาสติกเดินทางจากบนฝั่ง ลงทะเลและรวมกันปลายทางที่ใด ในการสุ่มสำรวจมูลฝอยที่ลอยปริมาณ 3 ล้านตัน โครงการสิ่งแวดล้อมสหประชาชาติรายงานว่าร้อยละ 70 ของมูลฝอยในทะเลเหล่านี้จมลงใต้ผิวน้ำ ซึ่งเชื่อว่ามีปริมาณมากถึง 100 ล้านตัน (เฉพาะทางตอนเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก) และมีการพัดพาเข้าสมทบมากขึ้นทุกวัน มีมูลฝอยพลาสติกลอยน้ำที่เรียกว่า ไกร์ (Gyre) รวมทั้งหมด 6 แห่ง ในทุกมหาสมุทรรวมกัน
ผลเสียที่อันตรายของมูลฝอยพลาสติกในทะเลต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำมีมากมายและเพิ่มขึ้นด้วยอัตราเร่ง นอกจากจะทำให้สิ่งมีชีวิตในน้ำหายใจได้ยากลำบาก ขาดอากาศหายใจ การปิดกั้นทางเดินอาหารและระบบย่อยอาหาร พลาสติกชิ้นโตที่นกกลืนกินเข้าไปเป็นต้นเหตุให้นกจำนวนมากที่มีบทบาทและความสำคัญของระบบนิเวศในทะเลต้องตาย ปลา และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีกมากต้องตายเพราะพลาสติกชิ้นโตที่ลอยวนอยู่ในมหาสมุทรทุกแห่ง พลาสติกขนาดเล็กถูกกลืนกินโดยสัตว์น้ำ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและนกด้วย เป็นการสะสมในบ่วงโซ่อาหารของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ และมนุษย์ที่บริโภคสัตว์ที่มีพลาสติกขนาดต่างๆในตัว
พลาสติกประเภท PVC ที่เมื่อถูกเผาจะปล่อยสารพิษเรียกว่า ไดออกซิน (Dioxins) ออกมาซึ่งเป็นสารพิษที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์มากที่สุด ได้ถูกนำมาใช้เป็นวัสดุก่อสร้างเป็นอย่างมากจะถูกนำมาทิ้งเมื่อมีการตัดเศษ หรือเปลี่ยนเมื่อสีเปลี่ยน รวมทั้งที่ชำรุดเมื่อหมดอายุใช้งาน เศษเหลือของผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ถูกทิ้งจากกิจกรรมการใช้ประโยชน์บนฝั่ง จะก่อให้เกิดผลเสียอย่างรุนแรงต่อสุขภาพ เช่น มะเร็ง การเสียสมดุลของการทำงานของฮอร์โมน สมองเสื่อม ความผิดปกติของทารกเมื่อเกิด ความผิดปกติของพัฒนาการของเด็กการเสื่อมของระบบสืบพันธุ์ และภูมิคุ้มกัน หอบหืด และการเสื่อมของอวัยวะอื่นๆในร่างกาย
ทางเลือกในการใช้พลาสติก
- เลือกใช้ฟางหรือใยพืช เป็นฉนวนผนัง และหลังคา และเลือกใช้แผ่นเส้นใยแร่ที่ผนังชั้นใต้ดินแทนการใช้โฟมพลาสติก
- ใช้ไม้ หรือแผ่นซีเมนต์เป็นผนังภายนอกอาคาร แทนการใช้พลาสติกประเภท PVC
- ใช้ดิน ปูนขาว หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ในการตกแต่งผิวอาคารแทนการใช้สีพลาสติก
- ใช้ท่อน้ำที่ทำด้วยพลาสติกชนิด Polyethylene หรือ ABS หรือ Metallocene polyolefin
(พลาสติกชนิดใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นแทนการใช้ท่อ PVC) - ใช้วงกบช่องลม ช่องแสง และหน้าต่างไฟเบอร์กลาสแทนวงกบ PVC
- ใช้สายไฟที่หุ้มฉนวนทำจาก Polyethylene แทนฉนวนที่ทำจาก PVC
- สารประกอบไบโอพลาสติก ได้รับการพัฒนามากขึ้นอย่างรวดเร็ว
- ผลิตภัณฑ์ทางเลือกหลายชนิดไม่ได้เป็นผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียมสนับสนุนการผลิตทางการเกษตร และย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ
- เลือกใช้ปิ่นโตแทนกล่องและถุงบรรจุอาหารที่ใช้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้งเลย
- เลือกใช้กล่องบรรจุอาหารที่ทำจากพืชแทนกล่องและถุงพลาสติกที่ย่อยสลายยาก
- เลือกใช้หลอดไม้ไผ่และหลอดที่ทำจากพืชแทนการใช้หลอดพลาสติก
- เลือกใช้หลอดแสตนเลส พกพาติดตัวแทนการใช้หลอดพลาสติก
- เลือกพกพากระบอกน้ำสแตนเลส แทนการรับถ้วยพลาสติกจากร้านค้าและแทนการซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้ง
- เลือกพกพาช้อน-ส้อม-ตะเกียบ-มีด แสตนเลส แทนการใช้พลาสติกจากร้านอาหาร
- เลือกใช้ม่านห้องอาบน้ำจากเส้นใยธรรมชาติแทนการใช้ม่าน PVC
- เลือกใช้ผ้าที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติแทนการใช้เส้นใยสังเคราะห์ที่ทำจากพลาสติกที่มาจากผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม รวมทั้งผ้าขนหนู ผ้าปูโต๊ะ ผ้าปูเตียง ผ้าม่านหน้าต่าง ฯลฯ
- เลือกใช้วัสดุพื้นผิวที่ทำจากวัสดุธรรมชาติแทนการใช้เส้นใยสังเคราะห์จากผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เช่น พื้นห้องไม้ กระเบื้อง ไม้ไผ่ แทนการใช้กระเบื้องยาง พรม และพื้นสังเคราะห์ลามิเนทที่ทำจาก PVC
- เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ในห้องน้ำ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแทนการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติก เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ใช้บรรจุภัณฑ์น้อยหรือใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากธรรมชาติ รวมทั้งการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและถนอมผิวที่เป็นมิตรต่องสิ่งแวดล้อมแทนการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากปิโตรเลียม
- เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เติมได้เมื่อใช้หมด เพื่อลดมูลฝอยบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก เช่น ปากกา แปรงสีฟัน น้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า
- หลีกเลี่ยงน้ำยาซักผ้าในบรรจุภัณฑ์พลาสติก ใช้ผงซักฟอกบรรจุกล่องกระดาษแทน หรือทำผงซักฟอกใช้เอง
- หลีกเลี่ยงและลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกทุกชนิด บรรจุอาหารในครัว เพื่อลดการปนเปื้อนสารพลาสติกในอาหาร เลือกใช้บรรจุภัณฑ์เซรามิก แก้ว หรือแสตนเลส
- ติดตั้งเครื่องกรองน้ำดื่มที่บ้าน เพื่อลดความจำเป็นในการใช้น้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติกจากร้านค้า
- หลีกเลี่ยงการห่อหุ้มอาหารด้วยพลาสติกม้วน ที่นำกลับไปใช้ใหม่ได้ยากและอาจผลิตจากพลาสติกชนิด PVC ที่เป็นสารก่อมะเร็ง เลือกใช้บรรจุภัณฑ์เซรามิก แก้ว และแสตนเลส ฝาพาสติกที่มากับบรรจุภัณฑ์เหล่านี้จะไม่ทำให้เกิดสารพิษในอาหาร ถ้าไม่สัมผัสอาหารโดยตรง
- หลีกเลี่ยงอาหารในร้านค้าที่ห่อหุ้มหรือมาพร้อมบรรจุภัณฑ์พลาสติกเพื่อลดมูลฝอยพลาสติก
- พกพาถุงผ้าทุกครั้งที่ออกไปจ่ายตลาด เพื่อรองรับอาหารและสินค้าแทนการใช้ถุงพลาสติก
บทความโดย อ.ธนวันต์ สินธุนาวา นายกสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม